‘นาแห้ว’ เมืองพุทธ สุดสวย

‘นาแห้ว’ เมืองพุทธ สุดสวย

เวลาพูดถึงจังหวัดเลย สิ่งแรกที่คิดถึงคือ “เชียงคาน” กระทั่งวันก่อนมีโอกาสไปอำเภอนาแห้ว ทำให้ทราบว่าเมืองเลยมีสถานที่ที่สวยงามอีกหลายแห่ง

ทั้งยังเป็นจังหวัดที่ อพท.มีโครงการจะพัฒนาให้เป็นเมืองแฝด ‘เลย-ภูฎาน’ โดยชูอัตลักษณ์ด้านพุทธศาสนา และกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ และใช้ความสุขเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จ

เมื่อเร็วๆ นี้ ดร.ชูวิทย์ มิตรชอบ รองผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท.ได้นำ ฯพณฯ นายเชวัง โชเพล ดอร์จิ เอกอัครราชทูตภูฏาน ประจำประเทศไทย และคณะ เยี่ยมชมพื้นที่และรับฟังการบรรยายสรุปบทบาทภารกิจของ อพท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนนำไปสู่การลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกัน (MOU) ระหว่างประเทศไทย โดย อพท. กับสภาการท่องเที่ยวแห่งภูฏาน (Tourism Council of Bhutan หรือ TCB) ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 19 มกราคม 2561

อพท.มีจุดแข็งคือเป็นองค์กรที่มีองค์ความรู้ด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืน ซึ่งภูฎานให้ความสนใจในเรื่องนี้ เพราะจะเป็นประโยชน์กับการท่องเที่ยวของราชอาณาจักรภูฏานที่กำลังเติบโต และเผชิญความท้าทายด้านต่างๆ

ในส่วนของจังหวัดเลย มีสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติและวิถีชีวิตของชุมชนท้องถิ่น คล้ายคลึงกับราชอาณาจักรภูฏาน โดยเฉพาะอำเภอนาแห้ว ชุมชนท้องถิ่นมีความเคร่งครัดในพุทธศาสนา มีการถือศีล ไม่รับประทานเนื้อสัตว์ในช่วงวันโกนและวันพระ เช่นเดียวกับที่ปฏิบัติกันโดยทั่วไปในราชอาณาจักรภูฏาน จุดแข็งนี้ อพท. จะนำมาพัฒนาอำเภอนาแห้ว ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวด้านพุทธศาสนา และแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติต่อไป

อำเภอนาแห้ว อยู่ห่างจากจังหวัดเลย 115 กม.เป็นที่รู้จักในนามชุมชนพระพุทธศาสนา หนึ่งในไฮไลท์ของที่นี่คือ วัดศรีโพธิ์ชัย บ้านแสงภา ตำบลแสงภา วัดเก่าแก่อายุกว่า 400 ปี มีสถาปัตยกรรมคล้ายกับวัดเชียงของ เมืองหลวงพระบาง ประเทศลาว ในช่วงสงกรานต์ ระหว่างวันที่ 13-16 เมษายน ของทุกปี วัดแห่งนี้จะมี ประเพณีแห่ต้นดอกไม้ ซึ่งชาวบ้านปฏิบัติสืบต่อกันมากว่า 400 ปี โดยเริ่มแห่วันที่ 14 เมษายน และวันพระขึ้น 8 ค่ำ และ 15 ค่ำ ตลอดเดือนห้า ตามปฏิทินจันทรคติของไทย

งานบุญเริ่มจากในวันที่ 14 เมษายน ชาวบ้านแต่ละคุ้มจะตื่นแต่เช้า เพื่อออกไปหาไม้ไผ่ขนาดใหญ่นำมาจัดเป็นโครง และจัดหาดอกไม้ตามฤดูกาลมาประกอบและตกแต่งบนโครงไม้ไผ่ เมื่อเสร็จแล้วก็แห่ไปยังวัดศรีโพธิ์ชัย ซึ่งใช้คนหาม 4-10 คน ขบวนแห่เดินทักษิณาวรรตรอบพระอุโบสถ 3 รอบ เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา และสังฆบูชา ในขบวนมีคณะดนตรีซึ่งตีกลอง ฆ้อง ฉิ่งฉาบ แคนพิณ และนางรำ

ส่วน พระธาตุดินแทน เป็นศาสนสถานอายุกว่า 200 ปี ที่ชาวตำบลแสงภาเคารพนับถือ ตามความเชื่อที่ได้มีการปฏิบัติสืบต่อกันมา เวลาแก้บนหรือสักการะจะขนดินขึ้นไปเทบนพระธาตุ หรือใช้ร่ม น้ำมัน หรือต้นผึ้งซึ่งทำจากหน่อของต้นกล้วย และประดับด้วยแผ่นขี้ผึ้งหรือเทียนไขที่หลอมเป็นแผ่นบางๆ 

แหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ก็มีพระธาตุศรีสองรัก และวัดโพนชัย (ภายในวัดมีพิพิธภัณฑ์ผีตาโขน) อำเภอด่านซ้าย ปิดท้ายด้วยการไหว้พระที่วัดป่าห้วยลาด และวัดสมเด็จภูเรือมิ่งเมือง ทั้งสองแห่งอยู่ในอำเภอภูเรือ

พระธาตุศรีสองรัก ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำหมัน สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2103 ในสมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช เพื่อเป็นสักขีพยานในการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ระหว่างกรุงศรีอยุธยา (สมัยพระมหาจักรพรรดิ) และกรุงศรีสัตนาคนหุต (ปัจจุบันคือเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว) ช่วงนั้นพม่าเรืองอำนาจและรุกรานดินแดนต่างๆ กษัตริย์ทั้งสองพระองค์จึงทรงกระทำสัตยาธิษฐานว่า จะไม่ล่วงล้ำดินแดนของกันและกัน

วัดป่าห้วยลาด สร้างขึ้นเพื่อถวายพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี และทรงเจริญพรรษาครบ 80 พรรษาในปี 2550

วัดสมเด็จภูเรือมิ่งเมือง เป็นวัดที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีได้ทรงพระราชทานเงินซื้อที่ดินสร้างวัด บนยอดเขาประดิษฐานองค์พระพุทธรูป พระพุทธเจ้าไภสัชยาคุรุไวฑูรยประภาจอมแพทย์ (พระกริ่งปวเรศ)

ในการเยี่ยมชมจังหวัดเลยครั้งนี้ ฯพณฯ นายเชวัง โชเพล ดอร์จิ เอกอัครราชทูตภูฏาน ประจำประเทศไทย กล่าวว่า "รู้สึกประทับใจที่คนจังหวัดเลยสามารถรักษาวัฒนธรรมและประเพณีได้เป็นอย่างดี ทำให้มีชีวิตขึ้นมา และจากการนำเสนอข้อมูลของผู้ว่าราชการจังหวัด เห็นว่าเมืองเลยเป็นเมืองที่น่าเที่ยว และต้องเติมคำว่าน่ารักลงไปด้วย อยากให้นักศึกษาภูฎานที่มาศึกษาในประเทศไทยได้มาเยี่ยมชม เพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์ด้วยตนเอง รวมทั้งแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับชาวเลย ทั้งสองประเทศสามารถเรียนรู้จากกันและกัน และขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กันได้"