หนอนนิวกินี...โจทย์วิจัยใหม่จาก สกว.

หนอนนิวกินี...โจทย์วิจัยใหม่จาก สกว.

นักวิจัย สกว.หวั่นคนไทยตื่นตระหนกหนอนตัวแบนนิวกินี ส่งผลกระทบหนอนตัวแบนชนิดอื่นๆ ในไทยถูกคุกคามเกินกว่าเหตุ และส่งผลต่อความสมบูรณ์ของระบบนิเวศในระยะยาวได้

สกว.จับมือจุฬาฯ-สกอ. แถลงโครงการวิจัย “หนอนตัวแบนนิวกินี” เพื่อให้ความรู้และควบคุมสัตว์ต่างถิ่นรุกราน ซึ่งจะเป็นแนวทางการวิจัยเพื่อให้ความรู้แก่สังคม ควบคุมการระบาดและเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ นักวิจัยเตือนปชช.อย่าตื่นตระหนักมากเกินไปชี้การประเมินระดับความรุนแรงการรุกรานของหนอนต้องอาศัยการศึกษาผลกระทบต่อระบบนิเวศ และชนิดพันธุ์ของหอยทากหรือเหยื่ออื่น ๆ ในท้องถิ่นอย่างรอบด้าน 

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านความหลากหลายทางชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกันแถลงข่าว “หนอนตัวแบนนิวกินี: แนวทางการวิจัยเพื่อให้ความรู้แก่สังคม และเพื่อการควบคุมการระบาด” เพื่อกำหนดแนวทางการจัดทำโครงการวิจัยให้ความรู้และควบคุมสัตว์ต่างถิ่นรุกราน “หนอนตัวแบนนิวกินี” แก่สังคมวิชาการและประชาชนทั่วไป 


ศ. ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ สกว. กล่าวถึงแนวทางการสนับสนุนทุนวิจัยพื้นฐานนำไปสู่การสร้างความรู้ที่ชัดเจน ตลอดจนการพัฒนาเป็นองค์ความรู้ในหลายมิติ เพื่อช่วยให้การควบคุมสิ่งมีชีวิตต่างถิ่นรุกราน (Invasive Alien Species) ถูกต้องตามหลักวิชาการสากล ซึ่งจากการปรึกษาหารือร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและหลายภาคส่วน ได้เล็งเห็นความจำเป็นในการสนับสนุนการสร้างองค์ความรู้เชิงลึกเกี่ยวกับหนอนนิวกินี ที่จะนำไปสู่การป้องกัน ควบคุม และกำจัดสิ่งมีชีวิตต่างถิ่น 


 ขณะที่ ศ. ดร.สมศักดิ์ ปัญหา ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สกอ. และอาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวสรุปเรื่องของหนอนตัวแบนนิวกินี และผลกระทบต่อการสูญพันธุ์ของหอยทาก ว่า หนอนตัวแบนชนิดนี้สามารถล่าหอยทากบกเป็นอาหาร ทำให้มีการนำเข้าหนอนดังกล่าวเพื่อช่วยกำจัดหอยทากยักษ์แอฟริกา Achatina fulica ในประเทศญี่ปุ่นและฟิลิปปินส์ 

สำหรับสถานการณ์ของหนอนตัวแบนนิวกินีที่เริ่มมีการรายงานในประเทศไทย รวมถึงสิ่งมีชีวิตต่างถิ่นรุกรานชนิดอื่น ๆ ที่รู้จักและรับทราบกันเป็นเวลายาวนาน เช่น หอยเชอรี่ ปลาซัคเกอร์ ต้นไมยราพยักษ์ ผักตบชวา ต้นบัวตอง เป็นต้น ทำให้การศึกษาวิจัยขั้นพื้นฐานด้านสิ่งมีชีวิตต่างถิ่นรุกรานมีความสำคัญอย่างยิ่ง ทั้งนี้ ชนิดพันธุ์ต่างถิ่น (introduced/alien species) ทุกชนิดไม่ได้ถือว่าเป็นชนิดที่รุกรานทั้งหมด การกำหนดว่าชนิดใดเป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกราน (invasive species) จะต้องพิจารณาจากคุณสมบัติต่างๆ เช่น มีการระบาดหรือแพร่กระจายรวดเร็วหรือไม่ มีการเพิ่มจำนวนประชากรอย่างรวดเร็วหรือไม่ และมีผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งมีชีวิตท้องถิ่นหรือไม่ องค์ความรู้เหล่านี้จะต้องมาจากการศึกษาวิจัยโดยใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์อย่างถูกต้อง และการประเมินพื้นที่ที่เคยได้รับผลกระทบจะเป็นข้อมูลสำคัญที่จะนำมาใช้เป็นแนวทางการวางแผนการป้องกันในอนาคตได้ 


“การประเมินระดับความรุนแรงการรุกรานของหนอนตัวแบนนิวกินีจะต้องอาศัยการศึกษาผลกระทบต่อระบบนิเวศ และชนิดพันธุ์ของหอยทากหรือเหยื่ออื่น ๆ ในท้องถิ่นอย่างรอบด้าน และการตื่นตระหนกมากเกินไปของสังคมอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดและกำจัดหนอนชนิดอื่นที่เป็นชนิดท้องถิ่น ซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อระบบนิเวศแทน เช่น หนอนหัวค้อนและหนอนริบบิ้น ที่มีสีและลักษณะลำตัวที่แตกต่างกันกับหนอนตัวแบนนิวกินี แต่มีบทบาทเป็นผู้ล่าและช่วยควบคุมปริมาณของสัตว์หน้าดินให้มีปริมาณที่เหมาะสมเช่นเดียวกัน รวมทั้งยังเป็นอาหารของสัตว์ขนาดใหญ่ชนิดอื่น ๆ เช่น นกและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมฟันแทะ ด้วยเหตุนี้ ความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องและความตื่นตระหนกที่มากเกินไปอาจทำให้หนอนตัวแบนชนิดอื่นๆ ในประเทศไทยถูกคุกคามเกินกว่าเหตุ และส่งผลต่อความสมบูรณ์ของระบบนิเวศในระยะยาวได้”

สกว. และศูนย์ความเป็นเลิศด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สกอ. เห็นความสำคัญในการร่วมมือเพื่อให้เกิดการศึกษาวิจัยความรู้พื้นฐานของสิ่งมีชีวิตต่างถิ่นที่รุกรานเหล่านี้อย่างเร่งด่วน และจัดทำประเด็นวิจัยตามแนวทางสากลในระบบนิเวศของประเทศไทยและภูมิภาค เพื่อให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่สังคมและเพื่อการควบคุมการระบาด เช่น การพิสูจน์เอกลักษณ์ของชนิดพันธุ์ด้วยวิธีการทางสัณฐานวิทยาและอณูชีววิทยา (ความสัมพันธ์ของดีเอ็นเอ) การวิเคราะห์สัตว์ที่เป็นเหยื่อของหนอน เพื่อเผยจุดแข็งจุดอ่อนของหนอนตัวแบนชนิดนี้ในด้านชีววิทยาแขนงต่าง ๆ เช่น พฤติกรรมและนิเวศวิทยา 


เพื่อสนับสนุนแนวทางการวิเคราะห์แผนควบคุมซึ่งจะนำไปสู่การเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์แพร่กระจายในปัจจุบัน-อนาคต รวมถึงทราบทิศทางการแพร่กระจายตั้งแต่อดีต การศึกษาผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตท้องถิ่นและมนุษย์ การเปรียบเทียบพื้นที่การแพร่กระจายในพื้นที่ถิ่นอาศัยของมนุษย์และพื้นที่อนุรักษ์จากข้อมูลวิจัยพื้นฐานที่ดำเนินการอย่างเข้มข้นต่อไป


“แนวทางปฏิบัติสำหรับประชาชนทั่วไป ให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรง หากต้องการกำจัดให้ใช้เกลือโรย หรือใช้น้ำร้อนเทราด ห้ามกำจัดโดยการสับหรือทุบเพราะลำตัวสามารถงอกใหม่ได้ สำหรับภาคเกษตรกรรมนั้นปัจจุบันถือว่าไม่ได้เป็นศัตรูทางการเกษตร แต่ต้องเฝ้าระวังและสำรวจบริเวณแปลงเกษตรกรรมเพื่อประเมินผลกระทบ อีกทั้งควรมีการตรวจเช็คและห่อบรรจุภัณฑ์ให้เรียบร้อยก่อนการขนส่ง” เมธีวิจัยอาวุโส สกว. กล่าว

ทั้งนี้ หนอนชนิดนี้ถูกจัดให้เป็น 1 ใน 100 ชนิดสิ่งมีชีวิตต่างถิ่นรุกรานของโลก (World’s Worst Invasive Alien Species) เนื่องจากมีรายงานว่า หนอนดังกล่าวล่าหอยทากบกพื้นถิ่นเป็นอาหารด้วยเช่นเดียวกัน ทำให้จำนวนและความหลากหลายของหอยทากบกในพื้นที่นั้นลดลง นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าหนอนชนิดนี้สามารถล่าไส้เดือนดิน หนอนริบบิ้น หนอนตัวแบนชนิดอื่น ๆ เหาไม้ รวมทั้งสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังหน้าดินขนาดเล็กเป็นอาหารได้ ส่งผลต่อความหลากหลายทางชีวภาพและความสมบูรณ์ของระบบนิเวศในระยะยาว 

หนอนตัวแบนนิวกินีขยายพันธุ์โดยการวางถุงไข่ ภายในมีตัวอ่อน 3-9 ตัว โดยใช้เวลา 6-9 วันในการฟักจากถุงไข่ และเมื่อผ่านไป 3 สัปดาห์หนอนนิวกินีจะเจริญเป็นตัวเต็มวัยพร้อมที่จะสืบพันธุ์ได้อีกครั้ง จากรายงานพบว่าหนอนชนิดนี้มีอายุขัยได้ถึง 2 ปีในห้องปฏิบัติการ นอกจากนี้หนอนตัวแบนนิวกินียังมีกลไกการป้องกันตนเองด้วยการขาดออกเป็นท่อนๆ เมื่อถูกรบกวน แต่ละท่อนสามารถเจริญเติบโตเป็นตัวที่สมบูรณ์ได้ภายในเวลา 2 สัปดาห์ ซึ่งถือเป็นการสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศได้อีกทางหนึ่ง ปัจจุบันหนอนตัวแบนนิวกินีได้แพร่กระจายไปทั่วโลก เชื่อว่าแพร่ระบาดไปกับดินเพาะปลูกและต้นไม้ประดับต่าง ๆ โดยมีรายงานพบในสหรัฐอเมริกาเป็นครั้งแรกในรัฐฟลอริดาเมื่อปี ค.ศ. 2012 ในทวีปยุโรปพบเป็นครั้งแรกที่ประเทศฝรั่งเศส ในปี ค.ศ. 2013 และพบในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ครั้งแรกที่ประเทศสิงคโปร์ เมื่อปี ค.ศ. 2010

(บรรยายภาพประกอบ...ศ. ดร.สมศักดิ์ ปัญหา นำทีมแถลงข่าว “หนอนตัวแบนนิวกินี: แนวทางการวิจัยเพื่อให้ความรู้แก่สังคม และเพื่อการควบคุมการระบาด”)