ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน พ.ย. สูงสุดใน 33 เดือน

ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน พ.ย. สูงสุดใน 33 เดือน

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน พ.ย. ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 สูงสุดในรอบ 33 เดือน คาดส่งออกปีนี้ขยายตัว 8.5%

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แถลงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพ.ย.60 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพ.ย.60 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 โดยปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 76.7 เป็น 78.0 ในเดือนพ.ย.60 ซึ่งเป็นระดับที่สูงสุดในรอบ 33 เดือนนับตั้งแต่เดือนมี.ค.58 เป็นต้นมา ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคขณะนี้เป็นขาปรับขึ้น และผลจากมาตรการช้อปช่วยชาติ ซึ่งประเมินว่า ช่วยให้เกิดการใช้จ่ายประมาณ 15,000 ล้านบาทในระบบเศรษฐกิจ และการใช้จ่ายตามโครงการสวัสดิการแห่งรัฐ เดือนละ 5,000 ล้านบาท รวมถึงการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล จากปัจจัยเหล่านี้็จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยปีนี้ มีโอกาสขยายตัวได้ 4% ได้ ส่วนการส่งออกปีนี้คาดว่า จะขยายตัวได้ 8.5%

ส่วนเศรษกิจไทยในปีหน้า คาดว่า มีโอกาสโตต่อ โดยคาดว่า มีโอกาสขยายตัวในระดับ 4.5% ได้ ประเมินว่า จะมีเม็ดเงินจากหลายภาคส่วนเข้ามาเติมในระบบเศรษฐกิจไทยประมาณ 500,000-600,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังผลจากการการปรับคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ซึ่งภาพรวมแล้ว พบว่า ครม.ชุุดใหม่เน้นการทำงานลงสู่ฐานรากลงพื้นที่ตามเงิน ก็จะช่วยให้เม็ดเงินจะหมุนออกไปสู่ระบบเศรษฐกิจโดยเร็วขึ้น และจากการประสานงานท้องที่ตามโครงการประชารัฐ ส่วนการส่งออกปีหน้าคาดว่า จะโต 5%

สำหรับตัวจักรสำคัญในการเติมเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจไทยในปีหน้า 500,000-600,000 ล้านบาท ได้แก่ การท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวจากเอเชียจะเดินทางเข้ามาไทยมากขึั้น ทั้งในรูปแบบทัวร์และเข้ามาท่องเที่ยวด้วยตัวเองและจ่ายเงินมากขึ้น จำนวนนักท่องเที่ยวปีหน้า ทางศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอกาารค้าไทย คาดว่า จะมีจำนวนรวม 36-37 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีนี้ 2-3 ล้านคน ช่วยสร้างรายได้อีกประมาณ100,000 ล้านบาท

ด้านการส่งออกปีหน้า คาดว่า จะขยายตัวเกิน 5% ช่วยให้มีเม็ดเงินเข้ามาในประเทศเพิ่มขึ้นอีก 100,000 ล้านบาท ด้านการลงทุนของภาครัฐโดยเฉพาะการลงทุนในโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรือ อีอีซี ที่ภาครัฐน่าจะมีการจัดซื้อ จัดจ้าง ช่วยให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 200,000-300,000 ล้านบาท งบประมาณค้างท่อขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จะมีการใช้จ่ายออกมา 100,000-150,000 ล้านบาท การลงทุนเอกชนที่จะเพิ่มเติมเข้ามา และเม็ดเงินจากการใช้จ่ายตามมาตรการสวัสดิการแห่งรัฐระยะที่ 1 เติมเงินระบบเศรษฐกิจ 60,000 ล้านบาท หากมาตรการโครงการสวัสดิการแห่งรัฐระยะที่ 2 ออกมาเพิ่มเติม ด้านการจ้างงาน ฝึกอบรม การช่วยให้เข้าถึงสินเชื่้อ คาดว่าส่วนนี้ จะเติมเงินเข้าระบบเศรษฐกิจ 30,000-50,000 ล้านบาท บวกกับผลจากการเลือกตั้งแต่ระดับท้องถิ่นถึงระดับประเทศหากเกิดขึ้น จะข่วยให้เกิดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอีก 50,000-80,000 ล้านบาท