Co-working Space เมื่อพื้นที่ทำงานอยู่นอกบ้านและสำนักงาน

Co-working Space เมื่อพื้นที่ทำงานอยู่นอกบ้านและสำนักงาน

Co-Working Space กับการทำงานไป จิบกาแฟไป

          เทรนด์ โค-เวิร์คกิ้ง สเปซ (Co-working Space) กำลังมา ที่ไหน ๆ ก็เปิด Co-working ตั้งแต่ร้านกาแฟ ร้านอาหาร บริษัทต่าง ๆ ศูนย์การค้า จนถึงโรงแรม ที่จัดพื้นที่พิเศษสำหรับคนทำงาน พร้อมอุปกรณ์สำนักงาน สามารถจัดประชุม สุมหัวสร้างความคิด จัดสัมมนา อีเว้นท์ จัดปาร์ตี้ดูหนัง-ฟังเพลง หรือจะนั่งคนเดียวอ่านหนังสือ ในต่างประเทศมีพื้นที่สำหรับ Child Care เอาเด็กมาเลี้ยงได้ บ้างก็มีมุมให้สัตว์เลี้ยงแสนรัก

          คนคิด Co-working บอกไว้ว่า บางทีการหลุดออกจากบ้าน หรือผลักตัวเองออกจากออฟฟิศแสนจำเจ จะกระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ เกิดไอเดียใหม่ ๆ บ้างก็บอกว่าการทำงานใน Co-working นั้นมีรสชาติแปลกใหม่ สร้างความตื่นเต้น

          Co-woking หรือ “พื้นที่ทำงานร่วมแบ่งปัน” เริ่มต้นขึ้นในอเมริกา มีบันทึกว่า แบร๊ด นูเบิร์ก (Brad Neuberg) เป็นผู้ริเริ่มทำ Co-working ที่ซานฟรานซิสโก เมื่อปี 2005 และเป็นคนคิดคำว่า “coworking” (เขียนติดกันไม่มีขีด) จากไอเดียว่าคนทำงานอิสระก็ต้องการพื้นที่ทำงานและอยากมีส่วนร่วมกับชุมชนด้วย เวลาต่อมา Co-working ก็ขยายไปสู่เมืองอื่น ๆ เช่น โอ๊คแลนด์, ซีแอทเทิล, พอร์ทแลนด์, วิชิตา (รัฐแคนซัส), นิวยอร์ก ต่อมาเมื่อปี 2008 เมืองบรุ๊คลิน ได้สร้างชุมชนคนทำงานในชื่อ Green Spaces ไม่นานนัก Co-working ก็แพร่สู่ยุโรปที่ฝรั่งเศส เยอรมนี อังกฤษ ในเอเชียมีที่ประเทศจีน ฮ่องกง ไต้หวัน สิงโปร์ อินเดีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และประเทศไทย ตามเมืองใหญ่ที่มีคนทำงานหลากหลายอาชีพและธุรกิจสตาร์ทอัพที่กำลังเติบโต

          Co-working มีหลายประเภทและหลายระดับ แต่คนไทยส่วนใหญ่จะนึกถึงร้านกาแฟที่มีพื้นที่เยอะ ๆ มีที่นั่งให้ชิลกับเครื่องดื่มแก้วโปรดพร้อมนั่งได้ทั้งวัน เช่น ธิงค์สเปซ บีทูเอส (Think Space B2S) จัดพื้นที่ความคิดสร้างสรรค์กว่า 3,000 ตร.ม. ที่เซ็นทรัล เฟสติวัล อีสต์วิลล์ เปิดใหญ่เอาใจคนรักหนังสือ กลุ่มนักเรียน คนทำงาน ให้เป็นจุดนัดพบและต่อยอดความคิดสร้างสรรค์

010  B2S-KORATre

   012 B2S-KORAT  B2S-KORATre        

       ปีนี้ พื้นที่นั้นออกจากเมืองกรุงไปโคราชที่ ธิงค์สเปซ บีทูเอส นครราชสีมา (Think Space B2S Nakhon Ratchasima) ซึ่งเป็นสาขาแรกของภาคอีสาน ในคอนเซปต์ Afterschool Community  พื้นที่ผสมผสานระหว่าง Knowledge กับ Creativity แบ่งเป็น  5 สเปซ ได้แก่ Lifestyle Book Space, Lifestyle Stationery Space, Play & Learn Space,  Artertainment Space และ Afterschool Networking Space บนพื้นที่กว่า 1,100 ตร.ม. ที่ชั้น 4 เซ็นทรัลพลาซ่า นครราชสีมา

          สมชัย ถาวรรุ่งโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีทูเอส จำกัด บอกว่า

          “จากความสำเร็จของ “ธิงค์สเปซ บีทูเอส” ที่เซ็นทรัล อีสต์วิลล์ ทำให้เรามีความเชื่อมั่นว่าเราสามารถตอบโจทย์ความต้องการทุกไลฟ์สไตล์ของลูกค้า เพราะไลฟ์สไตล์จะเป็นตัวกำหนดวิถีของผู้บริโภค เช่น การเดินเข้าร้านหนังสือในวันนี้จะไม่ได้แค่มาเลือกซื้อหนังสือหรือสิ่งของเท่านั้น แต่ร้านหนังสือจะต้องมีความครบครันเกินความคาดหวัง ทุกครั้งที่เช็คอินที่ร้านบีทูเอส จะช่วยเติมแรงบันดาลใจใหม่ ๆ โดยเฉพาะพื้นที่กิจกรรมที่สามารถค้นหาความมีศักยภาพของตัวเองจากทุกความชอบและความสนใจในเรื่องต่าง ๆ และตอบโจทย์ทุกความต้องการของทุกกลุ่มเป้าหมาย”

013 B2S-KORATre

           Think Space เมืองกรุงมีร้านกาแฟ ที่โคราชก็มี คลาส คาเฟ่ (CLASS Café)แบรนด์กาแฟสัญชาติไทยเชื้อสายอีสาน ก่อตั้งโดย มารุต ชุ่มขุนทด

          “เป็นโอกาสดีที่เข้ามาส่วนหนึ่งของบีทูเอสที่กล้าทำสิ่งใหม่ ๆ ซึ่งก่อนหน้านั้นบีทูเอสก็ได้เข้าไปอยู่ที่แฟลกชิพของร้านคลาส คาเฟ่ ที่สาขาวัดบูรพ์ มีมุมที่ขายหนังสืออยู่ด้วย ถือเป็นการแชร์ประสบการณ์ที่ดีร่วมกัน” เจ้าของร้านกาแฟอีสาน ออริจินัล กล่าวพร้อมเสริมว่า

004 B2S-KORATre

          “คลาส คาเฟ่ เปิดได้ 4 ปี มี 7 สาขาทั่วโคราช และที่บุรีรัมย์เป็นร้านสแตนด์อะโลน เกิดมาจากสำนึกรักบ้านเกิด ผมเป็นคนโคราช อยากทำให้โคราชเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ในด้านไลฟ์สไตล์ซึ่ง “ร้านกาแฟ” เป็นอีกหนึ่งไลฟ์สไตล์ที่ยังไม่มีในโคราช และวันนี้เราได้มาที่ Think Space บนพื้นที่  Afterschool Networking Space พื้นที่โค-ครีเอชั่นสเปซที่เป็นสาขาที่ 10”

          คลาส นำเสนอกาแฟ 3 รสพิเศษ ได้แก่ THINK COFEE,  THINK COCO, และ THINK Cafe’ Latte กาแฟลาเต้เบลนด์พิเศษที่เป็นซิกเนเจอร์ของคลาส “รอยัลเบลนด์” เป็นกาแฟบอดี้แน่น กลิ่นหอมฟุ้งของดอกไม้ รสชาติช็อกโกแลต ผสมผสานกับเบอร์รี่

       นอกจากกาแฟแล้ว คลาส คาเฟ่ ยังเป็นผู้เปิดเทรนด์ Co-working ในโคราช

      “จากความคิดว่าอยากสร้างแบรนด์ให้ภาคอีสานดูเท่ พอมาเปิดร้านกาแฟผมต้องมาตีโจทย์ใหม่ ไปเรียนชงกาแฟ และเปิดโรงคั่วกาแฟเองทำให้ลดต้นทุนได้มาก และสร้างแบรนด์ที่มีคาแรกเตอร์ทันสมัย เนื่องจากผมทำงานด้านมาร์เก็ตติ้งมาก่อนก็เลยสร้างการสื่อสารผ่านโซเชียล ลิงค์คนโคราชเข้าหากัน ตอนนี้ในกรุ๊ปมี 85,000 คน ที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย

       ผมตีความว่า.. ให้กาแฟเป็นสตาร์ทเตอร์ในการเริ่มต้นของวัน สร้างคาแรกเตอร์ของแบรนด์ให้กระฉับกระเฉง ปลุกพลังรับวันใหม่ เข้าไปในร้านมีเพลงของ “อีดีเอ็ม” และมีกาแฟพรีเมี่ยมที่เรามีโรงคั่วจึงทำราคาต่ำลงได้ เรามีกาแฟจากเอธิโอเปีย, บราซิล และมีความเป็นตัวตนชัดเจน”

       แล้วเมื่อเทรนด์ Co-working มาถึง คลาส คาเฟ่ จึงเป็นที่แรกสุดทันสมัยในโคราชที่คิดและทำก่อนใคร

       “ที่สาขาแฟลกชิพ (วัดบูรพ์) มีพื้นที่ 2,500 ตร.ม. เป็นตึก 4 ชั้น อาคาร 6 ห้อง เปิด 24 ชั่วโมง กลุ่มเป้าหมายคือคนทำงานมากหน่อยและนักศึกษาใกล้จบ ซึ่งเรามีสเปซ พ่อแม่บางคนพาลูกมาและทำงานได้ด้วย แต่คลาสสาขาอื่น ๆ ส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีคนวัยเด็ก ตลอด 4 ปี เรามองคนทำงานเป็นหลักจึงทำให้ได้กำลังซื้อ ทุกวันนี้ธุรกิจกาแฟทำยากมาก คนเข้ามาแล้วตายถึง 80% แต่ถ้าทำการตลาดดี มองเห็นโจทย์ที่ชัดเจน เช่นคลาสมีลูกค้ามาทุกวันแต่เช้า ให้กาแฟเป็นสตาร์ทเตอร์ สามารถเปลี่ยนความคิดคนโคราชที่ไม่จ่ายค่ากาแฟเกิน 50 บาท เพราะกินข้าวเหนียวหมูปิ้ง 30 บาท อร่อยและถูกกว่า”

class4

       เมื่อกาแฟเป็นสตาร์ทเตอร์แล้ว พื้นที่อันเหลือเฟือของแต่ละร้านก็เป็น Co-working ที่ไม่เก็บค่าใช้จ่าย

       “Co-working ของคลาสเริ่มเมื่อปีที่ 2 สำหรับคนไทยแล้วเขาไม่ค่อยจ่าย แต่ฝรั่งจ่าย เช่นแถวเอกมัย ทองหล่อ ที่เก็บค่าสถานที่เป็นฝรั่งทั้งนั้น ไม่ค่อยมีคนไทย เช่นสาขาวัดบูล ผมมีอาหารด้วย แฮมเบอร์เกอร์ราคา 270 บาท แต่หลังสามทุ่มครัวปิดขายมาม่า ไม่ได้อยากขายครับแต่อยากช่วย เพราะเป็นเวลาที่นักศึกษาเข้ามาใช้บริการ เรามีสเปซเยอะเข้ามาใช้เถอะ นั่นคือสิ่งที่แบรนด์ต้องเข้าใจลูกค้า

class1

      Co-working เกิดมาเพื่อคนเจนวายกับเจนแซด ที่มีไลฟ์สไตล์ออนไลน์ โดยเฉพาะเจนแซด เป็นคนที่โตมากับเทคโนโลยีที่สมบูรณ์แล้ว เขาจึงรู้สึกว่าเขาไม่ต้องตกอยู่ภายใต้องค์กรก็ได้ แต่จริง ๆ เขาไม่มีสตางค์นะ แต่มีไลฟ์สไตล์ใหม่ ซึ่งเกิดขึ้นที่อเมริกาก่อน จากวัฒนธรรมฟรีแลนซ์ในพื้นที่ใกล้ ๆ เอเจนซี่ดัง ๆ พวกฟรีแลนซ์ก็อยากเข้าไปทำงานอยู่ใกล้ ๆ และอยากคุยงานให้เท่ ๆ หน่อย ทีนี้จะนัดมาคุยในคอนโดแต่งชุดนอนก็ไม่ใช่ เลยนัดไปคุยกันในร้านกาแฟ เลยเกิดวัฒนธรรมเช่าพื้นที่แล้วคุยกับลูกค้าได้ก็เลยบูมขึ้นมา เพราะคนเจนนี้ชอบทำงานอิสระ มีปลั๊ก มีอินเตอร์เนท มีที่ส่วนตัว คือสิ่งที่เขาอยู่ได้ แต่สิ่งที่สวนทางสำหรับบ้านเราคือเขาไม่มีกำลังจ่าย เช่นในเมืองไทยให้จ่ายวันละ 300 บาท คนไทยไม่ไหว แต่ฝรั่งบอกว่าราคา 10 ดอลล่าร์ นิดเดียวเอง ในขณะที่ Co-working กำลังดังด้วยแนวคิดว่าคือสถานที่ที่คนมาใช้ชีวิตแต่ไม่ใช่ออฟฟิศ กระทั่งในนิวยอร์ก บริษัทใหญ่ ๆ อย่างไอบีเอ็ม, ไมโครซอฟต์ เริ่มรู้สึกว่าพนักงานต้องมานั่งในที่อย่างนี้ถึงจะดี”

       แล้วเมื่อ “กาแฟ” เข้าไปอยู่ใน Co-working เจ้าของร้านกาแฟจึงต้องงัดสารพัดกลยุทธ์เพื่อให้ธุรกิจอยู่รอด ในวัฒนธรรมแบบไทย ๆ  (ที่ไม่จ่าย)

       “ผมลดต้นทุนกาแฟเพราะมีโรงคั่วเองจึงขายกาแฟพรีเมี่ยมในระดับที่จับต้องได้ เช่น เขาขาย 150 ของเรา 100 เราอยู่ได้ ในขณะที่บอกว่าจ่ายมา 300 บาท ต่อวัน นั่งตบยุงเลยนะครับไม่มีใครเข้าร้าน และเดี๋ยวนี้โน้ตบุ๊ค แทปเลต พาคนไปได้ทุกที่ นั่งตรงไหนก็ทำงานได้ ร้านกาแฟจึงต้องปรับให้เข้าถึงไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ให้ได้”

       “กาแฟ” เชื่อมต่อกับ “สเปซ” แต่การบริการก็ต้องโดนใจคนทุกเจน...

       “การบริการของเราคือจะไม่เก็บแก้วจนกว่าลูกค้าเดินออกจากร้าน คือพอเสิร์ฟแล้วเดินหนีเลย จะไม่กดดัน ไม่ไปถามว่ารับอะไรเพิ่มมั้ย ? เรามีปลั๊กไฟให้ มีอินเตอร์เนทความเร็วสูง เป็นเทรนด์ดิจิทัลที่เรามองว่าคนอยากเข้ามาอ่านหนังสือหรือเซิร์ชชิ่งออนไลน์สินค้ามากกว่าออกไปเดินห้าง และคนที่มาคลาส เขามองหาสเปซและดื่มกาแฟด้วย กลายเป็นส่งที่ทำงานร่วมกัน ขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้เลย เราต้องทำหน้าที่ทั้งสองอย่างคือเติมพลัง (ด้วยกาแฟ) และมีอุปกรณ์ เช่น โต๊ะเก้าอี้ที่นั่งสบาย มีพื้นที่ไพรเวทที่นั่งทำงานได้”

      แต่ถ้ามีพื้นที่แล้วกาแฟไม่อร่อย หรือกาแฟอร่อยแต่ไม่มี “สเปซ” ก็ไม่ใช่อีก

      “เมื่อมาเปิดร้านกาแฟ ผมไปเรียนเรื่องกาแฟเป็นหลักสูตรของต่างประเทศ เรียนโครงสร้างเมล็ดกาแฟ นมตั้งแต่ออกจากตู้อุณหภูมิเท่าไหร่ ถ้าสตีมเกินโปรตีนเปลี่ยนจะเกิดอะไรขึ้น เราอยากให้กาแฟไม่มีกลิ่นไหม้ อยากได้กาแฟที่ไม่มีคาร์บอน เราอยากให้กาแฟเราแตกต่างโดยการสร้างคัลเจอร์ของเราเอง เช่น สาขานี้เปิด 7 โมงเช้าก็ต้องเป๊ะ หมอออกกะมาแล้วต้องเจอคลาสเสมอนะ ปิดสองทุ่มก็ต้องตรงเวลา สาขาไหนเปิด 24 ชั่วโมง กาแฟต้องพร้อมชงตลอดเวลา

          ผมเรียนเรื่องกาแฟพร้อมส่งทีมไปเรียนเรื่องคัพปิ้ง การชิมกาแฟเป็นเรื่องของเคมีแล้ว บอกได้ว่าไม่อร่อยเพราะอะไร เราวัดค่าพีเอชของน้ำ ถ้ามีกรดสูงรสกาแฟจะเพี้ยน เราใช้น้ำตาลโมเลกุลเดี่ยวที่เป็นฟรุคโตสไซรัป ที่จะจับความรู้สึกได้เร็วตั้งแต่รสชาติแรก จากไซรัปเข้มข้นสูงสั่งตรงจากโรงงาน เราไม่หวงน้ำเชื่อม พนักงานจะถามลูกค้าก่อนว่าดื่มแบบไหน ทุกอย่างจบที่บาริสต้า เมื่อกาแฟมาถึงไม่ต้องรอให้หายร้อนสามารถดื่มได้เลย เราวัดอุณหภูมิว่ากาแฟที่ดีต้องอยู่ที่ 65 องศา เป็นอุณหภูมิที่มือจับ ถ้า 94 องศาอยู่ที่ตอนทำช็อต แต่นมจะอร่อยอยู่ที่ 65 องศา เพราะถ้าเสิร์ฟกาแฟแล้วต้องรอให้หายร้อนจะเป็นกาแฟที่โปรตีนเสียแล้ว โดนทำลายไป ทุกอย่างในคลาสเป็น food science ทั้งหมด”

          ยังมี “นม” ที่ขอแตกต่างด้วยใช้นมจากฟาร์มนม มหาวิทยาลัยสุรนารี

          “เราต้องการนมที่ความเข้มข้นเท่านี้ โปรตีนเท่านี้ เพื่อสตีมแล้วเกิดลาเต้อาร์ทสวย ๆ แม้กระทั่ง “หลอด” เราก็ปรับให้เล็กลง 1 มิลลิเมตร ลดระดับลงเพื่อให้ได้ความเข้มข้นที่สูงขึ้น หลอดทั่วไป 6 มิล ของเรา 5 มิล ถ้าปั่น 7 มิล กระดาษที่ใช้ต้องเป็นระดับเดียวกับห้างแฮร์รอดส์ที่อังกฤษ เราจะไม่นุ่งผ้าถุงเหมือนคนอื่น กาแฟคลาสต้องเอามือห่อแล้วเห็นแบรนด์แลบออกมา เสร็จแล้วกระดาษก็เอาไปใช้ต่อได้ ในรถยนต์จะเห็นทิชชู่คลาสเพราะเขาไม่อยากทิ้ง กลายเป็นแบรนด์ที่จะอยู่กับลูกค้าตลอดวัน”

          คลาส เติบโตเร็วภายในเวลา 4 ปี บางสาขามีอาหารบริการด้วย นักการตลาดเล่าว่า เมื่อจับมุมมองด้านมาร์เกตติ้งเข้าไป ร้านกาแฟของเขาจึงต้องเปิดก่อนเพื่อดักลูกค้า

class10

  class12    

        “แบรนด์ดังในโคราชเปิด 10 โมง ในห้าง ผมเปิด 7 โมง พร้อมสร้างดีมานด์ใหม่คือ มาช่วงเช้าลด 20% เหลือ 59 บาท คนโคราชเริ่มจ่าย เมื่อเราไพรซ์ซิ่งลงมาจนถึงดีมานด์ ตอนเช้าคนก็มารอเต็มหน้าเคาน์เตอร์ ตอนนี้ 60% ของยอดขายเกิดขึ้นก่อน 10 โมงเช้า สิ่งที่เราทำทุกอย่างเราเล่าให้ทุกคนฟัง ไม่เป็นความลับ แค่อยากให้ลูกค้ารู้ว่าเราใส่ใจมาก ๆ

      ทุกอย่างคัดสรร พิถีพิถัน เป็นแบรนด์ที่เลือกทุกอย่างด้วยความเยอะของเราเอง”

หมายเหตุ : CLASS Café มี 8 สาขาในโคราช ได้แก่ ถนนจอมสุรางค์ยาตร์, มหาราช, วัดบูรพ์, คลังพลาซ่า, เดอะมอลล์, เซฟวัน, ราชสีมา, เซ็นทรัล นครราชสีมา และที่บุรีรัมย์ FB:/CLASS Café