'สนพ.' ประเมินค่าไฟฟ้าปีหน้าทรงตัว

'สนพ.' ประเมินค่าไฟฟ้าปีหน้าทรงตัว

"สนพ." คาดค่าไฟฟ้าปีหน้าทรงตัว ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบคาดแกว่งที่ 50-60 ดอลลาร์/บาร์เรล ประเมินความต้องการใช้พลังงานขั้นต้นเพิ่มขึ้น 2.1%

นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานโยบายและแผนพลังงาน หรือ สนพ.ประเมิน ค่าไฟฟ้าปีหน้าจะทรงตัว จากปีนี้ที่ค่าไฟฟ้าปีนี้ลดลงจากปีที่แล้ว 4 สต. โดยประเมินจากทิศทางราคาน้ำมันดูไบปีหน้าอยู่ที่ 50-60 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ส่งผลราคาก๊าซธรรมชาติในประเทศทรงตัว ส่วนราคาขายปลีกน้ำมันคาดว่าใกล้เคียงกับช่วงนี้ แต่ถ้าเฉลี่ยทั้งปีประเมินราคาขยับขึ้นเล็กน้อยโดยราคาสิ้นปีของปีที่แล้วอยู่ที่ประมาณ 52 ดอลลาร์/บาร์เรล

"ราคาไฟฟ้าในปีหน้ายังขึ้นกับราคาแอลเอ็นจีที่มีสัดส่วนการใช้กว่า ร้อยละ10 โดยราคาตลาดจรเดือนธ.ค.ขึ้นเป็นกว่า10 ดอลลาร์สหรัฐ/ล้านบีทียู จากเดือน ก.ย.ที่ราคากว่า7 ดอลลาร์/ล้านบีทียู ซึ่งหากราคาสูงก็มีผลต่อค่าไฟฟ้าด้วย" นายทวารัฐกล่าว

ส่วนความต้องการใช้พลังงานขั้นต้นปี 2561คาดจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1 ตามภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัว ประมาณร้อยละ 3.6-4.6 ซึ่งเป็นผลจากการส่งเสริมการลงทุนของรัฐบาลและการค้าโลกขยายตัว โดยการใช้น้ำมันในประเทศจะขยายตัวร้อยละ 2.1 แยกเป็นดีเซลเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7 กลุ่มเบนซินเพิ่มร้อยละ 3.6 เพราะราคาน้ำมันดิบยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำประกอบกับโครงการแอลพีจีลอยตัว ทำให้ผู้ใช้แอลพีจีรถยนต์หันมาใช้น้ำมันเพิ่มขึ้น ส่วนการใช้น้ำมันเครื่องบินยังเติบโตร้อยละ 4.3 ตามนโยบายที่รัฐบาลออกมากระตุ้นการท่องเที่ยว

ส่วนการใช้แอลพีจีคาดว่าจะมีการใช้เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 แยกเป็นภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 ภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.7 ภาคขนส่งลดลงร้อยละ 10.9 ส่วนการใช้ ภาคปิโตรเคมีคาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.8

ในขณะที่การใช้ฟ้าคาดว่าจะมีการใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ 192,923 ล้านหน่วยเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.1 การใช้ก๊าซธรรมชาติลดลงร้อยละ 1.2 การใช้พลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.1 การใช้ถ่านหินเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2

สำหรับการใช้พลังงานขั้นต้นในปี 2560 ประเมินว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4 เมื่อเทียบกับปีก่อนโดยการใช้อยู่ที่ 2.75 ล้านบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ/วัน ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นเกือบทุกประเภท ทั้งการใช้น้ำมัน การใช้ไฟฟ้านำเข้า การใช้พลังงานทดแทน ยกเว้นก๊าซธรรมชาติ เนื่องจากแหล่งก๊าซยาดานา เยตากุน และซอติก้าของเมียนมา หยุดจ่ายก๊าซในเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม ประกอบกับแหล่ง JDA –A18 ในอ่าวไทยหยุดซ่อมบำรุงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม และตุลาคมส่งผลให้ก๊าซลดลงจากระบบ การเพิ่มขึ้นของการใช้พลังงานนี้สอดคล้องกับการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ที่ 3.9% ซึ่งเติบโตทั้งจากการส่งออก การบริโภคภาคเอกชน รวมทั้งการใช้จ่ายภาครัฐบาลและการลงทุนโดยรวม ด้านราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยอยู่ที่ 53 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล โดยปรับตัวสูงขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2560 ตามเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวดีขึ้น และข้อตกลงลดกำลังการผลิตของกลุ่มผู้ผลิตน้ำมัน

โดยการใช้น้ำมันสำเร็จรูปเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0 โดยดีเซลมียอดใช้เฉลี่ย 63.7 ล้านลิตร/วันเพิ่มขึ้นร้อยละ2.6 กลุ่มเบนซิน มียอดใช้ 30.2 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นร้อยละ3.8 ส่วนแอลพีจีเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.9 อยู่ที่6,313 พันตัน/เดือน โดยในส่วนนี้ยอดใช้ภาครถยนต์ลดลงร้อยละ 10.6 ส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติ อยู่ที่ 4,721 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันลดลงร้อยละ 0.1