ททท.ปูพรมอีเวนท์เคาท์ดาวน์ปลุกใช้จ่าย 1.5 หมื่นล้าน

ททท.ปูพรมอีเวนท์เคาท์ดาวน์ปลุกใช้จ่าย 1.5 หมื่นล้าน

ททท.ปูพรมอีเวนท์ “อะเมซิ่ง ไทยแลนด์ เคาท์ดาวน์ 2018" กระจายเมืองหลัก-รอง 5 ภูมิภาคทั่วประเทศ ดันเม็ดเงินจับจ่ายเทศกาลปีใหม่สะพัดกว่า 1.5 หมื่นล้าน จับตาต่างชาติใช้จ่ายพุ่ง 30% ขณะที่คนไทยชะลอแผนเดินทาง เหตุไม่มั่นใจเศรษฐกิจ

งานเคาท์ดาวน์ ในวันส่งท้ายปีเก่า 31 ธ.ค. ถือเป็นอีเวนท์ใหญ่ประจำปีของประเทศไทยที่ไม่เพียงแต่การเฉลิมฉลองเข้าสู่ปีใหม่ของชาวไทยยังรวมถึงนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเยือนและร่วมส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ด้วยเช่นกัน

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า เทศกาลเฉลิมฉลองปีใหม่ปีนี้ ททท.วางธีมหลัก “อะเมซิ่ง ไทยแลนด์ เคาท์ดาวน์ 2018”  ปูพรมในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 30 ธ.ค.2560 - 1 ม.ค.2561 ภายใต้แนวคิด “5ช.” และ “4ส.” คือ ส่งเสริมนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ ชมชิมช้อปช่วยแชร์ บนพื้นฐานแห่งความสนุก ความมีเสน่ห์ ความสบาย และสุดแซ่บในพื้นที่ทั้งเมืองหลักและเมืองรอง

ปีนี้ ททท.จะเข้าไปสนับสนุนภาคธุรกิจหรือท้องถิ่นที่ดำเนินการด้วยตัวเองได้ดีอยู่แล้วใน 5 เมืองหลัก ได้แก่ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ พัทยา หาดใหญ่ และขอนแก่น แต่สำหรับพื้นที่ ที่ยังต้องได้รับการดูแลจะเข้าไปดำเนินการเองใน 5 ภูมิภาค เน้นการเข้าสู่ทั้งเมืองหลักและเมืองรองเพื่อกระจายรายได้ ประกอบด้วย ภาคเหนือ ที่จ.ลำปาง ภาคอีสาน จ.สกลนคร ภาคกลาง จ.กาญจนบุรี ภาคตะวันออก จ.ระยองและภาคใต้ จ.ภูเก็ต (บริเวณเมืองเก่า)

ปีใหม่สะพัด 1.55 หมื่นล้าน

สำหรับ 5 พื้นที่ที่เข้าไปสนับสนุนนั้นคาดว่าจะมีรายได้สะพัดกว่า 2,700 ล้านบาท โดยมีนักท่องเที่ยวรวมไม่ต่ำกว่า 5 แสนคนครั้ง กระตุ้นอัตราเข้าพักเฉลี่ยในพื้นที่สูง 70-88%

ทั้งนี้คาดการณ์การเดินทางท่องเที่ยวช่วงปีใหม่นี้ ซึ่งจัดทำโดยงานวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศและศูนย์วิจัยด้านการตลาดการท่องเที่ยว (TATIC) ของททท. ระบุว่า ไทยจะมีรายได้สะพัดรวม 1.55 หมื่นล้านบาท เติบโต13% เทียบช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แบ่งเป็นรายได้จากต่างประเทศ 6,570 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 30% จากการเดินทางเข้ามาของนักท่องเที่ยวต่างชาติด้วยจำนวน 4.2 แสนคน เติบโตกว่า 17% 

ขณะที่ตลาดคนไทยคาดการณ์ใช้จ่ายรวม 8,994 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2% มีจำนวนการเดินทางรวม 2.48 ล้านคนครั้ง ลดลงราว 4% เมื่อเทียบกับปีก่อน เป็นไปในทิศทางเดียวกับการคาดการณ์ของกระทรวงคมนาคม ระบุว่า การเดินทางช่วงปีใหม่จะลดลงราว 3.52%  ทางด้านสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) คาดว่าคนไทยมีแผนออกท่องเที่ยวรับปีใหม่ 2561 ลดลงราว 19%

“ตลาดในประเทศมีปัจจัยลบจากความกังวลในภาวะเศรษฐกิจ ประกอบกับหลายพื้นที่ประสบอุทกภัย ทั้งภาคกลาง และภาคใต้ บางส่วนจึงชะลอการเดินทางและสำรองงบประมาณไว้สำหรับการซ่อมแซมบ้านเรือน”

ภาคเหนือสร้างรายได้สูงสุดแต่โตถดถอย 

ด้านอัตราเข้าพักเฉลี่ยทั่วประเทศช่วงเทศกาลปีนี้คาดอยู่ที่ 75% จุดหมายที่สร้างรายได้สูงสุด ได้แก่ ภาคเหนือ มีส่วนแบ่งราว 1,800 ล้านบาท แต่เป็นอัตราติดลบ 11.21% เทียบปีก่อน โดยมีนักท่องเที่ยว 4.91 แสนคนครั้งลดลง 8.45%  สถานการณ์ใกล้เคียงกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่แม้ว่าจะคาดการณ์การเดินทางเข้าไปสูง 5.31 แสนคนครั้ง แต่เป็นอัตราลดลง 14.11% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน เช่นเดียวกับรายได้ที่ต่ำสุดในประเทศ 1,015 ล้านบาท ลดลง 7.22% เนื่องจากเศรษฐกิจฐานรากไม่ฟื้นตัว 

“ชาวไทยกลุ่มที่เดินทางกลับภูมิลำเนาใน 2 ภูมิภาคนี้ อาจชะลอแผนกลับบ้าน หรือเลือกเดินทางกลับไปหาญาติพี่น้องเท่านั้น ไม่มีกิจกรรมท่องเที่ยวเพิ่มเติม”

อย่างไรก็ตาม ภาคตะวันออกคาดว่าจะมีรายได้เติบโตถึง12.45% เป็น 1,600 ล้านบาท จากจำนวนนักท่องเที่ยว 4.27 แสนคนครั้ง เช่นเดียวกับภาคใต้ที่มีรายได้เติบโต 12.96% เป็น 1,500 ล้านบาท จากนักท่องเที่ยว 2.91 แสนคนครั้ง เพิ่มขึ้น 6.38% และกรุงเทพฯ คาดอัตราเข้าพักเฉลี่ยสูง 88% ด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทยกว่า 2.1 แสนคนครั้ง เพิ่มขึ้น 5.95% รับส่วนแบ่งรายได้ 1,785 ล้านบาท  เพิ่มขึ้น 7.12% เนื่องจากบรรยากาศท่องเที่ยวกลับสู่ภาวะปกติ หลายพื้นที่เริ่มจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองปีใหม่คึกคักและมีกิจกรรมหลากหลาย เช่น สวดมนต์ข้ามปี เคาท์ดาวน์ปีใหม่ การตกแต่งประดับไฟตามห้างสรรพสินค้าและสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ

เดินทางตปท.เติบโต 2-4%

 ส่วนตลาดต่างประเทศ จากการสำรวจการจองบัตรโดยสารล่วงหน้าจากระบบ ForwardKeys ระหว่างวันที่ 24 ธ.ค.2560-1 ม.ค.2561 ในภาพรวมยังเติบโต 2-4% เกือบทุกภูมิภาคมีแนวโน้มเติบโตดียกเว้นเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ มียอดจองเข้ามาชะลอลงเล็กน้อย ขณะที่การเปิดเที่ยวบินใหม่ในเดือน ธ.ค. พบว่ามีรวมกว่า 60 เที่ยวบิน/สัปดาห์ แบ่งเป็นเส้นทางจากจีนมากที่สุด 19 เที่ยวบิน มีจุดหมายปลายทางทั้งในภูเก็ต กรุงเทพฯ และกระบี่

รองลงมา ได้แก่ มาเลเซีย 11 เที่ยวบิน แบ่งเป็นเส้นทางจากปีนัง และกัวลาลัมเปอร์ ลงหาดใหญ่ 8 เที่ยวบิน และกัวลาลัมเปอร์-กรุงเทพฯ 3 เที่ยวบิน เวียดนาม 8 เที่ยวบิน ฟิลิปปินส์ 7 เที่ยวบิน อินเดีย 6 เที่ยวบิน และจากประเทศอื่นๆ ได้แก่ สหราชอาณาจักร กาตาร์ รัสเซีย สวีเดน มองโกเลีย รวมกัน 9 เที่ยวบิน

สำหรับตลาดที่เดินทางมาเที่ยวไทยเพิ่มสูงสุด ได้แก่ ออสเตรเลีย ขยายตัวกว่า 28.1% ฝรั่งเศส 22.6% สวิตเซอร์แลนด์ เพิ่มขึ้น 14.3% และอเมริกาเดินทางเข้ามาเพิ่ม 11.1% ส่วนประเทศในกลุ่มเอเชียที่เติบโตสูงในช่วงปีใหม่นี้ ได้แก่ ฮ่องกงเพิ่มขึ้น 13.9% อินเดียขยายตัว 13.3% ญี่ปุ่น เติบโต 8.8% ดังนั้นโดยรวมแล้วโซนโอเชียเนีย แอฟริกา อเมริกา เอเชียใต้ และอาเซียน ยังเติบโตดีในเกณฑ์ 9-30%

นายยุทธศักดิ์ กล่าวด้วยว่า การที่ตลาดคนไทยชะลอตัวลงบางส่วนอยู่ระหว่างรอดูสถานการณ์และตัดสินใจเดินทางท่องเที่ยวช้าลงและมักไปจองที่พักกันใกล้วันเดินทางมากขึ้นผนวกกับการประชาสัมพันธ์โครงการหรือกิจกรรมท่องเที่ยวยังไม่เป็นที่รับรู้มากนักคนไทยจึงลังเลระหว่างที่ระมัดระวังกับการใช้จ่าย