รวม 10 ข่าวเด่นส่งท้ายปีระกา 2560

รวม 10 ข่าวเด่นส่งท้ายปีระกา 2560

รวม 10 ข่าวเด่นส่งท้ายปีระกา 2560

ปี 2560 ถือเป็นปีที่เกิดเหตุการณ์สำคัญมากมาย ที่ส่งผลต่อความเป็นไปของผู้คนในสังคมและส่งผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศ ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงในมิติต่างๆ กรุงเทพธุรกิจได้คัดกรองและรวบรวมเหตุการณ์เด่นๆในรอบปี 10 เหตุการณ์มานำเสนอ

1.ปรากฏการณ์ก้าวคนละก้าว "ตูน บอดี้แสลม"

ปีนี้เป็นปีที่ประเทศไทยถูกครอบงำด้วยความเศร้ามากที่สุด แต่ปลายปี มีเหตุการณ์ที่สร้างความหวังและกำลังใจให้แก่คนไทย กับโครงการ “ก้าว” ซึ่งต่อยอดจาก “ก้าวคนละก้าว” เมื่อปีที่แล้ว วิ่ง 400 กิโลเมตรจากบางสะพานถึงกรุงเทพฯ เพื่อโรงพยาบาลบางสะพาน ปีนี้ตูน บอดี้แสลม – อาทิวราห์ คงมาลัย และทีมงานสร้างตำนานการวิ่ง 2,191 กิโลเมตร จากเบตงถึงแม่สาย ใต้สุดถึงเหนือสุดของประเทศไทย เพื่อ 11 โรงพยาบาล

การวิ่ง 55 วันกลายเป็นปรากฏการณ์ที่ต้องติดตาม ท่ามกลางเสียงสนับสนุน ก็มีเสียงวิพากษ์ว่าการวิ่งของตูนสะท้อนถึงความบกพร่องของระบบสวัสดิการและสาธารณสุขของประเทศไทย ทำให้เกิดการถกเถียง ตระหนักรู้ คู่กับการระดมความช่วยเหลือจากทั่วประเทศ จนยอดบริจาคทะลุพันล้านบาทตั้งแต่วันที่ 24 ธ.ค. 2560 และเกิน 1.1 พันล้านบาทในวันสุดท้ายของโครงการ (ซึ่งยังร่วมบริจาคได้จนถึง 31 พ.ค. 2561) นาทีเข้าเส้นชัยเมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2560 ทั้งประเทศพุ่งความสนใจมาที่ “ก้าว” สุดท้ายของ ตูน บอดี้แสลม ณ.ป้ายเหนือสุดยอดแดนสยาม สื่อทุกสำนักยกย่องให้เขาเป็นบุคคลแห่งปี ที่แสดงให้รู้ว่าพลังของคนคนหนึ่งและทีมงาน สามารถสร้างปรากฏการณ์เชิงบวกให้แก่สังคมได้ในวงกว้าง​​ขนาดไหน

2. "บิทคอยน์" เงินน้องใหม่สุดฮ็อต

เงินน้องใหม่ ที่มาแรงในปี 2560 คงหนีไม่พ้น “เงินดิจิทัล” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “บิทคอยน์” ที่กลายมาเป็นหัวข้อให้คนพูดถึงกันภายในเวลาชั่วข้ามคืน จากการทะยานขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งในช่วงปลายปีนี้ได้ทำสถิใหม่เฉียด 20,000 ดอลลาร์ต่อ 1 บิทคอยน์ จากในช่วงต้นปีที่มีราคาไม่ถึง 1,000 ดอลลาร์ทำให้เกิดการเข้าลงทุนเป็นจำนวนมาก แม้ธนาคารกลางทั่วโลก จะพากันออกมาเตือนว่า มีความเสี่ยงสูง เพราะไม่มีสถาบันการเงิน หรือสินทรัพย์ใดหนุนหลัง และอาจเกิดภาวะฟองสบู่ได้ จากการเคลื่อนไหวของราคาที่ผันผวนอย่างมาก ซึ่งเหล่าผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า เป็นผลมาจากการเก็งกำไร

ปัจจุบัน บิทคอยน์สามารถใช้ซื้อสินค้าและบริการได้ แต่จำนวนร้านค้าที่รับบิทคอยน์นั้นยังนับว่าน้อยกว่าสกุลเงินปกติมากนอกจากจับต้องไม่ได้แล้ว บิทคอยน์ยังไม่ได้เป็นของสถาบันการเงินใด ๆ แต่ถูกดูแลโดยเครือข่ายระบบคอมพิวเตอร์ทั่วโลก ที่ช่วยกันจดบันทึกการทำรายการของทั้งระบบพร้อม ๆ กันทุกครั้งที่มีการทำรายการ จึงทำให้การแก้ไขปลอมแปลงนั้นเกิดขึ้นได้ยากมาก

3.หุ้นทะลุ1,700 จุดครั้งแรกรอบ 24 ปี

ตลาดหุ้นไทยปี 2560 บรรยากาศเริ่มกลับมาคึกคักในครึ่งปีหลัง สอดรับกับปัจจัยบวกทั้งในและต่างประเทศโดยดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นทะลุระดับ 1,700 จุด ซึ่งเป็นระดับสูงสุดของในรอบ 24 ปี และในสิ้นปี ปิดการซื้อขายที่ระดับ 1,753.71จุด เพิ่มขึ้นจากระดับดัชนีเมื่อต้นปี 13.66%

ปัจจัยหนุนจากในประเทศเริ่มต้นจากความชัดเจนด้านการลงทุนภาครัฐ ที่เริ่มมีการขับเคลื่อนโครงการลงทุนต่างๆ ที่เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ทำให้การลงทุนของภาคเอกชนฟื้นตัวตามมา ขณะเดียวกัน การประกาศเดินหน้าจัดการเลือกตั้งในปลายปี 2561 ก็เป็นอีกปัจจัยที่เรียกความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนในประเทศและต่างประเทศ

การซื้อขายของนักลงทุนแต่ละประเภทในปี 2560 พบว่า สถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 1.03 แสนล้านบาท, บัญชีบริษัทหลักทรัพย์ 1.6 หมื่นล้านบาท , นักลงทุนต่างประเทศ ขายสุทธิ 2.5 หมื่นล้านบาท และนักลงทุนทั่วไปในประเทศ ขายสุทธิ 9.4 หมื่่นล้านบาท

นอกจากนี้ ในปี 2560 มี IPO เข้าระดมทุนรวม 42 บริษัท เพิ่มมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) 4.2 แสนล้านบาทซึ่งเป็นการทำสถิติสูงสุดใหม่ตั้งแต่ก่อตั้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ในรอบ 42 ปี จากปกติแต่ละปีจะมี IPO เข้าเทรด 30-40 บริษัท และมาร์เก็ตแคปเคยทำสถิติสูงสุด ที่ 3.5 แสนล้านบาท

4.จำคุก 5 ปี "ยิ่งลักษณ์" คดีจำนำข้าว

วันที่ 27 ก.ย.2560 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้พิพากษาจำคุก 5ปี โดยไม่รอลงอาญานางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในความผิดฐานปล่อยปะละเลยให้มีการทุจริตจนทำให้เกิดความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าวตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา157และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต(กฎหมายป.ป.ช.)พ.ศ.2542 มาตรา 123/1

ที่มาของคดีนี้ เริ่มต้นที่ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดอดีตนายกฯพร้อมพวกและส่งสำนวนคดีให้อัยการเมื่อวันที่ 5 ส.ค. 2557 ต่อมาวันที่19ก.พ.2558 อัยการได้ยื่นฟ้องต่อศาล กระทั่งศาลได้รับฟ้องในวันที่ 19 ม.ค.2559 และมีคำพิพากษาในท้ายที่สุดผลจากคดีส่งผลให้อดีตนายกฯหญิงคนแรกของไทยขาดคุณสมบัติการลงสมัครรับเลือกตั้งตามมาตรา98(10) แห่งรัฐธรรมนูญหมดสิทธิลงเล่นการเมืองตลอดชีวิต และยังอยู่ในสถานนะผู้หลบหนีคดีโดยมาตรา60 แห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองและมาตรา74/1แห่งกฎหมายป.ป.ช.ระบุ“มิให้นับอายุความ” ระหว่างจำเลยหลบหนี

5."ไอซีเอโอ" ปลดธงแดง

"ปัญหาธงแดง" ถือเป็นเผือกร้อนอันดับต้นๆที่รัฐบาลคสช.และกระทรวงคมนาคม พยายามแก้ไขมาตลอด 2 ปีเพราะกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศในระดับสากล และยังทำให้อุตสาหกรรมการบินที่กำลังเฟื่องฟูต้องสะดุดลง

ปัญหานี้เริ่มต้นในเดือน ม.ค.2558 เมื่อองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศไทย (ICAO) เดินทางเข้ามาตรวจกรมการบินพลเรือนในขณะนั้น ภายใต้โครงการกำกับดูแลความปลอดภัยสากลอย่างต่อเนื่อง (Universal Safety Oversight Audit Program: USOAP-CMA) และพบข้อบกพร่องที่มีนัยยะสำคัญ (SSC) ต่อความปลอดภัยด้านการบินรวม 33 ข้อ โดยในวันที่18 มิ.ย. 2558 ไอซีเอโอได้ติดธงแดงหน้าชื่อประเทศไทยบนเว็บไซต์ เพื่อประกาศข้อบกพร่องอย่างเป็นทางการ

การติดธงแดงทำให้ธุรกิจการบินต้องเบรกหัวทิ่มรัฐบาลยุติการออกใบอนุญาตให้สายการบินใหม่ๆ เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นโดยส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่หมักหมมมานาน เช่น การแยกกรมการบินพลเรือนออกเป็นกรมท่าอากาศยาน ทำหน้าที่ให้บริการท่าอากาศยาน และสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ทำหน้าที่กำกับดูแล, การสังคายกฎหมายการบินที่ล้าสมัยให้สอดคล้องกับหลักสากล เป็นต้น

ด้านสายการบินสัญชาติไทยก็ถูกประเทศปลายทางบางประเทศตรวจสอบเข้มข้นเช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย ก็ไม่สามารถเพิ่มความถี่ จุดบิน หรือเปลี่ยนแบบเครื่องบินได้ เท่ากับเป็นการแช่แข็งผู้ประกอบการโดยปริยาย

รัฐบาลและกระทรวงคมนาคมจึงพยายามแก้ไขข้อบกพร่องที่เกิดขึ้นเป็นระยะเวลากว่า 2 ปี และได้เชิญไอซีเอโอเข้ามาตรวจสอบซ้ำในวันที่ 20-27 ก.ย. 2560 ด้วยความมั่นใจว่าจะปลดธงแดงได้สำเร็จ ซึ่งในที่สุดไอซีเอโอก็ปลดธงแดงหน้าชื่อประเทศไทยอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 6 ต.ค. 2560

ส่งผลให้อุตสาหกรรมการบินของไทยได้การยอมรับเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยจากนานาชาติ และทำให้ธุรกิจการบินกลับมาคึกคักอีกครั้ง

6.ทุนจีนรุก "เมกะโปรเจค-อสังหาฯ"

ในรอบปีที่ผ่านมา หนึ่งในปรากฎการณ์ลงทุนสำคัญ คือการรุกเข้ามาของ“กลุ่มทุนจีน”ในหลากหลายธุรกิจ โดยในส่วนของธุรกิจขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจค) ทุนจีนเดินหน้าการลงทุนโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงไทย-จีนโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เฟสแรกเส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 252.3 กิโลเมตรวงเงินลงทุนสูงถึง 179,413 ล้านบาท

ล่าสุด ฝ่ายไทยถือฤกษ์ดีวันที่ 21 ธ.ค. 2560 จัดพิธีเริ่มก่อสร้างรถไฟไทย-จีน ณ มอหลักหิน ต.กลางดง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายหวัง เสี่ยวเทา รองผู้อำนวยการคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน เป็นประธานในพิธีร่วมกัน

โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้ว่าจ้างกรมทางหลวง ก่อสร้างงานโยธาช่วง 3.5 กิโลเมตรแรกเพื่อความรวดเร็ว ส่วนที่เหลืออีก 13 ช่วง ระยะทางกว่า 200 กิโลเมตรจะเปิดประมูลให้ผู้รับเหมาไทยเป็นการทั่วไปในปี 2561

นอกจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ทุนจีน ยังให้ความสนใจโครงการที่อยู่อาศัยในไทย โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมซึ่งมองโอกาสการเติบโตของอสังหาริมทรัพย์ไทย และพัฒนาโครงการเพื่อรองรับคนจีนด้วยกันเอง ทั้งจากกลุ่มที่เข้ามาอยู่อาศัยในไทยและนักท่องเที่ยว ที่คาดการณ์ว่ามีจำนวนถึง 12 ล้านคนในปีนี้

กลุ่มทุนจากจีน เริ่มเข้ามาลงทุนอสังหาฯ อย่างชัดเจนในช่วง 3 ปีที่ผ่านระหว่างปี 2558-2560 รวมมูลค่าอยู่ที่7 หมื่นล้านบาทเน้นโปรเจคขนาดใหญ่ ขณะที่ปี 2561 ยังมีการลงทุนอสังหาฯ จากกลุ่มทุนจีนต่อเนื่อง ที่ประกาศเปิดตัวไปแล้ว คือ โครงการทรัสต์ ซิตี้ ทำเล บางนา-ตราด กม.29 พื้นที่ 500 ไร่ ของบริษัท ไฮดู กรุ๊ป (Hydoo Group) โปรเจคลงทุนเมืองส่งเสริมการค้าและศูนย์แสดงสินค้าครบวงจร มูลค่าลงทุน 1 แสนล้านบาท เปิดตัวปี2560 คาดแล้วเสร็จ 2563

ทุนจีนยังมีแนวโน้มลงทุนที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า คาดว่าเงินลงทุนเฉลี่ยปีละ4-5 หมื่นล้านบาท

7.เศรษฐกิจฟื้นสวนทางความรู้สึกคน

เศรษฐกิจไทยปี 2560 ถือเป็นปีแรกที่ขยายตัวขึ้นอย่างชัดเจน โดยช่วงต้นปีประเมินกันว่าเศรษฐกิจไทยในปีดังกล่าวอาจขยายตัวได้เพียง 3.0-3.2% แต่จากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง ทำให้ภาคการส่งออกของไทยกลับมาขยายตัวร้อนแรงอีกครั้ง จนทำสถิติสูงสุดใหม่ในรอบ 4 ปีครึ่ง ประกอบกับการท่องเที่ยวที่ขยายตัวในระดับที่ดีต่อเนื่อง จึงทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2560 ขยายตัวได้มากกว่าที่เคยคาดการณ์กันไว้ ประเมินกันว่าตัวเลขเศรษฐกิจทั้งปีในปี 2560 อาจขยายตัวได้ถึง 4%

อย่างไรก็ตาม แม้เศรษฐกิจไทยในปี 2560 จะเติบโตดีเกินคาด แต่คนส่วนใหญ่กลับไม่รู้สึกว่าฐานะการเงินของตัวเองดีขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะการเติบโตของเศรษฐกิจยังกระจุกอยู่แค่การส่งออกและการท่องเที่ยว ยังไม่ส่งผ่านไปยังภาคการผลิตและการลงทุนอย่างเต็มที่ ทำให้การจ้างงานทรงตัว ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรที่กลับมาหดตัวอีกครั้ง ทำให้รายได้ภาคเกษตรโดยรวมลดลง ซึ่งคนกลุ่มนี้ถือเป็นกลุ่มใหญ่ของประเทศ จึงทำให้ความรู้สึกของคนส่วนใหญ่ไม่รู้สึกว่าเศรษฐกิจดีขึ้น สวนทางกับตัวเลขที่ขยายตัวดี

8."อนันต์ อัศวโภคิน" เจอข้อหาฟอกเงิน

กลายเป็นข่าวใหญ่ของแวดวงการเงิน เมื่อ “อนันต์ อัศวโภคิน” ประธานกรรมการ แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป จำกัด(มหาชน) และประธานกรรมการ ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ แอลเอชแบงก์ ถูกกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ออกหมายเรียกไปรับทราบข้อกล่าวหาในฐานความผิดร่วมกันและสบคบกันฟอกเงินสหกรณ์ยูเนี่ยนคลองจั่น เมื่อต้นเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นคดีที่เกี่ยวโยงกับวัดพระธรรมกาย

การถูกตั้งข้อกล่าวหาดังกล่าว ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสมในการดำรงตำแหน่งผู้บริหารของธนาคารแลนด์แอนด์เฮ้าส์ ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)มีข้อกำหนดชัดเจนว่า กรรมการ และผู้บริหารระดับสูงของสถาบันการเงิน จะต้องไม่ถูกหน่วยงานรัฐกล่าวโทษ ร้องทุกข์ หรือดำเนินคดีในความผิดฐานทุจริต เช่นเดียวกับที่ทางสำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มีหลักเกณฑ์กำหนดเรื่องคุณสมบัติต้องห้ามของกรรมการบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในเรื่องนี้เช่นเดียวกัน

จากกรณีดังกล่าว ส่งผลให้ อนันต์ ต้องลาออกจากประธาน และกรรมการในบริษัทจดทะเบียนทั้งหมด ประกอบด้วย บริษัทแอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ บริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ บริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ และควอลิตี้เฮ้าส์

9."พร้อมเพย์-คิวอาร์โค้ด" เส้นทางสู่สังคมไร้เงินสด

รัฐบาลเดินหน้านโยบายเนชั่นแนลอีเพย์เมนท์ มีเป้าหมายลดการใช้เงินสดในการจับจ่ายใช้สอย เพื่อนำไปสู่สังคมไร้เงินสด หรือ Cashless society ในอนาคต เริ่มตั้งแต่การปูพรมติดตั้งเครื่องรูดบัตรอิเล็กทรอนิกส์ในร้านค้าและหน่วยงานราชการให้ได้ 5.6 แสนเครื่องทั่วประเทศภายในมี.ค.2561พร้อมจัดโปรโมชั่นแจกเงินล้านทุกเดือนให้กับประชาชนและร้านค้าที่รับและจ่ายเงินด้วยบัตรเดบิต จะมีต่อเนื่องไปถึงเดือนพ.ค.2561

หลังจากนั้น เริ่มเปิดใช้การโอนเงินผ่านระบบพร้อมเพย์ โดยให้ผูกบัญชีธนาคารกับเลขบัตรประชาชน และหมายเลขโทรศัพท์มือถือ ฟรีค่าธรรมเนียมในการโอนเงินทุกรายการที่ต่ำกว่า 5 พันบาท ไม่ว่าจะโอนเงินต่างธนาคาร หรือโอนข้ามเขต หากเกิน 5 พันบาทก็คิดค่าธรรมเนียมตั้งแต่ 2-10 บาท จากปกติที่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมการโอนข้ามเขต 25-35 บาท ซึ่งยอดการลงทะเบียนและใช้บริการพร้อมเพย์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากวันแรกคือ 27 ม.ค.2560 จนล่าสุดมียอดลงทะเบียนกว่า 35 ล้านบัญชี ยอดการโอนเงินสะสมกว่า 2 แสนล้านบาท

ล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ได้ร่วมกับสถาบันการเงินและผู้ให้บริการชำระเงิน จัดทำคิวอาร์โค้ดมาตรฐานสำหรับประเทศไทย พร้อมเปิดให้ธนาคาร 8 แห่งทดลองใช้คิวอาร์โค้ดในการชำระสินค้าและบริการในแซนด์บ็อกซ์ เพื่อทดสอบจนมั่นใจในระบบแล้ว ก็อนุมัติให้ทั้ง 8 แห่งออกจากแซนด์บ็อกซ์และเปิดให้บริการได้ทั่วประเทศ ในช่วงนี้จึงได้เห็นธนาคารต่างๆอัดโปรโมชั่นให้ร้านค้าและลูกค้าธนาคารใช้คิวอาร์โค้ดใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่การนั่งวินมอร์เตอร์ไซด์ ไปจนถึงการใช้จ่ายในห้างสรรพสินค้าชั้นนำ

10.ต่างชาติเที่ยวไทย 35 ล้านคน

ปี 2560 เป็นปีที่ไทยยังพึ่งพิงรายได้จากการท่องเที่ยวมาช่วยหมุนเวียนระบบเศรษฐกิจต่อเนื่อง โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาคาดการณ์รายได้“เข้าเป้า”ที่ตั้งไว้คือ 2.76 ล้านล้านบาท เติบโต 9.89% แบ่งเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ35.38 ล้านคนเติบโตกว่า 8.77% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และสร้างรายได้รวมกว่า 1.83 ล้านล้านบาท หรือขยายตัวถึง 12.03%

ขณะที่ตลาดในประเทศ คาดว่าจะไม่ต่ำกว่า152 ล้านคนครั้งเพิ่มขึ้นกว่า 4.39% คิดเป็นรายได้กว่า 9.3 แสนล้านบาท เติบโตกว่า 5.93% ซึ่งาตลาดในประเทศมีผลกระทบจากภาวะน้ำท่วม, ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ รวมถึงบรรยากาศที่ลดลงในเดือน ต.ค.เพื่อร่วมถวายอาลัย อีกทั้งมีตลาดทัวร์ต่างประเทศชิงกำลังซื้อไปส่วนหนึ่ง ทำให้รายได้อ่อนตัวจากการประเมินเมื่อต้นปีว่าจะสูงถึง 9.5 แสนล้านบาท

สำหรับเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในปีนี้คือ การขยับสร้างภาพลักษณ์ที่ดีในต่างประเทศ และวางนโยบายกระจายรายได้สู่ชุมชนอย่างต่อเนื่อง โดยการอนุมัติเสนอตัวเป็นเจ้าภาพโมโต จีพีที่บุรีรัมย์ เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นเวลา 3 ปี (2561-2563) รวมถึงการนำมิชลินไกด์คู่มือแนะนำร้านอาหารระดับโลกมาเปิดตัวครั้งแรกฉบับกรุงเทพฯ ในช่วงส่งท้ายปลายปี และจะร่วมมือกันตลอด 5 ปีนี้ เพื่อหวังส่งเสริมชื่อเสียงด้านท่องเที่ยวเชิงอาหาร ก่อนที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จะปูพรมคู่ขนานไปกับการจัดเทศกาลอาหารถิ่นทั่วประเทศตลอดปี 2561 เพื่อสร้างจุดเด่นให้แหล่งท่องเที่ยวตามภูมิภาคต่างๆ ที่นอกเหนือจากมิชลินไกด์ด้วย

นอกจากนั้น ในเดือน ธ.ค.ยังมีเหตุการณ์ในเชิงนโยบายส่งท้าย เมื่อมีการปรับเปลี่ยนตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจาก กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร มาเป็นวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ ซึ่งหวนกลับมานั่งตำแหน่งเดิมอีกครั้ง หลังจากเคยเป็นเจ้ากระทรวงมาเมื่อปี 2551 โดยมีภารกิจสำคัญที่ถูกมอบหมายทันทีคือ ต้องเร่งกระจายรายได้ท่องเที่ยวสู่ชุมชนให้เห็นเป็นรูปธรรม