'หวยอลวน' กับสังคมไทย เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?

'หวยอลวน' กับสังคมไทย เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?

จับประเด็นร้อน! "หวยอลวน" กับสังคมไทย เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?

กรณี “หวยอลวน” ที่เมืองกาญจน์ ซึ่งมี “อดีตตำรวจ” กับ “ครูหนุ่มใหญ่” ออกมาอ้างสิทธิ์เป็นเจ้าของล็อตเตอรีรางวัลที่ 1 เลขชุด 5 ใบ มูลค่าถึง 30 ล้านบาทนั้น สามารถแย่งชิงพื้นที่ข่าวมาได้นานข้ามเดือน

ความสนใจของผู้คนพากันมุ่งไปที่ประเด็น “ใครคือคนที่ถูกหวยตัวจริงกันแน่?" แต่อีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่หลายคนกำลังตั้งคำถามไม่แพ้ประเด็นแรกก็คือ สังคมไทยมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?

ศ.สุริชัย หวันแก้ว อดีตผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งปัจจุบันรั้งตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง อธิบายปรากฏการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ว่า ที่ผ่านมาคนเรามักเชื่อว่าความเจริญทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีจะนำมาซึ่งความอยู่ดีกินดี ความสงบสุข และไม่แก่งแย่งเอาเปรียบกัน โดยลืมคิดไปว่าความเจริญแบบนี้ยังอยู่ในกรอบของโลกใบเดิม นั่นก็คือ “โลกทุนนิยม” ที่ส่งเสริมการบริโภคอย่างไร้ขีดจำกัด นำมาซึ่งการแสวงหาโอกาสในลักษณะ “มือใครยาว สาวได้สาวเอา” และใช้ความสามารถในการแปลงเทคโนโลยี แปลงข้อมูลข่าวสาร ให้เป็นประโยชน์กับตนเองและพวกพ้องมากที่สุด

เห็นได้จากคดีแก๊งคอลเซ็นเตอร์, คดีหลอกลวงทางออนไลน์, คดีแชร์ลูกโซ่ที่ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด ไม่เว้นแม้แต่คดี “ตกหวย” ที่กำลังเป็นข่าวดัง

คำถามใหญ่ที่อาจารย์สุริชัยตั้งเป็นโจทย์ไว้ให้คิดก็คือ แล้วรัฐบาล ในฐานะผู้คุมนโยบาย ได้มีสำนึกรับผิดชอบในการถือหางเสือสังคมนี้อย่างไร นอกเหนือจากการบังคับใช้กฎหมายไล่ตามอาชญากรรมที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นเพียงแค่ปรากฏการณ์ “โปลิศจับขโมย” ที่ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาที่ต้นตอ

“ถ้าจะเป็นรัฐบาลที่มีสำนึกผิดชอบชั่วดี และรู้ว่าสังคมของเราก็มีปุถุชนคนธรรมดาอยู่เยอะ รัฐบาลก็ต้องให้ความสนใจ ไม่มองแค่การปล่อยให้เอาประโยชน์จากการอยากมีอยากได้ของประชาชน รัฐบาลที่ดีต้องไม่เอาเงินจากที่ไหนก็ได้ ต้องกำกับอย่าให้เรื่องแบบนี้เป็นส่วนหลัก หรือเอาความสะดวกในการหาเงินเป็นที่ตั้ง”

แต่อาจารย์สุริชัยก็มองภาพสังคมไทยอย่างเข้าใจว่า มีความเป็นปุถุชน “รัก โลภ โกรธ หลง” หวังจะมี หวังจะได้ หวังจะรวยทางลัดอยู่ไม่น้อยเช่นกัน แต่รัฐบาลก็ไม่ควรส่งเสริม “การให้รางวัลแบบไม่ต้องลงแรง” อย่างสุดโต่ง เหมือนกับการเพิ่มเงินรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาลให้สูงๆ เข้าไว้ ทว่าต้องส่งเสริมทางเลือกใหม่ๆ เป็นรางวัลให้กับประชาชนด้วย โดยเน้นการพึ่งพาตนเองเป็นหลัก

"ควรจะหันมาสนใจกับสิ่งที่เรียกว่าคุณค่าของการทำงาน ระบบการเรียนทั้งหมดต้องส่งเสริมตรงนี้ ไม่ใช่ทำให้คนรู้สึกดีกับการได้ฟรี ได้ไปทางลัด ชอบได้รางวัล ผู้ใหญ่ที่ชอบใช้รางวัลเป็นของล่อใจก็ต้องทบทวน แม้แต่หวยก็เหมือนกัน ถ้าเล่นกันมากไปก็ไม่มีจบสิ้น ควรจะกำกับดูแลระดับหนึ่ง แล้วที่เหลือก็หันเหความสนใจไปในทางที่เหมาะสม”

“สมมติใครถูกรางวัลแล้ว นำเงินไปลงทุนโครงการสตาร์ทอัพของรัฐบาล หรือไปลงทุนเอสเอ็มอีได้ โดยรัฐบาลอำนวยความสะดวกให้เป็นพิเศษในบางเรื่อง แบบนี้น่าจะดีกว่า ไม่ใช่ปล่อยให้กองสลากหาเงินอย่างไรก็ได้แบบที่เป็นอยู่”

อดีตผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม บอกด้วยว่า การให้ความสำคัญกับการทำงาน และเงินรายได้ที่มาจากการลงแรง มีคุณค่ามากกว่าเงินทองที่แม้จะมากมาย แต่ได้มาอย่างง่ายๆ และฉาบฉวย

“สังคมที่เอาเงินนำหน้า ไม่เป็นผลดีกับใครเลย เงินที่ได้มาง่ายๆ ไม่มีคุณค่าอะไรเลยสำหรับอนาคต แม้จะดูเหมือนดีตอนได้มา แต่ความเคารพตัวเองก็ไม่มี เพราะไปแอบเอาของเขามา แต่สังคมเราตอนนี้ ใครมีชั้นเชิง สามารถหลอกคนอื่นให้เชื่อได้ ก็ไปหลอกเขา แล้วก็หลอกหรือโกงกันไปมา เราก็ติดพันอยู่ในระบบแบบนี้”

กรณี “หวยอลวน” คือภาพสะท้อนวิกฤติสังคมไทยที่หนักหนาสาหัสอยู่แล้ว ให้ดูสิ้นหวังหนักขึ้นไปอีก แต่วิกฤติเหล่านี้ก็ยังสามารถแปรเป็นโอกาสได้เช่นกัน หากทุกฝ่ายโดยเฉพาะผู้มีอำนาจในการกำหนดนโยบาย ช่วยกันดึงความสนใจของสังคมให้กลับมาอยู่ในร่องในรอยที่ถูกที่ควร