เสียชีวิต2รายเหตุประท้วงอิหร่านบานปลาย

เสียชีวิต2รายเหตุประท้วงอิหร่านบานปลาย

การประท้วงของชาวอิหร่านต่อต้านการขึ้นราคาสินค้าของรัฐบาลในหลายเมืองทั่วประเทศ ขยายวงเป็นการประท้วงครั้งใหญ่สุดนับตั้งแต่ปี 2552 ต่อต้านประธานาธิบดี-ผู้นำศาสนา

การประท้วงในอิหร่านเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่วันพฤหัสบดี (28 ธ.ค.) ที่เมืองมาชาด เมืองใหญ่อันดับ 2 ของประเภททางภาคตะวันออกเฉียงเหนือจากนั้นในวันศุกร์ (29 ธ.ค.) ได้ขยายวงไปถึงเมืองเคอร์มันชาห์ ทางภาคตะวันตก รวมทั้งกรุงเตหะราน และอีกหลายๆ เมือง ล่าสุด มีรายงานข่าวว่า มีผู้เสียชีวิต 2 รายจากการถูกยิงในช่วงที่เกิดการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมและตำรวจปราบจลาจลในกรุงเตหะราน

ชนวนเหตุจากความไม่พอใจที่รัฐบาลขึ้นราคาสินค้าจำเป็น จากนั้นจึงยกระดับกลายเป็นการประท้วงต่อต้านการทุจริต รวมถึงการที่อิหร่านเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับความขัดแย้งในภูมิภาค เช่นในอิรักและซีเรีย ซึ่งสิ้นเปลืองงบประมาณมหาศาล

เจ้าหน้าที่คนหนึี่งเผยว่า ตำรวจจับกุมผู้ประท้วงจำนวนหนึ่งในกรุงเตหะราน คลิปวีดิโอในโซเชียลมีเดียเผยภาพ ทางการวางกำลังตำรวจแน่นหนาทั้งในเมืองหลวงและอื่นๆ

นายโมเซ็น นาสจ์ ฮามาดานี รองผู้บังคับการทหารจังหวัดเตหะราน กล่าวว่า ประชาชนราว 50 คนเดินขบวนที่จัตุรัสกลางเมือง แต่ส่วนใหญ่กลับไปตามคำขอของตำรวจ เหลือเพียงไม่กี่คนจึงถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวไว้ชั่วคราว

ด้านทำเนียบขาวโดยนางสาวซาราห์ แซนเดอร์ส โฆษกแถลงประณามการจับกุมผู้ประท้วง ระบุ “รัฐบาลอิหร่านควรเคารพสิทธิของประชาชน รวมถึงสิทธิในการแสดงความคิดเห็น” ขณะเดียวกันกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐก็ออกแถลงการณ์อีกหนึ่งฉบับ เรียกร้องให้ทุกชาติสนับสนุนชาวอิหร่านอย่างเปิดเผย รวมถึงสนับสนุนข้อเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐานและยุติการทุจริต

สำนักข่าวฟาร์สรายงานว่า ผู้ประท้วงราว 300 คนรวมตัวกันในเมืองเคอร์มันชาห์ตามเสียกเรียกร้องของกลุ่มต่อต้านการปฏิวัติ ผู้ชุมนุมตะโกนขอให้ปล่อยตัวนักโทษการเมือง โดยพวกเขายอมสู้สุดชีวิตแลกกับเสรีภาพ มีรายงานว่าอาคารราชการหลายแห่งถูกทำลาย ตำรวจต้องเข้าสลายการชุมนุม แต่ฟาร์สไม่ได้ระบุชื่อกลุ่มต่อต้านรัฐบาล

ภาพในคลิปวีดิโอเผยผู้ประท้วงร้องตะโกน “ชาวบ้านเป็นขอทาน แต่นักการศาสนากลับทำตัวอย่างกับพระเจ้า”

นอกจากนี้  ยังมีการชุมนุมในเมืองซารีและราสต์ทางภาคเหนือ เมืองแคสวินทางตะวันตกของกรุงเตหะราน เมืองคอมทางภาคใต้ของเมืองหลวง และเมืองฮามาดานทางตะวันตกของประเทศ ฟาร์สรายงานว่า ประชาชนหลายคนที่ร่วมชุมนุมด้วยปัญหาเศรษฐกิจต่างพากันกลับบ้าน เมื่อขบวนประท้วงเริ่มตะโกนข้อความปลุกใจทางการเมือง

ที่เมืองอิสฟาฮันทางภาคกลางของประเทศ ชาวบ้านรายหนึ่งเล่าว่า ผู้ประท้วงเข้าไปร่วมชุมนุมกับคนงานโรงงานที่เรียกร้องค่าจ้างตกเบิก

"จากนั้นการประท้วงก็เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว จากปัญหาเศรษฐกิจไปเป็นการต่อต้านประธานาธิบดีฮัสซัน โรฮานี และอยาตอลเลาะห์ อาลี คามาเนอี ผู้นำสูงสุด

การประท้วงทางการเมืองอย่างเปิดเผยเกิดขึ้นไม่บ่อยนักในอิหร่าน ประเทศที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงกระจายอยู่ในทุกที่

ความไม่สงบระดับชาติครั้งล่าสุดเกิดขึ้นในปี 2552 เมื่อประธานาธิบดีมามุด อาห์มาดิเนจาด ได้รับเลือกตั้งกลับเข้ามาอีกครั้งหนึ่ง ประชาชนออกมารวมตัวกันต่อต้านนาน 8 เดือน คู่แข่งฝ่ายสนับสนุนการปฏิรูปอ้างว่า มีการโกงการเลือกตั้ง

รองประธานาธิบดีอีชาก จาฮันกิรี พันธมิตรใกล้ชิดกับนายโรฮานี กล่าวว่า ฝ่ายต่อต้านแนวอนุรักษนิยมสุดโต่งของประธานาธิบดี อาจจุดชนวนการประท้วงขึ้นมาแต่ควบคุมมวลชนไม่ได้ “ใครก็ตามที่อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์นี้เท่ากับเผานิ้วตัวเอง” นายจาฮันกิรีกล่าว