'สุรเกียรติ์' แนะจัดลำดับปม 'ยะไข่' เผยเข้าพบอองซาน ซูจี

'สุรเกียรติ์' แนะจัดลำดับปม 'ยะไข่' เผยเข้าพบอองซาน ซูจี

ประธานคณะมนตรีเพื่อสันติภาพและความปรองดองแห่งเอเชีย (เอพีอาร์ซี) แนะจัดลำดับปม "ยะไข่" เผยหลังเข้าพบ "อองซาน ซูจี"

สุทธิชัย หยุ่น ที่ปรึกษาเครือเนชั่น LIVE ผ่านเฟซบุ๊ค suthichai.yoon กับนายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย ประธานคณะมนตรีเพื่อสันติภาพและความปรองดองแห่งเอเชีย (เอพีอาร์ซี) ในฐานะประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาต่างประเทศฯเพื่อแก้ไขปัญหารัฐยะไข่

โดยนายสุรเกียรติ์ กล่าวว่า หลังเข้าพบกับนางอองซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐบาลเมียนมา เมื่อส.ค.ที่ผ่านมา โดยได้พูดคุยกันหลายเรื่อง ทั้งเรื่องสันติภาพในเขตทะเลจีนใต้ ซึ่งท่านที่ปรึกษา ก็เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศด้วย หรือเรื่องปรองดองกับการแก้ปัญหาความขัดแย้ง ในภาพรวมและที่เกิดขึ้นกับรัฐยะไข่ ซึ่งครั้งนั้นถือเป็นเพียงโอกาสที่ดีของการแลกเปลี่ยนความคิดเท่านั้น

จากนั้นคณะกรรมการที่ได้ทำการศึกษาหาแนวทางแก้ปัญหาในรัฐยะไข่ ที่มีนายโคฟี อันนัน อดีตเลขาธิการแห่งสหประชาชาติ เป็นประธาน ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลเมียนมา ได้ส่งมอบผลการศึกษานี้แก่รัฐบาลเมียนมา เมื่อวันที่ 24 ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งในเวลาต่อมา นางอองซาน มอบหมายนายอู่ตองตุน รัฐมนตรีความมั่นคง เดินทางมาพบและพูดคุยผมที่กรุงเทพฯ เมื่อประมาณต้นเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา โดยสรุปจากผลการศึกษาของนายโคฟี ที่ระบุแนวทางปฏิบัติในการแก้ไขปัญหาในรัฐยะไข่ มีประมาณ 10 เรื่องหลักๆ เพื่อให้คณะทำงานอีกชุดนำแนวทางที่เสนอไปสู่การปฏิบัติจริง โดยมีคณะที่ปรึกษาคอยให้คำแนะนำ

ขอเรียนตามตรงว่า ตกใจอยู่พอสมควรกับการเป็นประธานคณะที่ปรึกษา เพราะมันแตกต่างกันมาก ซึ่งการเป็นที่ปรึกษา เพียงการให้ความเห็นจากประสบการณ์ที่ผ่านมา แต่ประธานคณะที่ปรึกษาจะต้องทำบันทึกความเห็นต่างๆ จากการประชุมในทุกๆ ครั้ง แต่เมื่อพิจารณาแล้ว หากงานอะไรก็แล้วแต่พอเป็นประโยชน์พอเป็นประโยชน์กับภูมิภาคได้ ก็เป็นเรื่องที่ไม่น่าปฏิเสธ

นายสุรเกียรติ์ กล่าวอีกว่า สำหรับการให้คำปรึกษาแก่คณะกรรมการที่มีสมาชิกระดับรัฐมนตรีของเมียนมา ก็คงเป็นการให้คำแนะนำ เช่น สิ่งที่นำเสนอ ควรจัดลำดับก่อนหลังอย่างไร และในแต่ละเรื่อง ก็ไม่ใช่ง่ายที่จะดำเนินการ เพราะมันมีความขัดแย้ง ทั้งเชิงประวัติศาสตร์ เชิงพื้นที่ เชิงความมั่นคง หรือยังมีเรื่องที่ขาดความเข้าใจกันระหว่างปัญหาที่เกิดขึ้นกับสังคมระหว่างประเทศ

ยกตัวอย่าง คนที่ลี้ภัยแล้วกลับเข้ามาจะต้องมี Freedom of movement ฟังดูเหมือนง่าย แต่ในความเป็นจริง เช่น ในบางหมู่บ้าน ที่เคยมีเหตุปะทะกันอย่างรุนแรง การเผาทำลายทรัพย์สิน บ้านเรือนที่เกิดขึ้นแล้วจะให้กลับไปได้อย่างไร ใครจะมาช่วยสร้างบ้านให้กับผู้ลี้ภัยที่กลับเข้ามา หรือการให้การศึกษากับชนกลุ่มน้อยที่มีจำนวนนับล้านคน จะดำเนินการอย่างไร แต่ละแนวทางมีความยากอยู่ไม่น้อยที่จะทำให้ประสบความสำเร็จ ฉะนั้น เขาจึงอยากได้คำแนะนำว่า ควรดำเนินการอย่างไร อะไรควรทำก่อนหลัง จัดลำดับความสำคัญแล้วค่อยๆ ทำให้เกิดผลอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด

ส่วนข้อกังวลถึงการถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกลบกระแสด้านลบจากข้อกล่าวหาของนานาชาติ นายสุรเกียรติ์ กล่าวว่า จากการที่ได้เข้าพบนางอองซาน ที่บ้านพัก ในเมืองเนปิดอว์ เพื่อตอบรับคำเชิญพร้อมกับพูดคุย โดยนางอองซาน ระบุชัดเจนว่า จะให้อิสระกับคณะที่ปรึกษา ไม่ว่าการจัดเข้าพบกับทีมงานทุกๆ ฝ่าย พร้อมกับลงพื้นที่ในรัฐยะไข่ ถือว่าเป็นโอกาสที่ได้เปิดทางไว้ เพราะการให้อิสระจะทำให้คณะทำงานมีความน่าเชื่อถือ แม้ว่าจะทำงานให้รัฐบาล แต่ไม่ได้อยู่ใต้อาณัติของรัฐบาลหรือถูกจำกัดกรอบ ทิศทางในการทำงาน ซึ่งในทีโออาร์ ก็ได้เขียนไว้ชัดเจนถึงความอิสระในการทำงาน

นายสุรเกียรติ์ กล่าวว่า แน่นอนที่สุด ความเข้าในระหว่างสังคมระหว่างประเทศกับสิ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่ คงมีความแตกต่างกันพอสมควร แม้กระทั่งการเรียก “โรฮิงญา” โดยที่รัฐบาลเมียนมา มองว่า ในช่วงที่ไดัรับเอกราชจากอังกฤษ ได้แยกชนกลุ่มน้อยออกเป็น 8 กลุ่ม เช่น มอญ ไทใหญ่ คะฉิน เป็นต้น ที่แบ่งได้อีก 135 กลุ่มย่อยซึ่งไม่มี “โรฮิงญา” หรือต่อให้รัฐบาลต้องการเรียก “โรฮิงญา” เป็นกลุ่มที่ 136 แต่ทั้ง 135 กลุ่มก็ไม่เห็นด้วย เพราะพวกเขาได้ผ่านการเจรจากันมานานแล้ว

ชาวยะไข่เองยืนยันว่า พวกเขาอยู่รวมกันมานานในพื้นที่ ที่มีหลายศาสนา แต่การมีผู้อพยพจากบังกลาเทศเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ได้สร้างความครอบครัวจากรุ่นสู่รุ่น เป็นเหตุให้รัฐบาลเมียนมาพยายามเรียก คนในรัฐยะไข่ว่า “เบงกอล” ทำให้การมองปัญหามีมุมมองที่แตกต่างกันไป และเป็นเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม เผ่าพันธุ์ สัญชาติ

ส่วนการที่สหประชาชาติ หรือในหลายๆประเทศ มองว่า ปัญหาเกิดขึ้นจาก effect sensing หรือผลต่อการรับรู้ ถือเป็นความพยายามยืนยันความคิดของเขา ซึ่งก็ไม่จำเป็นหรือไม่ได้มีหน้าที่ในการไปตัดสินว่าใครผิดใครถูก แต่หน้าที่หลักคือการให้คำแนะนำ และหากรัฐบาลเมียนมาต้องการคลี่คลายปัญหานี้จริงๆ เขาก็ควรปฏิบัติตามแนวทางที่นายโคฟี่ เสนอไว้

นายสุรเกียรติ์ กล่าวว่า เบื้องต้นทราบว่าสมาชิกในคณะที่ปรึกษาคือใครบ้าง เช่น ท่านลอร์ดที่เป็นสมาชิกสภาสูงของอังกฤษ ซึ่งเคยเป็นรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ในช่วงที่นายกอร์ดอน บราวน์ เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งนางอองซานซูจี ต้องการให้มาช่วยเสนอความเห็นด้านสาธารณสุข ในรัฐยะไข่ หรืออดีตรัฐมนตรีจากแอฟริกาใต้ ที่มีประสบการณ์ที่ยาวนาน เป็นมือขวาของนายเนลสัน แมนเดลา ในการสร้างความปรองดองในโคโซโว

อย่างไรก็ตามแนวทางสำคัญส่วนหนึ่งที่ได้จากนายโคฟี คือ การร่วมกันเข้ามามีส่วนร่วมของประเทศต่างๆ ที่มีบทบาทในภูมิภาค เพื่อช่วยในการแก้ปัญหาแทนที่ต่างๆคนต่างประณาม โดยเฉพาะในกลุ่มอาเซียน ซึ่งในบางครั้งการกระทำหรือข้อมูลที่เผยแพร่อาจคลาดเคลื่อนไปบ้าง ฉะนั้น นี่คือส่วนหนึ่งของคำแนะนำที่จำเป็นต้องถ่ายทอดไปยังกับรัฐบาลเมียนมาควรดำเนินการอย่างไรต่อไป