โอ้ว ! หอยน้ำพริก

โอ้ว ! หอยน้ำพริก

พบกับนักเขียน คอลัมภ์เท่าฝาหอย (ตอน5) เขาจะเล่าถึงเรื่องเปลือกหอยที่สัมพันธ์กับโลกและมนุษย์ทั้งมุมละเมียดละไมและมุมที่หลายคนไม่รู้

..................

หอยน้ำพริก Nerita (Linnerita) polita Linnaeus, 1758 หอยจากวงศ์ Neritidae เป็นหอยจากชายฝั่งทะเลที่น่าจะมีสีสันที่สวยงามฉูดฉาดบาดตา และหลากหลายลวดลายมากที่สุดอีกชนิดหนึ่งที่มนุษย์เคยรู้จักกินกันมา! 

ว่ากันว่าเป็นรอยต่อของวิวัฒนาการจากทะเลสู่บกของไฟลัมมอสลัสกานี้ทีเดียว!

บรรดาบรรพบุรุษของคนหลากสีผิวเผ่าพันธุ์ที่เคยเดินผ่านไป-มา ตลอดชายฝั่งแอฟริกาเบื้องตะวันออกนับเหนือจรดใต้ เลาะผ่านทะเลแดง ทะเลอาหรับ ชมพูทวีป อ่าวเบงกอล ทะเลอันดามัน และอีกนับสิบทะเลตลอดทั่วทั้งหมู่เกาะฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ไปจรดหมู่เกาะเมลานีเซีย ไมโครนีเซีย โพลีนีเซีย และทั่วทั้งออสตราเลเซีย ล้วนเคยกินหอยน้ำพริกผิวลื่น หรือที่ทางใต้ของไทยเรียกว่า “หอยลุ” กันมาก่อนทั้งนั้น 

ที่เรียกกันว่าลุ เพราะทางภาคใต้ของไทย ยามพลบค่ำน้ำลด หินและทรายที่สะสมอุณหภูมิระหว่างกลางวันที่ร้อนจัดจะกลับเย็นลง หอยลุที่ซ่อนกายใต้ผืนทรายเย็นฉ่ำเบื้องล่างจะมุดออกจากทรายมาหากินพวกสาหร่ายที่เจริญบนผิวหิน 

การถือคบเพลิงหิ้วตะเกียงออกไปส่องสัตว์ หาหอย แทงกุ้ง ทิ่มหมึก แทงปลา ในยามย่ำรุ่งและย่ำค่ำยามน้ำลด ทางใต้เรียกว่า “ออกไปลุสัตว์” 

บางทีหอยลุก็กินสาหร่ายสด ๆ เป็นอาหาร เนื้อหอยชนิดนี้จึงมีเสน่ห์เยี่ยมยอด นอกจากมีเนื้อที่กรุบกรอบกว่าหอยขม คือ มีคุณสมบัติของรสและกลิ่นที่ “หอมทะเล” อยู่ในเนื้อในตัว กินได้ทั้งยวงเนื้อแค่ปลิดฝาปิดออกจากเนื้อ ไม่ต้องกลัวเรื่องสาบคาวใด ๆ เพียงต้มน้ำให้เดือดโรยเกลือเล็กน้อย พอสุกฟองหยุดผุด รีบยกลง จิ้มกินกับ “น้ำพริก” ก็อร่อยเหาะแบบไทย ๆ

หอยชนิดนี้อาจเคยเป็นต้นแบบอัญมณีลูกปัดหินสีที่มนุษย์คิดค้นขึ้น หรืออาจเคยเป็นต้นลายผ้าสวยของหมู่เกาะชวาและมลายูแดนใต้ และอาจเป็นของพกของเล่นเด็กเล็กผู้ใหญ่ไทย เป็นนกหวีดชั้นดีจากธรรมชาติมาเนิ่นนานแค่ไหน ใครจะรู้ได้!?

บอกไปซื่อๆ จากใจ ไม่น่าเคยมีใครไม่บาดตาตรึงใจ ยามได้เพ่งพิศพิจารณาความสวยด้วยลวดลายละลานตาของหอยลุธรรมดาจากทะเลไทย!