รัฐบาลเร่งเดินหน้านโยบายจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

รัฐบาลเร่งเดินหน้านโยบายจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

"อธิบดีกรมการค้าภายใน" เผยรัฐบาลเร่งเดินหน้านโยบายบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้เกษตรกร

นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า จากกรณีที่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ประสบปัญหาจำหน่ายข้าวโพดได้ในราคาตกต่ำไม่ถึง 8 บาท/กก. ตั้งแต่เดือนกันยายน 2559 เป็นต้นมา เนื่องจากโรงงานอาหารสัตว์มีการนำเข้าข้าวสาลีมาใช้เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์เพื่อทดแทนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปริมาณมากนั้น ดังนั้น ปี 2560 รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยขอความร่วมมือโรงงานอาหารสัตว์ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑลให้รับซื้อข้าวโพดในพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ์ในราคา 8 บาท/กก. ณ ความชื้น 14.5% ส่วนในพื้นที่อื่นให้รับซื้อในราคาลดหลั่นตามระยะทาง ซึ่งไม่ใช่มาตรการประกันราคารับซื้อข้าวโพด

สำหรับการแก้ไขปัญหาการนำเข้าข้าวสาลี รัฐบาลกำหนดสัดส่วนการนำเข้าข้าวสาลีอัตรา 1 : 3 หากนำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วน ต้องรับซื้อข้าวโพดในประเทศ 3 ส่วน เพื่อเพิ่มปริมาณการรับซื้อส่งผลให้เกษตรกรจำหน่ายข้าวโพดได้ในราคาสูงขึ้นในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม มาตรการ 1 : 3 เป็นมาตรการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งขณะนี้กระทรวงพาณิชย์อยู่ระหว่างพิจารณามาตรการที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและเกิดผลกระทบน้อยที่สุดกับทุกภาคส่วนทั้งผู้เลี้ยงสัตว์ ผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เช่น มาตรการด้านภาษี เป็นต้น

ส่วนปี 2560 ราคาสุกรมีชีวิตและราคาไข่ไก่ตกต่ำ เนื่องจากปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้นเกินความต้องการของตลาด และภาวะการค้าปลีกในประเทศโดยรวมค่อนข้างชะลอตัว เช่นเดียวกับภาวะตลาดต่างประเทศ ทำให้การส่งออกซึ่งเป็นช่องทางจำหน่ายผลผลิตส่วนเกินมีปริมาณลดลง และเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้เลี้ยงสุกรและผู้เลี้ยงไก่ไข่ กระทรวงพาณิชย์ได้เพิ่มช่องทางการจำหน่ายให้ผู้เลี้ยงและผู้ประกอบการ โดยนำเนื้อสุกรและไข่ไก่มาวางจำหน่ายให้แก่ประชาชนโดยตรงผ่านจุดจำหน่ายของสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทุกจังหวัด เพื่อกระตุ้นการบริโภคเพิ่มขึ้นซึ่งจะช่วยลดปริมาณผลผลิตส่วนเกินได้ระดับหนึ่ง รวมทั้งขอความร่วมมือผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดเข้มงวดติดตามกำกับดูแลราคาขายปลีกสินค้าในตลาดสดให้สอดคล้องกับราคาผลผลิตหน้าฟาร์ม เพื่อไม่ให้มีการฉวยโอกาสปรับราคาสูงขึ้นเกินควร ซึ่งไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคและเป็นอีกปัจจัยที่จะทำให้การบริโภคเนื้อสุกรและไข่ไก่ลดลงจนส่งผลกระทบต่อผู้เลี้ยง