ถอดรหัสก.ม.พรรคการเมือง 'พรรคเก่า-ใหม่' ใครได้-เสีย?

ถอดรหัสก.ม.พรรคการเมือง 'พรรคเก่า-ใหม่' ใครได้-เสีย?

จับตา "คสช." ..ถอดรหัสกฎหมายพรรคการเมือง "พรรคเก่า-ใหม่" ใครได้-เสีย?

ก่อนถึงวันแก้ปัญหาทางเทคนิค ด้วยเทคนิคพิเศษ สูตรเฉพาะของ “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)” เพื่อให้ “พรรคการเมือง” ทำกิจกรรมทางการเมืองได้ ทันตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้ในบทเฉพาะกาล ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560

ปัญหาข้อหนึ่ง ที่ควรยกมาพิจารณาให้ถ้วนถี่ คือ มาตรการภาคบังคับของ“กลุ่มการเมืองหรือพรรคการเมือง”ที่ต้องไม่เกิดความได้เปรียบหรือเสียเปรียบระหว่าง พรรคการเมืองที่จดทะเบียนไว้แล้ว ทั้งที่เป็นพรรคขนาดใหญ่, พรรคเก่าแก่, พรรคขนาดกลางถึงเล็ก รวมถึง กลุ่มการเมืองที่เตรียมตั้งพรรคการเมือง

ต้องยอมรับว่า เจตนารมณ์ใหม่ของ “พ.ร.ป.พรรคการเมือง” มีภาคบังคับที่ชัดเจน ใน 3 ประการ คือ 1. กิจกรรมของพรรคการเมืองต้องเปิดเผย ตรวจสอบได้ 2.สมาชิกพรรคต้องมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางต่อกิจกรรมในพรรคทั้งการร่วมกำหนดนโยบาย การส่งผู้สมัคร ส.ส. ลงรับเลือกตั้ง และ 3.มีหลักประกันให้สมาชิกพรรคและพรรคทำงานได้โดยอิสระ ไม่ตกภายใต้การครอบงำ หรือถูกชี้นำจากบุคคลที่ไม่เป็นสมาชิกพรรค

ทำให้กลไกที่ถูกออกแบบไว้ใน 152 มาตราของ พ.ร.ป.พรรคการเมือง ถูกเขียนเพื่อเชื่อมโยงกับเจตนารมณ์ดังว่า โดยเป้าหมายสำคัญเพื่อปฏิรูปพรรคการเมือง

ทว่ามุมที่ส่อเป็นปัญหาสำคัญ คือ มาตรการว่าด้วย “สมาชิกพรรคการเมือง” เริ่มจาก มาตรา 140 ของบทเฉพาะกาล ที่รับรองสถานะสมาชิกพรรคของพรรคที่จัดตั้งก่อนกฎหมายตัวใหม่ใช้ยังคงเป็นสมาชิกพรรคต่อไปแถมได้รับสิทธิ์ยกเว้นไม่ต้องชำระค่าบำรุงพรรคครบทุกคน

ประเด็นนี้ ไพบูลย์ นิติตะวัน ผู้เตรียมจัดตั้งพรรคประชาชนปฏิรูป” มองจุดเสียเปรียบ คือ เกิดความสองมาตรฐานภายในพรรคและกลุ่มคนที่จัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ โดยเฉพาะภายในพรรคเก่าที่ สมาชิกพรรคซึ่งไม่ชำระค่าบำรุงพรรคจะได้สิทธิ์ร่วมในกิจกรรมของพรรคเท่ากับสิทธิ์ของผู้ชำระ ทั้งกำหนดนโยบายหรือการเลือกตั้งขั้นต้น (ไพรมารีโหวต) เพื่อหาผู้สมัคร ส.ส.ของพรรค นอกจากนั้นการสมาชิกของพรรคการเมืองตามกฎหมายฉบับเก่า เป็นกระบวนการรวบรวมรายชื่อแบบง่าย เพื่อให้ได้จำนวนมาก ซึ่งอาจได้จำนวนสมาชิกมาจากการแอบอ้าง โดยไม่คำนึงถึงจุดร่วมทางอุดมการณ์และการมีส่วนร่วมทางการเมืองของบุคคลผู้นั้น

“เมื่อเป็นเช่นนั้น พรรคการเมืองที่เตรียมจัดตั้งใหม่ จึงเสียเปรียบพรรคการเมืองที่จัดตั้งแล้วและที่สำคัญการจัดตั้งพรรคการเมืองกับ กกต. ในปัจจุบันพบว่ามีขั้นตอนที่ยุ่งยาก เสมือนต้องการกีดกันประชาชนที่มีอุดมการณ์การเมืองเดียวกันและต้องการจัดตั้งพรรคการเมือง ดังนั้นควรรีเซ็ตระบบสมาชิกพรรคทุกพรรค เพื่อให้ดำเนินการรับสมัครใหม่ตามกระบวนการกฎหมายใหม่”

ข้อเสนอนี้ หากมองด้วยความเป็นไปอาจไม่เป็นธรรมกับพรรคการเมืองในระบบที่ใช้ความพยายามหลายปี เพื่อสร้างศรัทธาและความนิยมในประชาชน

ดังนั้นข้อเสนอ “รีเซ็ตสมาชิกพรรค” จึงอาจเป็นจุดหนึ่ง ที่ดึงความเสียเปรียบพรรคการเมืองให้ลงมาใกล้เคียงที่สุด

ขณะที่มุมสะท้อนของพรรคการเมืองขนาดใหญ่ อย่าง“พรรคเพื่อไทย”หรือ“พรรคประชาธิปัตย์” นอนใจกับเรื่องนี้ เพราะเขาอาจได้เปรียบเนื่องจากมีเครือข่ายทำงานในพื้นที่และมีทุนส่วนตัวที่ใช้ลงพื้นที่เช็คลิสต์สมาชิกพรรคในภูมิภาคได้ ต่อให้จะมีฐานสมาชิก เกิน 2ล้านคน อย่างพรรคประชาธิปัตย์ ก็ไม่เป็นปัญหาเรื่องกรอบเวลา เพราะตามกฎหมายพรรคการเมืองกำหนดจำนวนที่เกินเกณฑ์ตรวจสอบไว้เพียง 500 คนภายใน 6 เดือน หรือ 1 หมื่นคนภายใน 4 ปี

แต่ในข้อบังคับของพรรคการเมือง ยังจำเป็นที่ต้องเช็คสถานะของสมาชิกให้ชัดเจน และถูกต้อง รวมถึงเป็นข้อเท็จจริงที่สมบูรณ์ ก่อนรายงาน “เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ฐานะนายทะเบียน” มิเช่นนั้นอาจได้รับบทลงโทษ ตั้งแต่ ปรับเงิน, จำคุก, ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี

เหตุที่ต้องบังคับความถูกต้อง จะโยงเข้าสู่ประเด็นที่ 2 คือ“การส่งผู้สมัคร ส.ส. ภายใต้ระบบไพรมารีโหวต”ที่พรรคต้องทำ ทั้งระบบเขตเลือกตั้งและ ระบบบัญชีรายชื่อโดยอาศัยจำนวนสมาชิกในแต่ละจังหวัด หรือเขตเลือกตั้งเป็นเกณฑ์ชี้วัดว่าใครจะได้ตัวแทน

ในประเด็นนี้ด้านสมาชิก พรรคใหญ่ที่มีสมาชิกมากเรียกว่าได้เปรียบ แต่พรรคเล็กหรือพรรคใหม่ อาจเสียเปรียบในกระบวนการ เพราะ1.จำนวนสมาชิกที่ลงคะแนนไม่มากพอ, 2.มีตัวแทนจังหวัดที่ไม่ครบ ไม่พร้อม ซึ่งพ่วงกับการตัดสิทธิส่งผู้สมัคร และนั่นจะผันเป็นผลกระทบลูกโซ่ต่อคะแนนพรรคที่จะไปคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ

ดังนั้นภายใต้ พ.ร.ป.พรรคการเมือง และรัฐธรรมนูญที่มีอคติสูงกับ สังคมของนักการเมือง ต่อให้เขียนกฎหมายเพื่อสร้างความได้เปรียบหรือเสียเปรียบให้กับคู่แข่งทางการเมืองอย่างไรต้องยอมรับอีกด้านด้วยว่า ของเหล่านั้นกำลังบั่นทอนพรรคการเมือง และกลุ่มการเมือง ที่เป็นเหมือนสถาบันและเวทีแสดงออกของประชาชนตามกระบวนการประชาธิปไตย