วิทยาการยามะเร็งออกแบบรักษาเฉพาะคน

วิทยาการยามะเร็งออกแบบรักษาเฉพาะคน

วิทยาการทางการแพทย์จุดความหวังให้กับผู้ป่วยมะเร็ง แพทย์ไทยในสหรัฐนำเสนอเทคนิคการตรวจรักษาระดับยีน ระบุผลจากโครงการถอดรหัสพันธุกรรมทำให้รู้ลึกระดับดีเอ็นเอส่วนบุคคล นำมาสู่การพัฒนายาส่วนบุคคลที่จำเพาะต่อยีนกลายพันธุ์

วิทยาการทางการแพทย์จุดความหวังให้กับผู้ป่วยมะเร็ง แพทย์ไทยในสหรัฐนำเสนอเทคนิคการตรวจรักษาระดับยีน ระบุผลจากโครงการถอดรหัสพันธุกรรมทำให้รู้ลึกระดับดีเอ็นเอส่วนบุคคล นำมาสู่การพัฒนายาส่วนบุคคลที่จำเพาะต่อยีนกลายพันธุ์ ด้านแพทย์รามาฯรับทุนวิจัย สวรส.และวช.ติดตามรูปแบบยีนกลายพันธุ์ในผู้ป่วยมะเร็งปอด เล็งสกัดสารออกฤทธิ์จากสมุนไพรพัฒนายาต้านมะเร็ง

  “มะเร็ง” เป็นโรคที่มีอัตราการตายสูงสุดทั้งในไทยและทั่วโลก จึงเป็นโรคที่ทุกคนให้ความสำคัญ และศึกษาวิจัยเพื่อหาวิธีรักษาที่ดีที่สุด โดยเฉพาะยารักษาแบบพุ่งเป้าที่สามารถออกฤทธิ์จำเพาะเจาะจงกับเซลล์มะเร็งเท่านั้น เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงน้อยลงและเกิดประโยชน์สูงสุดในการรักษา ซึ่งยาแบบพุ่งเป้านี้เองได้กลายมาเป็นจุดเริ่มต้นของการแพทย์แบบจำเพาะบุคคล

อุบัติการณ์ของโรคมะเร็งมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทั่วโลก ในประเทศไทยเองมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งกว่า 6 หมื่นคนต่อปี ซึ่งเป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ของประชากรไทยมานับตั้งแต่ปี 2543 ในขณะที่ทั่วโลกมีรายงานการเสียชีวิตปีละเกือบ 8 ล้านคน โดยในกลุ่มผู้ชายพบมากสุดคือ มะเร็งปอด และมะเร็งต่อมลูกหมาก ในขณะที่กลุ่มผู้หญิงจะพบมะเร็งเต้านมและมะเร็งในอวัยวะสืบพันธุ์มากที่สุด

รักษาด้วยยาเฉพาะบุคคล

นพ.พรชัย จงเลิศธรรม แพทย์ด้านมะเร็งวิทยาและประธานกรรมการด้านโรคมะเร็ง ณ MaryLanning Healthcare สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า การดูแลรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งโดยวิธีมาตรฐาน จะเริ่มจากการตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจทางพยาธิวิทยา เพื่อประเมินว่า เป็นมะเร็งจริงหรือไม่ หากใช่ ก็ต้องประเมินวิธีรักษา ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัด รังสีรักษา หรือยาเคมีบำบัด

แต่ปัจจุบันมีการตรวจในระดับยีนหรือโครโมโซมเพิ่มขึ้น ร่วมกับการให้ยาเฉพาะเจาะจงหรือยากระตุ้นภูมิคุ้มกันเพื่อต้านมะเร็งในระยะลุกลามหรือระยะที่ 4 ซึ่งเรียกว่า การแพทย์ยุคใหม่แบบการแพทย์เฉพาะบุคคล (Personalized healthcare) เป็นผลพวงจากความรู้ด้านเซลล์ต้นกำเนิด โดยค้นพบว่าเซลล์ต้นกำเนิดมะเร็งของผู้ป่วยแต่ละคนมีความแตกต่างกัน จึงมีความน่าจะเป็นที่จะตอบสนองต่อยาและการรักษาแบบพุ่งเป้าได้ต่างกัน

ทั้งนี้ แพทย์จะใช้เทคนิคตัวชี้วัดทางชีวภาพ (ไบโอมาร์กเกอร์) ตรวจหาลักษณะจำเพาะของเซลล์มะเร็งที่อยู่ในร่างกายผู้ป่วยมะเร็งแต่ละคน และเพื่อเลือกยาที่เหมาะสมที่สุด เทคนิคดังกล่าวสามารถทำได้ทั้งในระดับโปรตีนและดีเอ็นเอ ซึ่งในระดับดีเอ็นเอจะให้ข้อมูลที่ละเอียดและซับซ้อนมากกว่า เนื่องจากการเกิดโรคมะเร็งมีสาเหตุจากการกลายพันธุ์ของยีนในร่างกาย ซึ่งแต่ละบุคคลก็มีการกลายพันธุ์ที่แตกต่างกันออกไป

ความก้าวหน้าทางการศึกษาวิจัยทำให้เทคนิคไบโอมาร์กเกอร์พัฒนามากขึ้น ทั้งมีฐานข้อมูลครอบคลุมดีเอ็นเอส่วนใหญ่ที่มีการศึกษาว่าเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งด้วยการตรวจเพียงครั้งเดียว ช่วยลดปริมาณชิ้นเนื้อตัวอย่างที่ต้องเก็บจากคนไข้ ลดระยะเวลา และเพิ่มความแม่นยำในการตรวจมากขึ้น จึงเปลี่ยนโฉมการตรวจรักษาไปสู่การตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุการเกิดมะเร็งและรักษาแบบส่วนบุคคล เป็นเสมือนใบเบิกทางสู่การแพทย์เฉพาะบุคคลยุค 2.0 อย่างเต็มรูปแบบ

ปูทางสู่การค้นหายาใหม่

มะเร็งปอดเป็นโรคที่สำคัญ และเป็นสาเหตุการตายการตายอันดับ 1 ของมะเร็งทั้งหมด แต่ในแง่อุบัติการณ์พบมากเป็นอันดับที่ 2 ซึ่งไทยเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับแนวโน้มของโลก เป็นความท้าทายสำหรับนักวิจัยและแพทย์ที่จะหาวิธีรักษาชีวิตผู้ป่วย และเมื่อเทคโนโลยีเอ็นจีเอส (Next Generation Sequencing: NGS) ช่วยค้นหายีนกลายพันธุ์ เพื่อหายารักษาที่เหมาะสม

ผศ.พญ. ธัญนันท์ เรืองเวทย์วัฒนา อายุรแพทย์มะเร็ง โรงพยาบาลรามาธิบดี ใช้เทคโนโลยีเอ็นจีเอส วิเคราะห์ยีนกลายพันธุ์ในผู้ป่วยมะเร็งปอด พบไทยมียีนกลายพันธุ์ 2 ชนิดคือ BRAF และ CMet ที่มากกว่าประเทศอื่น เป็นองค์ความรู้ใหม่ที่จะต่อยอดสู่การพัฒนายารักษามะเร็งแบบเฉพาะเจาะจง โดยเฉพาะการใช้สมุนไพรไทยเป็นสารออกฤทธิ์หลัก

“ในอดีตผู้ป่วยมะเร็งปอดในระยะแพร่กระจายมีอัตราการเสียชีวิตสูงมาก แต่ระยะ 5-10 ปีที่ผ่านมานี้เราอยู่ในยุคที่การแพทย์พัฒนาไปอย่างมาก มียาเคมีบำบัดรุ่นใหม่ที่ได้ผลดีขึ้น แต่ก็มีผลข้างเคียงที่มากขึ้นตาม ทำให้วงการแพทย์พัฒนาการรักษาแบบมุ่งเป้า (Targeted Therapy) เพื่อให้การรักษาดียิ่งขึ้น”

มะเร็งปอดแบ่งเป็น 2 ประเภทคือ ชนิดเซลล์ขนาดเล็ก (SCLC) พบมากในผู้ที่สูบบุหรี่ ซึ่งไทยมีผู้ป่วยมะเร็งชนิดนี้เพียง 15% ของผู้ป่วยมะเร็งปอดทั้งหมด และชนิดที่ไม่ใช่เซลล์ขนาดเล็ก (NSCLC) ที่มีผู้ป่วยไทยถึง 85% เป็นแม้จะไม่ได้สูบบุหรี่ ด้วยมียีนกลายพันธุ์ที่เปลี่ยนเซลล์ปกติเป็นเซลล์มะเร็ง

ความก้าวหน้าในการรักษาเฉพาะเจาะจงนี้ ทำให้มียาที่จำเพาะต่อยีนกลายพันธุ์ที่ผ่านการรับรองจากองค์การอาหารและยาสหรัฐ (เอฟดีเอ) แล้ว 4 ชนิด คือ ยีนกลายพันธุ์ EGFR (Epidermal Growth Factor Receptor) ซึ่งเชื่อว่ามีบทบาทในการเติบโตของเซลล์มะเร็ง การกลายพันธุ์ของยีน EGFR เกิดขึ้นใน 10-15% ของผู้ป่วยในยุโรปและสหรัฐอเมริกา และ 30-40% ของผู้ป่วยในเอเชีย, ยีน Anaplastic lymphoma kinase หรือ ALK ที่มีบทบาทในการเติบโตและการแบ่งตัวของเซลล์ เมื่อมีการจัดเรียงใหม่ ยีน ALK อาจส่งผลให้เกิดการเติบโตของเซลล์มะเร็ง, ยีน ROS1 และยีนกลายพันธุ์ BRAF

“การรักษาด้วยยามุ่งเป้าที่จะตรงไปที่เซลล์มะเร็งหรือยีนกลายพันธุ์นี้ จะใช้ในผู้ป่วยระยะลุกลาม หรือระยะที่ 4 ของโรค และต้องมีการตรวจทางพันธุกรรม หายีนกลายพันธุ์ที่แน่นอน เพื่อให้แพทย์วางแผนการรักษา และเลือกยามุ่งเป้าที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย”

นักวิจัยไทยสู้มะเร็งปอด

ผศ.พญ. ธัญนันท์ กล่าวว่า โรงพยาบาลรามาธิบดีมีคณะทำงานที่ร่วมมือกันแบบสหสาขา ในรูปของ RLC Model (Ramathibodi Lung Cancer Consultant) ที่นอกจากดูแลคนไข้ร่วมกัน ช่วยให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้นแล้ว ยังทำงานวิจัยร่วมกัน ด้วยทุนวิจัยจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่ง่ชาติ (วช.) เพื่อดูรูปแบบของยีนกลายพันธุ์ชนิดต่างๆ ของผู้ป่วยมะเร็งปอดในประเทศไทย โดยใช้เทคโนโลยีเอ็นจีเอส (Next Generation Sequencing: NGS)

ผลการวิจัยพบว่า ผู้ป่วยไทยมียีนกลายพันธุ์ BRAF 10% ของผู้ป่วย มากกว่าประเทศอื่นๆ ที่เฉลี่ยอยู่ที่ 4% ในขณะเดียวกัน ก็พบยีนกลายพันธุ์ CMet ที่ไทยมีมากกว่าประเทศอื่นเช่นกันที่ 5-6% นับเป็นความจำเพาะที่จะเอื้อในการวิจัยและพัฒนายาเพื่อรักษามะเร็งปอดของผู้ป่วยกลุ่มนี้โดยเฉพาะ

“นอกจากนี้ เรายังได้ร่วมมือกับศูนย์ความเป็นเลิศด้านการพัฒนายา (Excellent Center of Drug Development: ECDD) ในการศึกษาวิจัย เพื่อสร้างองค์ความรู้ด้านการพัฒนายารักษาโรคมะเร็งของเราเอง ด้วยข้อมูลของโรคที่จำเพาะกับผู้ป่วยไทย เรายังมีสมุนไพรและสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพที่น่าสนใจ และมีความเป็นไปได้ที่จะพัฒนาเป็นยา รวมถึงความพร้อมทั้งบุคลากรทางการแพทย์ โรงงานผลิตยา สถาบันวิจัย ที่หากเราเริ่มขยับและทำอย่างต่อเนื่อง ก็มีโอกาสที่จะช่วยให้ผู้ป่วยมะเร็งปอด มีชีวิตที่ยืนยาว คุณภาพชีวิตดีขึ้นอีกด้วย” อายุรแพทย์มะเร็ง รพ.รามาธิบดี กล่าว

จุฬาฯระดมทุนวิจัย 2พันล.

นอกจากนี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาเชิงระบบ อยู่ระหว่างวิจัยและพัฒนาวัคซีนและยาภูมิต้านมะเร็ง ภายใต้กรอบความเชื่อที่ว่าระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายสามารถช่วยกำจัดเซลล์มะเร็งได้เฉพาะเจาะจงมากขึ้น คาดว่าในปี 2561 อาจจะได้เห็นวัคซีนต้นแบบเพื่อการรักษา “ไม่ใช่” วัคซีนเพื่อการป้องกัน อีกทั้งวัคซีนตัวนี้จะใช้ได้กับเฉพาะบุคคลเท่านั้น เมื่อฉีดเข้าไปแล้วจะสร้างภูมิคุ้มกันไม่ให้มะเร็งกลับมาเป็นซ้ำ เบื้องต้นนำร่องศึกษาในกลุ่มยารักษามะเร็งสำไส้ และมะเร็งรังไข่

โครงการวิจัยนี้ต้องการงบสนับสนุน 2,000 ล้านบาทน่าจะดำเนินการต่อไปได้ตามเป้าหมาย จากปัจจุบันที่จุฬาฯ สนับสนุน 160 ล้านบาท เป็นค่าครุภัณฑ์ 50% จึงเกิดแนวคิดระดมทุนขึ้นมาโดยเชิญผู้ประกอบรายใหญ่เข้ามาร่วมลงทุน หรือการบริจาคเงินสนับสนุนผ่านทางคณะแพทยศาสตร์เพื่อการวิจัยจะสามารถหักภาษีได้ 2เท่า (facebook.com/CUCancerIEC)