1 ธันวาคม 'วันเอดส์โลก' ( World AIDS Day)

1 ธันวาคม 'วันเอดส์โลก' ( World AIDS Day)

1 ธันวาคม "วันเอดส์โลก" ( World AIDS Day) เพื่อรณรงค์ป้องกัน และยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อเอดส์ โดยมีสัญลักษณ์เป็น โบว์สีแดง (Red Ribbon)

วันที่ 1 ธันวาคมของทุกปีองค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดให้เป็น "วันเอดส์โลก"หรือ "World AIDS Day"ทุกประเทศทั่วโลกจัดกิจกรรมรณรงค์ ป้องกัน ยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อโรคเอดส์ หรือ HIV ให้เป็นผลสำเร็จราว 3 ทศวรรษนับแต่ปี 2531 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน (ปี 2560) มีการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง และกำหนดคำขวัญวันเอดส์โลกในทุกปี โดยมี "โบสีแดง" (Red Ribbon) เป็นสัญลักษณ์ที่ใช้กันทั่วโลก เพื่อแสดงถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ระหว่างผู้ที่มีเชื้อเอชไอวี โพซิทีฟ (HIV-positive) กับผู้ที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับเอดส์

สำหรับคำขวัญวันเอดส์โลก ปี 2560 คือ"Right to health" สิทธิสุขภาพ ปราศจากตีตรา สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
โรคเอดส์ คือคนที่ติดเชื้อไวรัสเอชไอวี หรือชื่อว่า ฮิวแมนอิมมิว โนเดฟีเซียนซี ผู้ที่ได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกายแล้ว จะทำให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่ำลงเรื่อยๆ จนไม่สามารถคุ้มกันโรคต่างๆได้ เพราะเชื้อเอชไอวีจะเข้าไปทำลายเม็ดเลือดขาวซึ่งทำหน้าที่คุ้มกันโรค จะทำให้ร่างกายเป็นโรคต่างๆ ได้อย่างง่ายดายซึ่งเมื่อเจอโรคแทรกซ้อนจะทำให้เสียชีวิตไปในที่สุดเป็นโรคติดต่อร้ายแรง ที่ยังไม่มียาตัวใดรักษาให้หายขาดได้ อีกทั้งยังเป็นโรคที่คร่าชีวิตมนุษย์เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยพบว่าในทวีปแอฟริกา เอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีผู้ป่วยโรคเอดส์มากที่สุด

แต่เชื้อเอชไอวีไม่สามารถแพร่สู่กันได้โดยการติดต่อในชีวิตประจำวัน ไม่สามารถติดต่อกันได้ผ่านทางการกอด หรือการสัมผัสมือที่เป็นการทักทาย การใช้ห้องน้ำร่วมกัน การใช้เตียงนอนร่วมกัน การใช้อุปกรณ์หรือช้อนเพื่อรับประทานอาหารหรือการใช้รถแท็กซี่ร่วมกัน

สถานการณ์โรคเอดส์ทั่วโลก
จากรายงานของโครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) พบว่าในปี 2559 มีผู้ติดเชื้อทั่วโลกสะสม 36.7 ล้าน เป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ 1.8 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตจากเอดส์ 1 ล้านคน โดยมีผู้ติดเชื้อที่ได้รับยาต้านไวรัสแล้วประมาณ 19.5 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2553 ที่มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีได้รับยาต้านไวรัส 7.7 ล้านคน
สถานการณ์โรคเอดส์ในประเทศไทย

กรมควบคุมโรค ระบุว่า จากการคาดประมาณจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวี ในปี 2560 มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ยังมีชีวิตอยู่ 442,127 คน และมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 5,801 คน เฉลี่ยวันละ 16 คน นับเป็นตัวเลขที่สูงไม่น้อย โดยผู้ได้รับการวินิจฉัยและรู้สถานะการติดเชื้อตนเอง ประมาณ 431,270 คน คิดเป็นร้อยละ 98 ของผู้ติดเชื้อเอชไอวีทั้งหมด และมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่กำลังรับการรักษาด้วยยาต้านไวรัส 302,174 คน คิดเป็นร้อยละ 70 ของผู้ติดเชื้อที่ได้รับการวินิจฉัย

ทั้งนี้ ประเทศไทยประกาศเจตนารมณ์ไว้ว่าภายใน13 ปีข้างหน้าหรือปี 2573 ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ไปสู่เป้าหมาย สำคัญ 3 ประการ คือ ลดจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ให้เหลือปีละไม่เกิน 1,000 คนลดการเสียชีวิตในผู้ติดเชื้อเอชไอวีเหลือปีละไม่เกิน 4,000 คนและลดการรังเกียจ และการเลือกปฏิบัติอันเกี่ยวเนื่องจากเอชไอวีและเพศสภาพลง ร้อยละ 90

สำหรับความท้าทายการยุติปัญหาเอดส์ในประเทศไทยคือ การทำให้ประชาชนมาตรวจเอชไอวี ให้มากขึ้น จัดบริการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันให้ผู้ไม่ติดเชื้อเอชไอวี จะไม่ติดเชื้อเอชไอวีตลอดไป ส่วนผู้ที่ติดเชื้อแล้วได้รับการดูแลต่อเนื่อง มีคุณภาพชีวิต ครอบครัวดี และสังคมโดยรวมดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม เนื่องในวันเอดส์โลก ประจำปี 2560 กรมควบคุมโรค จัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์เชิญชวนคนไทยร่วมกันป้องกันภัยจากโรคเอดส์ภายใต้แนวคิด "หยุดรังเกียจ ยุติเอดส์" โดยสโลแกนในปีนี้ คือ "พริ้นเซส เพร็พ ช่วยได้ไม่ติดเอดส์" (Princess PrEP ช่วยได้ ไม่ติดเอดส์) ด้วยการรณรงค์ให้คนไทยตรวจเอดส์เป็นประจำ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ รวมถึงรณรงค์ให้คนในสังคมเปิดใจยอมรับและให้โอกาสผู้ติดเชื้อเอดส์สามารถอยู่ร่วมกันในสังคมได้

กลุ่มเสี่ยงติดเชื้อโรคเอดส์ ได้แก่
1.การมีเพศสัมพันธ์กับผู้มีเชื้อเอดส์หรือกลุ่มรักร่วมเพศ โดยจากข้อมูลพบว่า ร้อยละ 84 ของผู้ติดเชื้อเอดส์ จะได้รับเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์
2.ผู้ติดยาเสพติด โดยใช้กระบอกฉีดยา หรือเข็มฉีดยาเดียวกันกับผู้ป่วย โรคเอดส์
3.ผู้ที่ได้รับเลือด หรือผลิตภัณฑ์จากเลือดเช่น การใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้ป่วยเอดส์ หรือรับเลือดในขณะผ่าตัด
4.ทารกติดเชื้อเอดส์จากมารดาที่มีเชื้อ HIV โดยมารดาจะแพร่เชื้อเอดส์ไปสู่ลูกในครรภ์
สำหรับผู้ที่สนใจต้องการทราบข้อมูลเกี่ยวกับโรคเอดส์ สามารถติดหน่วยงานที่ให้การบริการปรึกษาปัญหาสุขภาพและโรคเอดส์ ดังนี้

กลุ่มโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ สำนักโรคเอดส์ วัณโรค และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์โทร. 0-2286-0431, 0-2286-4483
โรงพยาบาลบำราศนราดูรโทร. 0-2590-3737, 0-2590-3510
กองควบคุมโรคเอดส์กทม. โทร. 0-2860-8751-6 ต่อ 407-8
มูลนิธิศูนย์ฮอตไลน์โทร. 0-2277-7699, 0-2277-8811 (โทรฟรี)
มูลนิธิเข้าถึงเอดส์โทร. 0-2372-2222
สถานบริการสาธารณสุข และโรงพยาบาลของรัฐทุกแห่ง
หรือดาวน์โหลดข้อมูลและสื่อต้นแบบได้ที่เว็บไซต์ สำนักโรคเอดส์ วัณโรค และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์aidssti.ddc.moph.go.thหรือ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422


ขอบคุณข้อมูล กรมควบคุมโรค,สำนักโรคเอดส์ วัณโรค และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์