'อดุลย์'เดือด! จนท.อมเงินคนชรา สั่งไล่ออกพนักงานสปส.

'อดุลย์'เดือด! จนท.อมเงินคนชรา สั่งไล่ออกพนักงานสปส.

รมว.แรงงานฉุนสั่งไล่ออกพนักงาน สปส. อมเงินคนชราทำเสียชื่อ บี้เอาผิดทั้งแพ่ง -อาญา เร่งเยียวยาผู้เสียหายทุกราย พร้อมขยายผลตรวจสอบ สปส.ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ทบทวนมาตรการอุดช่องโหว่หวั่นเกิดเหตุซ้ำรอย

จากที่กรณีข้าราชการ กระทรวงแรงงาน ร้องเรียนสามีเป็นผู้สูงอายุ ที่เป็นผู้ประกันตน มาตรา 40 ทางเลือกที่ 3 ของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ออมเงินชราภาพได้ประมาณ 1 หมื่นบาท เมื่อยื่นขอลาออกและขอเงินคืน ปรากฏว่าเงินส่งไม่ถึงมือจนสืบพบว่าพนักงานประกันสังคม พื้นที่ 3 กทม. เขตดินแดง ยักยอกเงินไปใช้เอง โดยยอมรับว่าทำมาแล้ว 4 ราย และกำลังถูกตั้งกรรมการสอบสวนความผิด

พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวในการประชุมศูนย์ปฏิบัติการกระทรวงแรงงาน (ศปก.รง.) ซึ่งมีผู้บริหารระดับสูงทุกกรม รวมทั้ง นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ร่วมประชุม โดยสั่งการถึงปัญหาพนักงาน สปส. ยักยอกเงินออมชราภาพของผู้ประกันตน ว่า เป็นการสร้างความเสียหายให้องค์กรมาก จึงให้ สปส. ไปเร่งดำเนินการ 4 ข้อ 1. ให้ไล่ออกพนักงานที่ทำการทุจริต 2. ให้ดำเนินคดีทั้งทางแพ่ง และอาญา เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง 3. หามาตรการเยียวยาผู้เสียหาย 4. สั่งตรวจสอบทั้งระบบว่ามีปัญหาลักษณะเดียวกัน เกิดขึ้นในสำนักงานอื่น ทั้งใน กทม. และต่างจังหวัดอีกหรือไม่ แล้วให้รายงานผลให้ทราบโดยเร็ว เพื่อรักษาความเชื่อมั่น โดยให้ผู้ประกันตนส่งข้อมูลร้องเรียนมาได้ที่ ตู้ ปณ.1 ปณฝ.ดินแดง กทม. 10400

นพ.สุรเดช กล่าวว่า สปส.ได้ดำเนินการทั้งคดีอาญา ทางแพ่ง และทางวินัย โดยสอบไปแล้ว 3 ครั้ง รวมทั้งมีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความผิดทางละเมิด ขณะนี้อยู่ในชั้นความผิดทางละเมิด เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาฟ้องร้องตามมา โดยจะเรียกคืนเงินให้ผู้ประกันตนทุกคนกลับคืนมา นอกจากนี้ ยังได้ออกมาตรการป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่หยิบจับเงินโดยใช้ระบบเข้ามาทำหน้าที่ในการจ่ายสิทธิประโยชน์แทน

สั่งสปส.จัดการทั้งวินัย-อาญา
ด้านนางเพชรรัตน์ สินอวย รองปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า พล.ต.อ.อดุลย์ ได้สั่งให้สำนักงานประกันสังคม ดำเนินการทั้งทางวินัยและอาญากับผู้กระทำผิดถึงที่สุดกับพนักงานราชการของสำนักงานประกันสังคม ที่ทุจริตเงินสมทบของผู้ประกันตน สืบเนื่องจากกรณีที่สำนักงานประกันสังคมเปิดให้ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป สมัครเป็นผู้ประกันตน ตามมาตรา 40 เพื่อสะสมเงินออมชราภาพ ตั้งแต่เดือน ธ.ค.2556 - ธ.ค.2557 และให้จ่ายสะสมย้อนหลังได้ถึง พ.ค.2555

ทั้งนี้ ผู้เสียหายรายหนึ่งได้สมัครทางเลือกที่ 3 ซึ่งจะได้รับสิทธิประโยชน์คุ้มครองกรณีชราภาพโดยจ่ายเดือนละ 100 บาท รัฐจ่ายสมทบอีก 100 บาท มีเงินเก็บสะสมอยู่เกือบ 1 หมื่นบาท ต่อมาได้ขอย้ายไป กอช. จึงได้ยื่นขอเงินคืนเมื่อวันที่ 3 ส.ค.2559 แต่จนถึงใกล้สิ้นปี 2560 ยังไม่ได้รับเงินดังกล่าว

เร่งเยียวยาผู้เสียหายทุกราย
นางเพชรรัตน์ กล่าวต่อว่า พล.ต.อ.อดุลย์ ได้สั่งเร่งเยียวยาผู้เสียหายที่ได้รับผลกระทบทุกราย ทันทีและให้สำนักงานประกันสังคม ทบทวนมาตรการทั้งระบบเพื่ออุดช่องโหว่ ไม่ให้มีการกระทำในลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นอีก อีกทั้งยังได้สั่งให้โฆษกกระทรวงแรงงาน และสำนักงานประกันสังคม ชี้แจงกรณีดังกล่าว เพื่อรักษาความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกันตน ในระบบประกันสังคม หากมีข้อร้องเรียนเพิ่มเติมผู้ประกันตนสามารถแจ้งเบาะแสมาได้ที่กระทรวงแรงงาน ตู้ ปณ.1 ปณฝ.ดินแดง กรุงเทพฯ 10400 หรือโทร สายด่วน 1506
เรื่องดังกล่าวสืบเนื่องจากข้าราชการกรมพัฒนาฝีมือแรงงานกระทรวงแรงงาน รายหนึ่งว่า สำนักงานประกันสังคม (สปส.) เปิดให้คนอายุ 60 ปีขึ้นไป สมัครเป็นผู้ประกันตน ตามมาตรา 40 เพื่อสะสมเงินออมชราภาพตั้งแต่เดือน ธ.ค.2556 -ธ.ค.2557 และให้จ่ายสะสมย้อนหลังได้ถึงเดือน พ.ค.2555 ซึ่งสามีของตนอายุกว่า 60 ปี จึงสมัครทางเลือกที่ 3 จะได้รับสิทธิประโยชน์คุ้มครองกรณีชราภาพโดยจ่ายเดือนละ 100 บาท รัฐจ่ายสมทบอีก 100 บาท มีเงินเก็บสะสมอยู่เกือบ 1 หมื่นบาท ต่อมา สปส. ได้ยุบเงินออมชราภาพให้ย้ายไปรวมกับกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) หากไม่ย้ายก็ให้สิทธิลาออกรับเงินคืน จึงได้ยื่นขอเงินคืนเมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2559 แต่รอจนจะสิ้นปี 2560 ยังไม่ได้เงินคืน จึงออกติดตามจาก สปส.จนรู้ว่ามีคนเบิกเงินส่วนนี้ไปใช้แล้ว และเป็นพนักงานราชการของสปส.เอง

เจ้าหน้าที่ยอมรับเงินคนชรา
ข้าราชการรายเดิม เปิดเผยต่อว่า ตอนลาออกได้นำหลักฐานของสามี พร้อมด้วยหน้าบัญชีธนาคารสมุดบัญชีเงินฝาก ไปยื่นเรื่องที่สำนักงานประกันสังคม กรุงเทพมหานคร พื้นที่ 3 (สปส.พื้นที่ 3 ดินแดง) ที่ตั้งอยู่ในกระทรวงแรงงานเพื่อให้โอนเงินเข้าบัญชี แต่เจ้าหน้าที่กลับบอกให้รอรับธนาณัติ ตามที่อยู่จะต้องส่งไปที่ไปรษณีย์หลักสี่ แต่เรื่องเงียบไป ด้วยความที่ตนเป็นข้าราชการ เห็นว่า สปส.เป็นหน่วยงานราชการเหมือนกัน จึงชะล่าใจไม่ติดตามเงินตั้งแต่ไม่ได้รับใน 90 วัน เพิ่งจะมาทวงถามจาก สปส. เมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาจนได้หมายเลขธนาณัติไปสอบถามจากไปรษณีย์หลักสี่ จนรู้ว่าธนาณัติถูกส่งวันที่ 17 ส.ค.2559 แต่กลับส่งไปที่ไปรษณีย์ดินแดง และเพียง 1 วัน ในวันที่ 18 ส.ค. 2559 มีคนมารับไปจึงเกิดความสงสัยว่าจะเป็นไปได้ เพราะคนอื่นจะรับแทนต้องมีหนังสือมอบอำนาจแต่มันก็เป็นไปแล้ว อยากรู้ว่ามีอะไรมากกว่านี้อีกหรือไม่ จึงขอเข้าพบผู้อำนวยการ สปส.พื้นที่ 3 ดินแดง ซึ่งแนะนำให้ไปแจ้งความแต่ตนอยากดูก่อนว่าจะมีการดำเนินการเรื่องนี้อย่างไร

“ เงินไม่ได้เยอะมาก กลัวจะกระทบกับหน้าที่การงานเพราะเราเป็นข้าราชการ แต่เงินก้อนนี้ สามีตั้งใจออม จึงอยากได้คืน ไม่รู้ว่าพนักงานของ สปส. แอบเอาเงินคนเฒ่าคนแก่ ไปใช้แล้วเท่าไหร่ยังมีคนชราอีกมาก ที่อยากได้เงินออมไว้ใช้ ขึ้นไปถามที่สำนักงาน เจ้าตัวยอมรับว่าเอาไปอ้างว่าไม่มีเงินใช้ ตอนคุยกันเขาร้องไห้ ยอมรับว่าทำมา 4 ราย ”