ขุมทรัพย์ 'อีอีซี' สตอรี่เรียกแรทติ้ง 'ไทคอน'

ขุมทรัพย์ 'อีอีซี' สตอรี่เรียกแรทติ้ง 'ไทคอน'

แม้แผนธุรกิจยังไม่โลดแล่น ทว่า 'ไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น' ภายใต้ร่มเงา 'เจ้าสัวเจริญ' กลับมีสตอรี่ใหม่ทั้งในและนอกรอเพียบ พร้อมผุดที่ดินนับ 'หมื่นไร่' รอบพื้นที่ EEC รองรับดีมานด์โรงงาน-คลังสินค้า

ตลอดปี 2560 แม้ยังไม่เห็นแผนธุรกิจชัดเจน 'เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี' เจ้าของตัวจริง บมจ.ไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น หรือ TICON ถือหุ้นใหญ่สัดส่วน 40% หลังเดือนต.ค.2559 เข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนจำนวน 735 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 18 บาท คิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 13,230 ล้านบาท ผ่านบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ โฮลดิ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ FPHT บริษัทย่อยของ เฟรเซอร์ส เซ็นเตอร์พอยท์ ลิมิเต็ด (FCL) จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ 

ทว่าปัจจุบันอยู่ระหว่างการทำแผนธุรกิจ คาดว่าชัดเจนต้นปี 2561 หรือเพราะเหตุนี้ 'มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด' หุ้น TICON จึงขยับมาไกลสุดแค่ 30,263.35 ล้านบาท (8ธ.ค.2560) จากต้นปีอยู่ที่ 12,859.97 ล้านบาท (4 ม.ค.2560) สอดคล้องกับราคา 'หุ้น TICON' อยู่ที่ 16.50 บาท (8 ธ.ค.2560) ซึ่งในปี 2560 ราคาหุ้นทำจุด 'สูงสุด' 18.10 บาท (11ต.ค.) ราคา 'ต่ำสุด' 12.70 บาท (15พ.ค.) โดยมีราคาเฉลี่ย 16.12 บาท 

แม้ว่าจะยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงพิเศษ แต่ตลอดปี 2560 TICON กับสร้างผลงานกลับมาพลิกฟื้น สะท้อนผ่าน 'กำไรสุทธิ' ไตรมาส 3 ปี 2560 อยู่ที่ 106 ล้านบาท จากไตรมาส 3 ปี 2559 อยู่ที่ 21 ล้านบาท หลังจากการชำระคืนเงินกู้และหุ้นกู้ในช่วงครึ่งปีแรกโดยใช้เงินที่ได้รับจากการเพิ่มทุนทำให้บริษัทมีค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยลดลงประมาณ 70 ล้านบาท และมีรายได้จากการให้เช่าและบริการที่เกี่ยวข้องเพิ่มจำนวน 34 ล้านบาท หากเทียบกับผลการดำเนินงาน TICON ย้อนหลัง 3 ปีที่ผ่านมา (2557-2559) มีกำไรสุทธิ 761 ล้านบาท 769 ล้านบาท  และ 275 ล้านบาท ตามลำดับ 

'วีรพันธ์ พูลเกษ' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น หรือ TICON ฉายภาพกับ 'กรุงเทพธุรกิจ BizWeek' ฟังว่า การที่กลุ่มเฟรเซอร์ฯ เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ถือเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะว่ากลุ่มเฟรเซอร์ฯ (บริษัทในเครือเฟรเซอร์แอนด์นีฟ หรือ F&N ธุรกิจอาหาร เครื่องดื่ม และอสังหาฯ รายใหญ่ในอาเซียนที่เจ้าสัวเจริญไปซื้อกิจการเมื่อ ปี 2556) มีธุรกิจหลักในการพัฒนาและบริหารอสังหาริมทรัพย์ทั้งเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ โรงแรม อาคารสำนักงาน ที่อยู่อาศัย ศูนย์การค้า รวมถึงอสังหาฯ เพื่อการอุตสาหกรรม 

ฉะนั้น ก็มีเป้าหมายขับเคลื่อนธุรกิจชัดเจนตรงกัน คือ ต้องการให้ไทคอนเป็น 'แพลตฟอร์ม' ขยายธุรกิจอสังหาฯ ประเภทโรงงานอุตสาหกรรมและคลังสินค้าสู่อาเซียน ! 'โดยการให้ TICON เป็นตัวนำในการรุกตลาดอสังหาฯ ในอาเซียนจะเห็นความชัดเจนมากขึ้นในปี 2561'

นอกจากนี้ ยังมี 'ปัจจัยบวก' ในประเทศ นั่นคือ บริษัทกำลังดูทิศทางนโยบาย 'โครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC)'  ซึ่งเป็นแผนยุทธศาสตร์ประเทศภายใต้ 'ไทยแลนด์ 4.0' พื้นที่ครอบคลุมจังหวัด ฉะเชิงเทรา ,ชลบุรี และระยอง ซึ่งบริษัทมีความพร้อมในการขยายการลงทุนเพื่อรองรับความต้องการโรงงาน และคลังสินค้าที่จะมีความต้องการเพิ่มเข้ามามากขึ้น  

บริษัทมี 'ข้อได้เปรียบ' คือมีจำนวน 'ที่ดิน' ในพื้นที่ EEC และบริเวณโดยรอบ 'ราว3พันไร่' ยังไม่รวมที่ดินของกลุ่มพันธมิตร ซึ่งทุกฝ่ายพร้อมที่จะนำออกมาพัฒนาเป็นโรงงานและคลังสินค้าไว้รองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เป็นเป้าหมายของ EEC 

'กลุ่มไทคอนฯ ยังมีที่ดินอีกมากในแถบโครงการ EEC โดยเฉพาะในจังหวัดระยองที่เป็นที่ดินของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนาภักดี ซึ่งมีเกือบ 1 หมื่นไร่แล้ว ซึ่งเป็นที่ดินที่ติดกับทางนิคมอุตสาหกรรมด้วย ดังนั้น จะนำที่ดินมาพัฒนาต่อไปไม่ใช่เรื่องยาก'  

เขา บอกต่อว่า ผลการดำเนินงานปี 2560 คงเป้ารายได้ 'เติบโต 20%' มาจากรายได้ค่าเช่า รวมทั้งการขยายพื้นที่เพิ่มขึ้นเป็น 2.2 แสนตารางเมตร แบ่งเป็นพื้นที่เช่าคลังสินค้า 1.7 แสนตารางเมตร ปัจจุบันอยู่ที่ 1.5 แสนตารางเมตร และพื้นที่เช่าโรงงานเพิ่มอีก 50,000 ตารางเมตร  โดยในงวด 9 เดือน ปี 2560 บริษัทมีรายได้รวม 1,551 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 247 ล้านบาท ลดลง 8.6%  แต่มีส่วนอัตราการเช่าพื้นที่คลังสินค้าและโรงงานปี 60 คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 80% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่อยู่ที่กว่า 70%

สำหรับจำนวนลูกค้าที่เช่าพื้นที่โรงงานและคลังสินค้าของบริษัทสัดส่วนใหญ่จะเป็นลูกค้าต่างชาติประมาณ 80% โดยเฉพาะผู้ประกอบการจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งหลักๆ จะลงทุนในธุรกิจยานยนต์เป็นหลักและเป็นลูกค้ากลุ่มใหญ่ และที่เหลือประมาณ 20% เป็นลูกค้าในประเทศ

ในส่วนของการลงทุนต่างประเทศนั้น ปี 2561 เขา บอกว่า จะเข้าไปลงทุนสร้างคลังสินค้าแบบ Built to Suit ในประเทศเวียดนามเป็นแห่งแรก ซึ่งมองว่าเวียดนามมีศักยภาพมากเพราะว่ามีประชากรมากกว่า 90 ล้านคน ซึ่งมากกว่าประเทศไทย และมีความพร้อมด้านสาธารณูปโภค โดยลักษณะการเข้าไปลงทุนจะเป็นการร่วมลงทุนกับพันธมิตรในท้องถิ่น 

นอกจากนี้ บริษัทยังคงขยายการลงทุนเพิ่มเติมที่ประเทศอินโดนีเซีย ล่าสุดมีบริษัทชั้นนำด้านอุปโภครายรายใหญ่ระดับโลกได้ลงนามพัฒนาคลังสินค้าแบบ Built to Suit จำนวน 2 แห่ง รวมพื้นที่เช่ากว่า 21,000 ตารางเมตร โดยได้เริ่มเข้าดำเนินการในคลังสินค้าทั้ง 2 แห่งแล้วขณะเดียวกันยังมีการร่วมมือกับกลุ่ม เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ โฮลดิ้งส์ (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ Frasers Centrepoint Limited (FCL) ในฐานผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทจะเห็นการลงทุนในต่างประเทศร่วมกัน ปัจจุบันอยู่ระหว่างการหารือร่วมกับทางเฟรเซอร์สฯ คาดจะมีความชัดเจนภายในปลายปี 60  โดยประเทศที่สนใจจะเข้าไปลงทุน ได้แก่ กลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม) 

ท้ายสุด 'วีรพันธ์' ทิ้งท้ายว่า เฟรเซอร์สฯ หวังที่จะให้เราเป็นฐานที่ใช้ขยายการลงทุนไปยังต่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศที่เขายังไม่ได้เข้าไปลงทุน อย่างกลุ่มประเทศอาเซียน และจีนตอนใต้  รวมถึงเฟรเซอร์สฯ อยู่ในกลุ่ม TCC Group ซึ่งมีธุรกิจที่หลากหลาย และธุรกิจดังกล่าวได้มีการใช้คลังสินค้าของไทคอนอยู่แล้ว 

กอง REIT ขึ้นเบอร์1 

'วีรพันธ์ พูลเกษ' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น หรือ TICON บอกว่า เมื่อเดือนต.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมผู้ถือหน่วยกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ไทคอน (TFUND) กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ทีพาร์คโลจิสติคส์ (TLOGIS) กองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ไทคอน อินดัสเทรียล โกรท (TGROWTH) แปลงสภาพจากกองทุนรวมเข้าสู่กองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ไทคอน หรือ TREIT ทำให้มีมูลค่ารวม 32,600 ล้านบาท ขึ้นแท่นกองทรัสต์ที่ใหญ่สุดในประเทศไทย 

ทั้งนี้ คาดว่าปลายปี 2560 กระบวนการรวมทั้ง 3 กองทุนมาอยู่ในกอง TREIT จะแล้วเสร็จ จะทำให้การเติบโตแบบก้าวกระโดด เนื่องจากสามารถกำหนดบริหารจัดการพื้นที่จากนโยบายเดียวกันผ่าน บริษัท ไทคอน แมนเนจเม้นท์ จำกัด ในฐานผู้จัดการกองทรัสต์  ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ TICON    

'กองทุน TREIT มีรายได้ค่าเช่า 2,385 ล้านบาท มีจำนวนโรงงาน 300 แห่ง คลังสินค้า 192 แห่ง แบ่งเป็นส่วนที่มีกรรมสิทธิ์ 69% และสิทธิการเช่า 31%'  

อีกด้านเมื่อรวมกันแล้วจะมีผลต่อการลงทุนด้วยสภาพคล่องที่สูงขึ้น  สามารถดึงดูความสนใจจากนักลงทุนต่างประเทศให้มาเลือกลงทุนได้ง่าย เพราะเมื่อเปรียบเทียบแล้ว ทั้ง 4 กองทุน TFUND มีสภาพคล่องดีที่สุด ด้วยมูลค่าที่มากกว่ากองทุนอื่นๆ 

'จุดเด่น' ของแต่ละกองทุนที่หลากหลายจะเห็นได้ว่า กอง TFUND มีมูลค่า 13,589 ล้านบาท มีสินทรัพย์ประเภท โรงงานมากที่สุด 235 แห่ง มีคลังสินค้า 8 แห่ง มีรายได้จากค่าเช่า 903 ล้านบาท สามารถจ่ายปันผลที่ 5.72 %ต่อปี  กองทุน TLOGIS มีมูลค่า 4,983 ล้านบาท เป็นคลังสินค้า 63 แห่ง มีรายได้ 355 ล้านบาท สามารถจ่ายอัตราปันผลที่ 6.14% ต่อปี  

กองทุน TGROWTH  มีมูลค่า 6,370 ล้านบาท  มีสินทรัพย์เป็นโรงงาน 39 แห่ง และคลังสินค้า 50 แห่ง  โดยมีรายได้ 564 ล้านบาท อัตราจ่ายปันผลที่ 8.29%ต่อปี  และกอง TREIT  มีมูลค่า 7,696 ล้านบาท  มีรายได้ 563 ล้านบาท สามารถจ่ายเงินปันผลได้ที่ 6.77% ต่อปี  

เมื่อรวมสินทรัพย์ทั้งหมด TICON มีพื้นที่โรงงานและคลังสินค้ารวมทั้งสิ้น 2.7 ล้านตารางเมตร เป็นการเพิ่มขึ้น ณ . สิ้น เดือน ก.ย.จากลูกค้าใหม่ที่เช่าพื้นที่โรงงานและคลังสินค้าแบ่งตามสัดส่วนเป็นโรงงาน 50% และคลังสินค้า 50% 

โดยในปีหน้าบริษัทมีแผนที่จะขายสินทรัพย์ของ TICON เข้ากองทุนและมองหาการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มอุตสาหกรรม เพื่อให้ผลักดันให้มีการเติบโตได้เร็วขึ้น เนื่องจากในอนาคตอาจจะมีลูกค้าที่อยากจะขายคืนพื้นที่และหันไปเป็นการเช่าแทนได้ สำหรับบริษัทจะขายสินทรัพย์เข้ากองทุนมูลค่า 3,500 ล้านบาท ยังเปิดเผยไม่ได้เพราะต้องรอการอนุมัติจากคณะกรรมการและผู้ถือหุ้นรวมทั้งยังมองหาสินทรัพย์ใหม่ๆ จากรายอื่น ซึ่งยังเน้นเป็นประเภทคลังสินค้า โรงงาน ศูนย์กระจายสินค้า แถวภาคตะวันออก โดยมีผู้เช่าอยู่แล้วคาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ 1,000 ล้านบาท

ส่วนการมองหาสินทรัพย์ลงทุนในต่างประเทศมีแผนด้วยเหมือนกัน เพราะ TICON มีไปลงทุนที่ประเทศอินโดนีเซีย ด้วยการตั้งเป็นกองทุนลงทุนในสินทรัพย์ประเภทโรงงานและคลังสินค้า ซึ่งมีพื้นที่ 1 แสนตารางเมตร แต่หากจะลงทุนจริงคงต้องรอศึกษาเรื่องกฎเกณฑ์และภาษีให้รอบครอบ  ปัจจุบันรับว่ามีต่างชาติเข้ามาคุยเพื่อมองแนวทางการลงทุนร่วมกันอย่าง 'กลุ่มมิตซุย' เป็นพันธมิตรกับบริษัทอยู่แล้วสนใจทั้งการขายสินทรัพย์เข้ากองทุน หรืออาจจะตั้งเป็นกองทุนเหมือนที่ลงทุนในประเทศอินโดนีเซีย  และยังมีที่ประเทศเวียดนามถือว่าน่าสนใจที่จะเข้าไปลงทุนเพราะมีกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมจำนวนมาก   

'มองการเติบโตโดยรวมเมื่อรวมกองทุนแล้วน่าจะโตได้ 10% ด้วยการพยายามซื้อสินทรัพย์ใหม่ๆ เข้ามาทุกปี ซึ่งปัจจุบันก็ถือว่าไม่ง่ายเพราะในอุตสาหกรรมกลุ่มโรงงาน TICON กินส่วนแบ่งไป 50% ที่เหลือมีกองทุนของตัวเองเหลือแต่รายเล็ก เช่น บริษัทที่ทำเฉพาะโลจิสติกส์ที่ขายสินทรัพย์ให้ได้'