'กรมควบคุมโรค'ประกาศเตือน 7 โรคเฝ้าระวัง!!

'กรมควบคุมโรค'ประกาศเตือน 7 โรคเฝ้าระวัง!!

"อธิบดีกรมควบคุม" ประกาศเตือน 7 โรคต้องเฝ้าระวังในปี 61 ชี้ "ไข้เลือดออก" มาแรง เหตุปีนี้มียอดผู้ป่วยมากกว่า 5 หมื่นราย เสียชีวิต 59 ราย

ที่กรมควบคุมโรค นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วย นพ.ธนรักษ์ ผลิตพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค และนพ.นคร เปรมศรี ผอ.สำนักระบาดวิทยา ร่วมแถลงข่าว "พยากรณ์โรคและภัยสุขภาพปี 2561 ที่ต้องเฝ้าระวัง" โดย นพ.นคร กล่าวว่า มี 7 โรคสำคัญที่ต้องเฝ้าระวัง คือ 1.โรคไข้เลือดออก ซึ่งปี 2560 มีผู้ป่วย 50,033 ราย เสียชีวิต 59 ราย พยากรณ์ว่าปี 2561 จะมีผู้ป่วยประมาณ 50,000 มีแนวโน้มสูงขึ้นในเดือนมิ.ย.– ก.ย.จะพบผู้ป่วย 4,500–9,000 ราย/เดือน ส่วนพื้นที่เสี่ยง 135 อำเภอ ใน 35 จังหวัด อาทิ เชียงใหม่ เชียงราย ตาก นครสวรรค์ นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา ราชบุรี สุพรรณบุรี ชลบุรี ระยอง กระบี่ ภูเก็ต สงขลา พัทลุง กรุงเทพฯ จึงขอให้ประชาชนร่วมกันกำจัดยุงลายโดย 1.เก็บบ้าน 2.เก็บขยะ และ 3.เก็บน้ำ ป้องกันโรคไข้เลือดออก ไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา

2.โรคไข้หวัดใหญ่ ปี 2560 ป่วย 189,870 ราย เสียชีวิต 54 ราย พยากรณ์ว่าปี 2561 จะมีผู้ป่วยประมาณ 220,000 ราย พบเพิ่มขึ้นในฤดูฝน (มิ.ย.–ต.ค.) ประมาณ 13,000-48,000 ราย/เดือน จังหวัดเสี่ยง 23 จังหวัด ขนาดใหญ่และที่มีการเคลื่อนย้ายประชากรสูง อาทิ เชียงใหม่ เชียงราย น่าน พิษณุโลก ลพบุรี พระนครศรีอยุธยา จันทบุรี ระยอง นครราชสีมา กรุงเทพฯ เป็นต้น จึงขอให้ประชาชนปิดปาก ปิดจมูก เมื่อไอ จาม ล้างมือบ่อยๆ เมื่อสัมผัสสิ่งของ หลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วย เมื่อป่วยควรหยุดเรียน หยุดงาน หยุดกิจกรรมในสถานที่แออัด

"สำหรับโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์จะเปลี่ยนแปลงไป แต่ขอย้ำว่าไม่ใช่สายพันธุ์ใหม่ และไม่ได้รุนแรง โดยสายพันธุ์ที่เปลี่ยนแปลงนั้น ปกติจะมีการเปลี่ยนทุกปี เพียงแต่ว่ามากหรือน้อย ซึ่งในปีนี้สายพันธุ์ที่พบจะเป็น H1N1 2009 และสายพันธุ์ A ชนิดH3N2 ขณะที่ปลายปีเป็นสายพันธุ์ B จึงทำให้คาดการณ์ว่าสายพันธุ์ B น่าจะมากขึ้นในปี 2561" นพ.นคร กล่าว

3.โรคมือ เท้า ปาก ปี 2560 ป่วย 68,084 ราย เสียชีวิต 3 ราย ในปี 2561 คาดว่าจะมีผู้ป่วยประมาณ 94,000 ราย เดือนมิ.ย.–ก.ย. อาจพบ 8,000–23,000 ราย/เดือน 4.โรคตาแดง ในปี 2560 ป่วย 105,415 ราย ไม่มีเสียชีวิต คาดว่าปี 2561 จะมีผู้ป่วยประมาณ 146,000 ราย มิ.ย.–ก.ย. อาจป่วย 8,000–35,000 ราย/เดือน ขอแนะนำคนป่วยให้ใช้กระดาษทิชชูเช็ดขี้ตา ล้างมือฟอกสบู่บ่อยๆ ไม่ขยี้ตา อย่าให้แมลงวันแมลงหวี่ตอมตา แยกของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น 5.อาหารเป็นพิษ ปี 2560 พบป่วย 101,000 ราย เสียชีวิต 3 ราย ที่จ.มหาสารคาม ปี 2561 คาดว่าจะป่วยประมาณ 100,000 ราย ช่วงม.ค.–พ.ค. อาจป่วย 9,000–11,000 ราย/เดือน ขอให้กินอาหารปรุงสุก สะอาด หมั่นล้างมือ

6.โรคไข้ฉี่หนู ซึ่งปี 2560 ป่วย 3,257 ราย เสียชีวิต 59 ราย ภาคใต้มีผู้ป่วยสูงในช่วงพ.ย.–ม.ค.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะมีผู้ป่วยสูงในช่วงมิ.ย.–ก.ย. ปี 2561 คาดว่าจะมีผู้ป่วยประมาณ 5,000 ราย จึงขอแนะนำประชาชนให้หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำย่ำโคลนที่ชื้นแฉะ หากจำเป็นควรสวมรองเท้าบู๊ทหรือถุงพลาสติกสะอาดเพื่อป้องกันไม่ให้เท้าสัมผัสน้ำหรือดินโดยตรง และ 7.โรคเมลิออยโดสิส ซึ่งปี 2560 พบผู้ป่วย 3,140 ราย เสียชีวิต 68 ราย พบมากในฤดูฝนของทุกปี สำหรับปี 2561 คาดจะมีผู้ป่วยประมาณ 3,000 ราย ฤดูฝนอาจผู้ป่วยถึง 200-300 ราย/เดือน ทั้งนี้โรคดังกล่าวเกดจากแบคทีเรียในดิน เข้าทางบาดแผล ดังนั้นเกษตรกรที่จะเดินลุยน้ำ ควรสวมรองเท้าบู๊ท