ลึกไปในถ้วย “กาแฟขี้ชะมด”

ลึกไปในถ้วย “กาแฟขี้ชะมด”

มากไปกว่าความสำเร็จทางธุรกิจ มีเบื้องหลังที่กำลังเติบโตไปพร้อมๆกัน

ถึงจะเป็นสายของวันทำงาน แต่ไร่กาแฟผืนนั้นกลับคับคั่งไปด้วยชาวบ้าน

มากไปกว่าไร่กาแฟขี้ชะมดแห่งแรกในจังหวัดนครพนมซึ่งมียอดจำหน่ายหลายล้านบาทต่อปี มีเจ้าของเป็นเพียงนักศึกษาชั้นปี 4 วัย 23 ปี… ถ้าทอดสายตาตั้งแต่ป้ายทางเข้า ถึงคอกม้าหลังไร่ ชาวบ้านคนหนึ่งใน ต.โพนจาน อ.โพนสวรรค์ จ.นครพนม บอกกับผู้มาเยือนว่า นี่คือความหวังที่จะทำให้ชุมชนอันแสนสงบและราบเรียบของพวกเขาคึกคักไปด้วยการท่องเที่ยว

ไร่กาแฟขี้ชะมด BlueGold Coffee เกิดจากไอเดียของ เกียรติศักดิ์ คำวงษา บัณฑิตหนุ่ม คณะการสร้างเจ้าของธุรกิจและการบริหารกิจการ จากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ซึ่งสร้างธุรกิจขึ้นมาด้วยตัวเอง ผ่านการลองผิดลองถูก ความอดทน และความสร้างสรรค์เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ของตนไม่ซ้ำใคร

หลังจากค้นหาต้นทุนที่มีอยู่ เขาตัดสินใจทำไร่กาแฟ โดยการหาที่ดินเปล่ามาปรับปรุงสภาพดิน ก่อนจะเริ่มทดลองปลูกกาแฟพันธุ์โรบัสต้า ซึ่งนำมาจากพื้นที่จังหวัดเลย เพราะมีความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ของตัวเอง ทั้งยังดูแลง่าย เหมาะกับเจ้าของไร่มือใหม่ที่มีกำลังทรัพยากรคนไม่มากนัก

“แต่ปลูกกาแฟธรรมดาคงจะสร้างมูลค่าได้ไม่เท่าไร ผมจึงศึกษา และพบว่าถ้าเราทำกาแฟขี้ชะมดมีโอกาสดีกว่ามาก สัตว์ประเภทนี้มีคุณสมบัติพิเศษ คือเมื่อชะมดกินผลกาแฟสุกเข้าไป กรดและเอนไซม์เฉพาะตัวในกระเพาะของชะมดจะทำปฏิกิริยาเคมีกับผลกาแฟ (ลักษณะคล้ายการหมักบ่ม) จนย่อยเปลือกและเนื้อของกาแฟให้เหลือเพียงกะลากาแฟซึ่งย่อยสลายไม่ได้ ก่อนที่ชะมดจะขับถ่ายออกมา เป็นเมล็ดกาแฟ”

“พอชะมดขับถ่ายออกจะถูกนำไปเข้ากระบวนการต่างๆ คือ คัดแยกเมล็ด ล้างตากแห้ง สี และคั่ว กระทั่งได้เป็นเมล็ดกาแฟขี้ชะมดที่มีลักษณะสีเหลืองทอง มีกลิ่นหอม เมล็ดกาแฟที่ผ่านการขับถ่ายของชะมดจึงทำให้กาแฟมีรสชาติอร่อย รสชาติกล่อมกล่อม หอม และมีคาเฟอีนต่ำกว่ากาแฟโดยทั่วไป ถือเป็นกาแฟเพื่อสุขภาพ และในประเทศไทยยังมีผู้ผลิตไม่มาก แต่กำลังได้รับความนิยมและมีราคาสูงมากในประเทศอินโดนีเซีย”

เมื่อเห็นช่องทางธุรกิจเช่นนั้น เขาจึงทำฟาร์มเปิดชะมดในไร่กาแฟ เริ่มจากการรับซื้อชะมดพันธุ์ที่ถูกกฎหมายจากชาวบ้าน หลักสิบตัวก่อน ซึ่งก็ได้ผลผลิตน้อยในตอนแรก เพราะมูลของชะมด1ตัว ให้ผลผลิตประมาณ 1.6 กก.ต่อปี เมื่อนำไปตากแดด จะเหลือ 1 กก.เท่านั้น เขาจึงค่อยๆขยายพันธุ์จนปัจจุบัน มีชะมดในไร่ประมาณ 300-400 ตัว

"แต่กว่าจะมีวันนี้ ผมก็พลาดมาเยอะนะ มันจึงเป็นประสบการณ์ตรง ควบคู่กับความรู้ ที่เราได้อาจารย์ในคณะที่เรียน ช่วยพาเราไปคุยกับเชฟเพื่อหารสชาติกาแฟที่ดีที่สุด หาคนออกแบบบรรจุภัณฑ์ สิ่งหนึ่งที่อาจารย์เน้นมาตลอดคือการสร้างความแตกต่างในเรื่องของรสชาติและกลิ่น ต้องหากระบวนการต้มกาแฟที่จะดึงรสชาติของความหอมของกาแฟออกมาได้ดีที่สุด ลูกค้าของกาแฟแบรนด์ผมส่วนมากเป็นโชว์รูมรถหรูที่สั่งผลิตเซตกาต้มกาแฟ (Moka Pot) และกาแฟขี้ชะมดเกรดพรีเมียมไว้ สำหรับแจกลูกค้าวีไอพี” เขา กล่าวถึงธุรกิจที่ทำรายได้เป็นกอบเป็นกำให้กับตัวเองและครอบครัว

ไม่แปลกหรอกที่คนรุ่นใหม่จะอยากทำธุรกิจ แต่จะทำอย่างไรให้สำเร็จและยั่งยืนต่อไปได้นั่นแหละคือคำถามที่สำคัญกว่า และองค์ประกอบอย่างหนึ่งที่เราสรุปร่วมกันสำหรับนักธุรกิจรุ่นใหม่ก็น่าจะเป็นการกัดไม่ปล่อยกับความฝัน ความทุ่มเทเอาจริงเอาจัง เวลาเดียวกับที่ความไม่มีอีโก้ สามารถยอมรับความผิดพลาด เพื่อพลิกฟื้นหาแนวทางใหม่ที่เหมาะสมกว่าได้

ดร.ศศิรินทร์ สายะสนธิ หัวหน้าภาควิชาความเป็นผู้ประกอบการ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ หนึ่งในโค้ชที่ปรึกษาทางธุรกิจของเกียรติศักดิ์ บอกว่า ศึกษาที่ดีไม่ใช่แค่การเรียน แต่คือการได้ทำจริงๆ และสำหรับการเป็นผู้ประกอบการนั้น นั่นหมายถึงการมี Entrepreneur Mindset (การคิดแบบผู้ประกอบการ) ซึ่งไม่ว่าบริบทจะเปลี่ยนเป็นเช่นไร ก็จะสามารถสร้างธุรกิจที่เปลี่ยนไปตามได้ เพราะมองปัจจัยแวดล้อม และโอกาสที่มีออก

“ถึงไม่ใช่กาแฟ เขาก็จะทำอย่างอื่นได้ เพราะเขจามองโอกาส มองปัจจัยแวดล้อมออก หลักสูตรของมหาวิทยาลัยเน้นการสร้างทักษะกาารคิดแบบนั้น เราเป็นพันธมิตรกับ Babson College สถาบันเก่าแก่แชมป์อันดับ 1 สาขาการเป็นเจ้าของกิจการของสหรัฐอเมริกา จนเกิดเป็นหลักสูตรของมหาวิทยาลัยที่มีเอกลักษณ์ซึ่งเรียกว่า BUSEM Way ด้วยการให้นักศึกษาได้คิด ฝึกสร้างไอเดีย ลงมือทำธุรกิจจริงๆ และต่อยอดธุรกิจอย่างเป็นลำดับขั้นตอน”

เยาวชนที่อยากเป็นเจ้าของธุรกิจหรือผู้ที่อยากเป็นเจ้าของกิจการ จึงไม่ใช่ยึดติดกับกรอบใดกรอบหนึ่ง แต่ต้องลองทำจากประสบการณ์จริงๆและรู้จักปรับตัวตลอดเวลา อาทิ ในหลักสูตรผู้ประกอบการฯ มีภาคบังคับให้รวมกลุ่มกันเพื่อทำธุรกิจจริง ด้วยการผลิตสินค้าออกจำหน่าย ซึ่งนักศึกษาที่ขาดทุนทรัพย์สามารถกู้ยืมเงินจากคณะได้กลุ่มละ 100,000 บาท หรือถ้าธุรกิจไหนไปได้ไม่ดี เขาก็ต้องรู้จักที่จะเลิก แล้วมองหาธุรกิจใหม่ แบบฝึกหัดนี้ช่วยปลูกฝังทักษะและวิสัยทัศน์ผู้ประกอบการตั้งแต่ยังอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย ลองผิดลองถูกเพื่อเสริมภูมิคุ้มกันสำหรับการทำธุรกิจในอนาคต

ที่สำคัญคือการปรับตัวเข้ากับโลกปัจจุบัน และมองถึงบริบทที่เชื่อมโยงกัน อย่างกรณีที่ไร่แห่งนี้ เกียรติศักดิ์ บอกว่า เป้าหมายคือการให้เป็นไร่กาแฟฟาร์มชะมดตัวอย่าง ซึ่งจะเป็นศูนย์เรียนรู้ในการส่งเสริมเกษตรกรในพื้นที่อย่างครบวงจร ที่สำคัญจะต้องเป็นเกษตรปลอดสารพิษ เนื่องจากกาแฟที่ปลูกจะต้องดูแลด้วยปุ๋ยอินทรีย์เท่านั้น เพราะหากมีสารพิษเจอปน ชะมดจะป่วยตายทันที และสิ่งแวดล้อมของชุมชนก็จะสูญเสีย

“ถ้าชาวบ้านในชุมชนปลูก เราจะประกันราคารับซื้อเข้าโรงงาน หรืออย่างพนักงานในไร่ เราจะให้โอกาสคนในชุมชนเข้ามาก่อน เพราะผมคิดว่าธุรกิจจะเติบโตได้ ต้องไปพร้อมกับชุมชน การมีโรงกาแฟที่ครบวงจร การสร้างแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ในจังหวัด ก็จะช่วยสร้างอาชีพสร้างรายได้ให้เกษตรกรในพื้นที่ มีรายได้เพิ่มจากการทำไร่ ทำนา”

ขุนไกร สุขสุมิตร นายอำเภอโพนสวรรค์ จ.นครพนม กล่าวตอนหนึ่งระหว่างให้การต้อนรับคณะผู้มาเยือนว่า ความสำเร็จจากไร่กาแฟ จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ชุมชนจะร่วมพัฒนาพื้นที่ ค้นหาต้นทุนและจุดเด่นที่มีอยู่แล้วในท้องถิ่น เช่น การทำเรือไฟ พระธาตุโพนสวรรค์ วัฒนธรรมชุมชนชาวไทโส้ สร้างเสน่ห์ดึงดูดให้ท่องเที่ยวเข้ามาในชุมชน เชื่อมโยงกับไร่กาแฟขี้ชะมด ที่กำลังได้รับความนิยมจากนักดื่ม

นอกไปจากธุรกิจของคนหนุ่มที่กำลังเดินตามฝัน ในถ้วยกาแฟขี้ชะมดซึ่งมีผลิตผลเมล็ดกาแฟราคาแพง มันจึงมีความหมายไกลไปกว่า แค่กาแฟ