นักวิชาการแนะหาทางออก พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครู

นักวิชาการแนะหาทางออก พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครู

นักวิชาการโคราช เสนอยกร่าง พรบ.ระเบียบข้าราชการครูใหม่ ชงเข้าที่ประชุม สนช.3 วาระรวด แก้ปัญหางัดข้อ ศธจ. เชื่อปรับ ครม.ศึกษาธิการใหม่แก้ปัญหาภาพรวมยังไม่จบแน่

เมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 60 ผศ.ดร.อดิศร เนาวนนท์ นักวิชาการมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เปิดเผยถึงกรณีความขัดแย้ง ระหว่างผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (ผอ.สพท.) และศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ว่า ปัญหาความขัดแย้งนี้ เป็นเรื่องของการแย่งชิงอำนาจ และผลประโยชน์ โดยมีจุดเริ่มต้นจากคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 19/2560 ซึ่งออกคำสั่งมาเพื่อต้องการปฏิรูปการศึกษาส่วนภูมิภาค และลดปัญหาการคอรัปชั่น โดยยุบคณะกรรมการบริหารงานด้านบุคคล สำนักงานเขตพื้นที่ และคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา หรือ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่ลง แล้วแต่งตั้งศึกษาธิการจังหวัด หรือ ศธจ. และศึกษาธิการภาค หรือ ศธภ. ขึ้น เพื่อบริหารงานด้านบุคคลแทน โดยเฉพาะ ศธจ.ซึ่งมีอำนาจหลายอย่าง เช่น สอบบรรจุ, แต่งตั้ง และโยกย้าย ผอ.โรงเรียนได้ ซึ่งอำนาจนี้แต่เดิมเป็นของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ดังนั้นจึงทำให้เกิดความขัดแย้งกันขึ้น กลายเป็นศึกชิงอำนาจระหว่าง ผอ.สพท. และ ศธจ. ในขณะนี้

ส่วนทางออกของปัญหานี้ ตนเห็นว่าควรจะทบทวนคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 19/2560 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหา ที่รัฐบาลต้องการนำมาใช้แก้ปัญหาการทุจริตในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา แต่ไม่ตอบโจทการแก้ปัญหาตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ แถมยังสร้างปัญหาใหม่ขึ้นมาเพิ่มอีก ดังนั้น คสช.จึงควรทบทวนคำสั่งดังกล่าว รวมทั้งต้องยกร่าง พรบ.ระเบียบข้าราชการครู ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของเขตพื้นที่การศึกษาขึ้นมาใหม่ โดยตั้งคณะกรรมการขึ้นมายกร่าง เพื่อนำเข้าสู่วาระที่ประชุม สนช. อย่างเร่งด่วนทั้ง 3 วาระรวด ไม่เช่นนั้นปัญหาความขัดแย้งนี้ก็จะไม่จบแน่นอน

ผศ.ดร.อดิศร กล่าวอีกว่า ในส่วนของการปรับ ครม.ชุดใหม่ โดยในกระทรวงศึกษาธิการได้ตั้ง นพ.อุดม คชินทร เป็น รมช.ศึกษาธิการ แทนที่หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล นั้น ตนเห็นว่าโดยภาพรวม ครม.ชุดใหม่นี้ ถ้าจะทำการปฏิรูปการศึกษาให้สมบูรณ์แบบคงจะเป็นไปได้ยาก เพราะมีเวลาทำงานน้อยแค่ปีเศษๆ ดังนั้นกลไกที่จะมีความต่อเนื่อง รัฐบาลชุดนี้มองไปที่คณะกรรมการปฏิรูปอิสระเพื่อการศึกษา ส่วนคณะรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการทั้ง 3 คน จึงมีหน้าที่ในการออกแบบ วางแผน ในเรื่อง พรบ. หรือกฎหมายที่เกี่ยวกับการศึกษาทั้งหมด ส่วน นพ.อุดม ก็คาดว่าจะเข้ามาวางระบบให้กับระดับอุดมศึกษา ขณะที่นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการก็คาดว่าจะอยู่ระหว่างเร่งวางระบบต่างๆ ให้กับระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และระดับอาชีวศึกษา แต่ที่ควรจะวางระบบเร่งด่วนคือ การศึกษาขั้นพื้นฐานในระดับส่วนภูมิภาค