ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเร่งระบายน้ำท่วมขังภาคใต้

ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเร่งระบายน้ำท่วมขังภาคใต้

กรมชลฯ ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วมขังภาคใต้

เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.60 ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ฝนที่ตกหนักถึงหนักมากในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณภาคใต้ตอนล่าง ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำหลายจังหวัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ตรัง สตูล ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส สรุปได้ดังนี้

จังหวัดสุราษฎร์ธานี ปริมาณฝนสูงสุด วัดได้ที่ อบต.น้ำพุ อ.บ้านนาสาร 154 มิลลิเมตร ทำให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำ 4 อำเภอได้แก่ อ.เมือง อ.บ้านนาสาร อ.พระแสง และอ.กาญจนดิษฐ์ ปัจจุบันยังคงมีฝนตกในพื้นที่ และระดับน้ำในแม่น้ำตาปียังคงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น พื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณตัวเมืองสุราษฎร์ธานี เริ่มมีน้ำท่วมขังเนื่องจากระบายน้ำไม่ทัน กรมชลประทานโดยโครงการชลประทานสุราษฎร์ธานี ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ จำนวน 2 เครื่อง และติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ จำนวน 4 เครื่อง บริเวณประตูระบายน้ำคลองท่าโพธิ์ และประตูระบายน้ำคลองไชยา พร้อมกับนำรถแบ็คโฮช่วยกำจัดเศษขยะและสิ่งกีดขวางทางน้ำ เพื่อช่วยเร่งการระบายน้ำให้ไหลลงสู่ทะเลให้เร็วที่สุด

จังหวัดนครศรีธรรมราช ปริมาณฝนสูงสุด วัดได้ที่อ.ปากพนัง 174 มิลลิเมตร ส่งผลให้มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 7 อำเภอ ได้แก่ อ.หัวไทร อ.ฉวาง อ.สิชล อ.ท่าศาลา อ.เชียรใหญ่ อ.พระพรหม และอ.ทุ่งสง ปัจจุบันได้เร่งเดินเครื่องสูบน้ำเพื่อเร่งระบายน้ำลงสู่แม่น้ำสายหลัก ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้เตรียมพร้อมเครื่องสูบน้ำ จำนวน 46 เครื่อง และเครื่องผลักดันน้ำอีก 18 เครื่อง ที่พร้อมจะสูบและระบายน้ำออกจากพื้นที่ได้อย่างทันท่วงที หากไม่มีฝนตกหนักลงมาเพิ่ม คาดว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 4 – 5 วัน

จังหวัดสงขลา ปริมาณฝนสูงสุด วัดได้ที่ อบต.คลองแดน อ.ระโนด 131 มิลลิเมตร และยังเกิดฝนตกหนักในพื้นที่ต่างๆ ของจังหวัดสงขลา ส่งผลให้น้ำไหลเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรและบ้านเรือนประชาชนในเขตพื้นที่ลุ่มต่ำในเขตคาบสมุทรสทิงพระ 10 อำเภอ ได้แก่ อ.สะบ้าย้อย อ.นาทวี อ.จะนะ อ.เทพา อ.รัติภูมิ อ.ควนเนียง อ.ระโนด อ.กระแสสินธุ์ อ.สทิงพระ และ อ.สิงหนคร ปัจจุบันยังคงมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำต่างๆเพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะคลองอู่ตะเภา ที่ไหลผ่านตัวเมืองหาดใหญ่ ระดับน้ำที่สถานี X.90 บ.บางศาลา อ.คลองหอยโข่ง แนวโน้มระดับน้ำยังคงเพิ่มขึ้น กรมชลประทานจะใช้คลอง ร.1 ช่วยลดปริมาณน้ำในคลองอู่ตะเภาที่จะไหลผ่านลงสู่ตัวเมืองหาดใหญ่ ได้กว่า 815 ลบ.ม./วินาที ระบายลงสู่ทะเลสาบสงขลาต่อไป สำหรับการเตรียมความพร้อมการช่วยเหลือ กรมชลประทาน ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 56 เครื่อง และเครื่องผลักดันน้ำอีก 16 เครื่อง เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วมขังให้เร็วที่สุด

จังหวัดพัทลุง วัดปริมาณฝนสูงสุดได้ที่ เทศบาลตำบลเขาชัยสน อ.เขาชัยสน 122 มิลลิเมตร ส่งผลให้น้ำจากเทือกเขาบรรทัด ประกอบกับปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่ ไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรและบ้านเรือนราษฎร มีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ 4 อำเภอ ได้แก่ อ.เมือง อ.ศรีนครินทร์ อ.ศรีบรรพต และอ.ควนขนุน กรมชลประทาน โดยโครงการชลประทานพัทลุง ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 10 เครื่อง ในเขตเทศบาลเมืองพัทลุง อีก 10 เครื่องติดตั้งในเขตเทศบาล ต.พนางตุง อ.ควนขนุน และยังมีเครื่องผลักดันน้ำอีก 10 เครื่อง เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ให้เร็วที่สุด

จังหวัดสตูล ปริมาณฝนสูงสุดวัดได้ที่ อ.ละงู 118.5 มิลลิเมตร ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันน้ำป่าไหลหลาก เข้าท่วมในพื้นที่ 3 อำเภอ ไก้แก่ อ.เมือง อ.ควนโดน และอ.ละงู ระดับน้ำในคลองละงูบริเวณสถานีวัดน้ำ X.231A อ.เมือง ต่ำกว่าตลิ่ง 75 เซนติเมตร แนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนที่คลองดุสน ระดับน้ำที่สถานีวัดน้ำ X.239 อ.เมือง ต่ำกว่าตลิ่ง 18 เซนติเมตร แนวโน้มลดลง

จังหวัดยะลา ฝนตกหนักในพื้นที่จังหวัดยะลา ในช่วงวันที่ 25 - 26 พ.ย. 60 ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำล้นตลิ่ง แม่น้ำปัตตานี เข้าท่วมในพื้นที่ 5 อำเภอ ไก้แก่ อ.เมือง อ.ยะหา อ.บันนังสตา อ.กรงปินัง และอ.รามัน ระดับน้ำในแม่น้ำปัตตานีบริเวณสถานีวัดน้ำ X.40A อ.เมืองยะลา ต่ำกว่าตลิ่ง 1.34 เมตร แนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนที่สถานีวัดน้ำ X.40B อ.เมืองยะลา ระดับน้ำสูงกว่าตลิ่ง 46 เซนติเมตร กรมชลประทาน โดยโครงการชลประทานยะลา ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำจำนวน 1 เครื่อง บริเวณฟาร์มตัวอย่างวังพญาท่าธง อ.รามัน เพื่อช่วยเร่งระบายน้ำหากเกิดน้ำท่วมขังแล้ว

จังหวัดปัตตานี ปริมาณฝนสูงสุดวัดได้ที่อ.ทุ่งยางแดง 108 มิลลิเมตร ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำปัตตานีเพิ่มสูงขึ้น และมีน้ำเอ่อล้นตลิ่งบริเวณบ้านท่าสาป อ.เมืองยะลา สูงกว่าตลิ่งประมาณ 1.08 เมตร ส่วนบริเวณด้านท้ายเขื่อนปัตตานี อ.ยะรัง ระดับน้ำสูงกว่าตลิ่ง 0.59 เมตร และที่บ้านบริดอ อ.เมืองปัตตานี ระดับน้ำสูงกว่าตลิ่ง 1.08 เมตร แนวโน้มระดับน้ำในแม่น้ำปัตตานียังคงเพิ่มสูงขึ้น หากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่มเติม คาดว่าระดับน้ำจะลดลงต่ำกว่าตลิ่งภายใน 2 - 3 วันนี้

จังหวัดนราธิวาส ปริมาณฝนสูงสุดวัดได้ที่ศูนย์การศึกษาพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ 114 มิลลิเมตร มีพื้นที่ประสบอุทกภัย 6 อำเภอ ได้แก่ อ.เมือง อ.ยี่งอ อ.บาเจาะ อ.สุคิริน อ.สุไหงโก-ลก และ อ.แว้ง กรมชลประทาน ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 6 เครื่องตามจุดต่างๆ เพื่อเร่งระบายน้ำที่ท่วมขังให้ไหลลงสู่ทะเลให้เร็วขึ้นต่อไปแล้ว