เรียบร้อยโรงเรียน 'น่าน'

เรียบร้อยโรงเรียน 'น่าน'

ไม่ต้องใส่เครื่องแบบ แค่มีเวลาพอประมาณ เราจะชวนไปเรียนลัดเมืองน่าน ทั้งเรื่องประวัติศาสตร์และวิถีชีวิต

บางครั้งการเดินทางก็เหมือนชีวิต “อยู่ที่เรียนรู้ อยู่ที่ยอมรับมัน...”

‘น่าน’ วันฟ้าใสในช่วงต้นฤดูหนาว เราเลือกเป้าหมายที่ไม่ใช่ภูเขา สายหมอก ดอกไม้ หรือไหว้พระ ชมเมือง ชิมขนมหวาน แต่เป็นการตามรอยวันวานของเมืองเล็กๆ ที่ยังคงเป็นฉากหลังอันงดงามให้กับวันนี้ ...เป็นเรื่องดีๆ ที่คนน่านอยากบอก

เล่าเรื่องมิชชันนารี : โรงเรียนน่านคริสเตียนศึกษา

ไม่ต้องพึ่งไทม์แมชชีน หรือนอนบนเตียงโบราณ แค่นั่งรถโดยสารไปที่ถนนสุมนเทวราช มองหาโรงเรียนน่านคริสเตียนศึกษา คุณจะได้พบกับอาคารอายุกว่าร้อยปีหลังหนึ่ง ในชื่อตึกรังษีเกษม ปัจจุบันทำหน้าที่เป็นหอประวัติศาสตร์ บอกเล่าเรื่องราวของเมืองน่านเมื่อครั้งคุณย่ายังสาว

เราเดินตรงไปยังตึกสีม่วงหน้าตาขรึมขลังสไตล์ตะวันตก ด้านในมีมัคคุเทศก์กิตติมศักดิ์ คุณครูหิรัญ อุทธวงค์ รอต้อนรับในชุดพื้นเมือง พร้อมน้ำชาและขนมไทยๆ ได้บรรยากาศแบบย้อนยุค

“เดิมทีโรงเรียนต้องการทำแค่ห้องประวัติศาสตร์เล็กๆ ห้องหนึ่ง ให้ผมทำข้อมูล แต่พอเราได้ข้อมูลมาปุ๊บ นำมากางดู ปรากฎว่ามันไม่สมควรที่จะรับทราบเฉพาะโรงเรียนเรา เพราะภาพและข้อมูลที่ได้มานั้นคือประจักษ์พยานทางประวัติศาสตร์ของเมืองน่าน” คุณครูเริ่มต้นเล่า

อาคารเรียนหลังนี้สร้างแล้วเสร็จราวๆ ปี พ.ศ. 2458 โดยคณะมิชชันนารี นำโดย ดร. ซามูเอล ซี. พีเพิล, ดร. นพ.ซามูเอล ซี พีเพิลส์, ดร.ฮิวส์ เทเลอร์, ศาสนาจารย์ แมเรียน บี ปาล์เมอร์ และ ลูซี่ สตาร์ลิง แรกเริ่มเดิมทีสร้างตึกกลางเป็นส่วนแรก ใช้เป็นโรงเรียนชาย ต่อมีจึงสร้างตึกรังษีเกษมเป็นโรงเรียนหญิง

“ก่อนที่่จะสร้างคณะมิชชันนารีมาเจอเด็กน่านไม่มีการศึกษาแบบตะวันตก ก็เลยใช้ใต้ถุนบ้านของตัวเองเป็นที่สอนหนังสือ สอนไปปรากฎว่ามีพระขอมาเรียนด้วย เป็นเรื่องใหญ่เลยนะ เพราะข้างบนมีสตรีอเมริกันเดิน เขาก็เลยตัดสินใจซื้อศาลาการเปรียญเก่ามาทำเป็นโรงสอน ต่อมาต้องการให้เกิดความมั่นคงก็เลยสร้างอาคารใหญ่ แต่ไม้ถูกสัมปทานหมดในเวลานั้น เลยตัดสินใจเอาพิมพ์มาจากอเมริกา แล้วใช้คนปั้นอิฐมาจากเชียงใหม่ก่อสร้างอาคารหลังนี้"

สำหรับชื่อรังสีเกษมนั้น ได้รับพระกรุณาธิคุณจากจอมพลสมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังสีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช เมื่อครั้งเสด็จเยี่ยมชมกิจการของศูนย์มิชชั่นน่านและพระราชทานนามของโรงเรียนว่า ‘โรงเรียนรังสีเกษม’

หลังจากสร้างอาคารหลักเสร็จ มิชชันนารียังขาดที่พัก ประกอบกับมีนักเรียนเพิ่มขึ้น จึงได้ก่อสร้างตัวตึกเสริมขึ้นทางด้านทิศตะวันออก และใช้เป็นที่พักของนักเรียนประจำไปในตัวด้วย

“เด็กมาเรียนเยอะขึ้น แต่เด็กที่มาเช้า-เย็นกลับพฤติกรรมเปลี่ยนไม่ได้ สอนไปพอกลับไปบ้านก็เอาพฤติกรรมเดิมกลับมา เขาก็เลยสร้างหอพักขึ้น”

จากวันนั้นถึงวันนี้ ตึกรังสีเกษมไม่เพียงแสดงรากฐานการศึกษาของเด็กๆ ในจังหวัดน่าน ยังเป็นมรดกทางสถาปัตยกรรมที่สะท้อนความถ้อยทีถ้อยอาศัยระหว่างวัฒนธรรมตะวันตกและวัฒนธรรมท้องถิ่น ด้วยการออกแบบก่อสร้างอ้างอิงศิลปะยุคโคโลเนียล แต่ปรับให้เข้ากับสภาพอากาศเมืองไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 พื้นและเพดานสร้างด้วยไม้ แต่ชั้นล่างซึ่งเป็นห้องพักของมิชชันนารีมีเตาผิงตามวิถีของชาวตะวันตก

เราค่อยๆ ไล่สายตาไปตามผนังที่ประดับรูปภาพเก่าๆ ฟังเรื่องราวที่ไม่เคยรู้มาก่อน ผ่านห้องจัดแสดงทั้ง 10 ห้องในอาคาร 2 ชั้นด้วยความตื่นตาตื่นใจ นึกสงสัยว่า...ทำไมมาน่านตั้งไม่รู้กี่ครั้งถึงไม่เคยมีโอกาสมาที่นี่ ทั้งที่เปิดเป็นพิพิธภัณฑ์มาได้ 7 ปีแล้ว

“ห้องต่างๆ ก็ได้แก่ ห้องพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พระองค์เสด็จน่าน 23 ครั้ง ถือว่าเยอะมาก ห้องเจ้าฟ้านครน่าน แสดงภาพวิถีชีวิตของคนน่าน ห้องมินิเธียร์เตอร์ อนาคตจะมีการฉายภาพยนตร์เรื่องช้าง สารคดีเรื่องแรกของสยามที่ถ่ายทำที่นี่ พระเอกหนังคือครูโรงเรียนชายของเรา ถัดไปก็มีห้องคริสต์ศาสนา มีไม้กางเขน ที่ทำจากกระจกสี (สเตนกลาส) อายุร้อยกว่าปี มีห้องเรียนจำลองที่จัดไว้เหมือนสมัยก่อน ส่วนห้องสุดท้าย เราศึกษาการเดินทางของมิชชันนารีว่าเขามาอย่างไรกัน ดูวิถีชีวิตจากภาพที่เขาถ่ายไว้ก็จะเห็นหมด”

แค่เดินชมห้องต่างๆ ก็อินจนแทบจะหยิบซิ่นมานุ่งแทนกางเกงยีนส์แล้ว แต่ความฟินของการเที่ยวชมหอประวัติศาสตร์ โรงเรียนน่านคริสเตียนศึกษา ที่อยากชวนให้ทุกคนได้มาลองคือ กิจกรรม”นุ่งซิ่น จิบชา” ในช่วงเวลา 10.00-11.00 น.(จันทร์-ศุกร์) และเพิ่มรอบ 14.00-15.00 น. (เฉพาะเสาร์-อาทิตย์) ที่ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานแพร่ ได้ช่วยออกแบบเพื่อเป็นการหารายได้สนับสนุนการดำเนินงานของหอประวัติศาสตร์

"ททท.สำนักงานแพร่ เล็งเห็นถึงความสำคัญของอาคารอนุรักษ์ที่ทรงคุณค่าของเมืองเก่าน่าน จึงได้ออกแบบกิจกรรม นุ่งซิ่น จิบชา@ น่านคริสเตียน เพื่อเชิญชวนนักท่องเที่ยวเข้ามาศึกษาและสัมผัสกลิ่นอายของบรรยากาศเมืองน่านใน พ.ศ.2458 ด้วยการนุ่งซิ่นแบบแม่หญิงน่านเที่ยวเมืองน่าน ซึ่งหวังให้กิจกรรมนี้ได้เป็นส่วนหนึ่งที่โรงเรียนจะสามารถหารายได้ในการอนุรักษ์ตึกเก่าด้วยตัวเอง" เอิบลาภ ศรีภิรมย์ ผอ.ททท.สำนักงานแพร่ กล่าว

สำหรับนักท่องเที่ยวที่สนใจต้องติดต่อจองล่วงหน้า ทางโรงเรียนจะเตรียมน้ำชาและขนมขึ้นชื่อของเมืองน่านมาให้ได้จิบไปชมไป เซลฟี่ไปแบบเพลินๆ หรือถ้าไม่สะดวกในเวลาดังกล่าว จะเข้าชมเฉยๆ ที่นี่เปิดทุกวัน ตั้งแต่เวลา 8.30-15.00 น.

แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ในการตามรอยเรื่องราวที่ทอดผ่านอดีตอันยาวนาน แต่อาคารเก่าและเรื่องเล่ามีชีวิตก็ทำให้เรารู้จักน่านมากกว่าทุกครั้ง

พักกายไปเกี่ยวข้าว : โรงเรียนชาวนา

จากตัวเมืองน่าน วิวสองข้างทางเริ่มปรับโทนเป็นสีเขียวเมื่อเข้าสู่อำเภอปัว แดดอ่อนยามเย็นอาบไล้ทุ่งข้าวให้สะท้อนเงาสีทองบางๆ ลมหนาวต้นฤดูแผ่วเบาแต่รู้สึกได้

รถเลี้ยวจากทางหลักเขาสู่ทางเล็กๆ ตัดผ่านทุ่งนาผืนใหญ่ที่วันนี้กลายเป็นห้องเรียนธรรมชาติ ที่เห็นอยู่ไกลๆ น่าจะเป็นคุณครูผู้ช่วยที่คอยยืนไล่กาท้าแดดท้าลม

“ฉันจะเป็นชาวนา” ใครบางคนเอ่ยขึ้น เมื่อรู้ว่าที่นี่คือ‘โรงเรียนชาวนา’ มีนักเรียนขาประจำเป็นเด็กในโรงเรียนใกล้ๆ ส่วนนักเรียนขาจรคือคนทั่วไปรวมถึงนักท่องเที่ยวที่อยากเรียนรู้วิถีแบบดั้งเดิม

สุดธนา ปัทมวัฒน์ อดีตนักวิชาการสาธารณสุข ครูใหญ่ของที่นี่บอกว่า ความคิดนี้เริ่มต้นเมื่อ 9 ปีก่อน ช่วงที่การใช้สารเคมีในไร่นารุนแรงมาก ก็เลยตั้งใจจะปลูกข้าวไว้กินเอง

“พอเรามาทำปุ๊บ มันเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัย แล้วเราก็ทำงานร่วมกับชุมชนและโรงเรียนอยู่แล้ว เลยคุยกันว่าที่นี่เป็นพื้นที่ทำนาทำเกษตร แต่เด็กของเราไม่มีทักษะเรื่องนี้ วิถีของคนน่านเปลี่ยนไป ลูกไปเรียนหนังสือ พ่อแม่ก็ทำนาหาเงินส่งให้ลูก การจะหาเงินให้ได้เยอะๆ ก็ต้องทำผลผลิตให้ได้เยอะๆ ก็ใส่สารเคมีเยอะๆ แล้วก็ป่วย 

เราก็เลยคุยกับทางโรงเรียน ซึ่งก็มีแนวคิดเดียวกัน คือเขาทำเรื่องพันธุ์ข้าว แล้วตั้งชื่อว่าโรงเรียนชาวนา แต่เขาทำเล็กๆ ทีนี้พอเรามีพื้นที่ก็อ้าแขนรับเลยว่ามาเรียนกับเราเลย”

8 ปีนับแต่เริ่มโรงเรียนชาวนาบนพื้นที่มรดกกว่า 5 ไร่ ภูมิปัญญาดั้งเดิมในการปลูกข้าวแบบไร้สารเคมีถูกรื้อฟื้นและสืบต่อโดยเด็กๆ และคนที่สนใจรุ่นแล้วรุ่นเล่า

“หลักๆ ก็คือสอนกระบวนการทำนา ตั้งแต่เตรียมดิน เพาะกล้า ไถนา ดำนา แล้วก็ดูแลวัชพืช บำรุงข้าว เกี่ยวข้าว ฟาดข้าว ทุกอย่างเป็นแบบดั้งเดิมหมด”

“เด็กที่มาเรียน วัตถุประสงค์ของเรานอกจากบ่มเพาะเรื่องของการไม่ใช้สารเคมี เรื่องทรัพยากรที่ต้องอนุรักษ์ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แผ่นดินถิ่นเกิดที่เขาจะต้องรัก แล้วก็เรื่องของอาชีพทำนาที่เขาจะต้องเห็นความสำคัญ เราเชื่อว่าเมื่อเขามีทักษะ กระบวนการทำนาเป็นวิชาชีพแล้ว นี่เป็นอาชีพหนึ่งที่เขาสามารถทำได้” ครูใหญ่โรงเรียนชาวนา บอก

หลายคนเบนความหวังจากเมืองใหญ่มาฝากหัวใจไว้ที่ผืนนา บางคนแม้ไม่ได้มีเป้าหมายที่จะยึดเป็นอาชีพก็ยังอยากเรียนรู้วิถีของบรรพบุรุษ อยากหว่านกล้าลงบนผืนดินสักครั้ง นั่นเป็นที่มาของการเปิดโรงเรียนต้อนรับนักท่องเที่ยว

“คนนอกนี่เราเปิดกว้างเลย ใครจะมาดำนาก็ได้ เกี่ยวข้าวก็ได้ แต่ต้องมาให้ตรงช่วงเวลา เราจะไม่จัดฉาก เราทำนาปีละครั้ง สตาร์ทตั้งแต่เดือนมิถุนายน ส่วนคนที่อยากพักก็พักได้ เรามีที่พักไว้รองรับ”

เริ่มจากเดือนพฤษภาคม นักท่องเที่ยวจะได้เห็นทุ่งปอเทืองเหลืองอร่าม ที่ไม่ได้ปลูกไว้เก๋ๆ แต่ใช้เป็นปุ๋ยในช่วงการไถกลบ เตรียมดิน และเพาะกล้าในเดือนมิถุนายน

“ที่นี่เพาะกล้าทั้ง 3 แบบ คือหลุมใหญ่ เพาะกล้าแบบเส้นเดี่ยว แล้วก็นาโยน ไถนาก็ใช้ควายแบบสมัยเก่า ไถแบบเดินตาม แล้วแทรกเตอร์”

พอถึงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม จะเป็นช่วงเวลาของการดำนา ไฮไลท์อยู่ประมาณวันที่ 12 สิงหาคม จะมีการจับปูในนาและสาธิตการทำน้ำปู แต่ถ้าใครเน้นถ่ายรูปสวย เดือนกันยายน นาจะเป็นสีเขียวสดใส ไล่โทนไปจนถึงตุลาคมที่ข้าวเริ่มออกรวง ช่วงนี้ถ่ายภาพมุมสูงจะสวยมาก

เมื่อเข้าสู่เดือนพฤศจิกายน ข้าวจะเริ่มเปลี่ยนเป็นสีเหลืองทอง ถ้าเดินทางมาในช่วงนี้จะได้ร่วมเกี่ยวข้าวกับชาวบ้าน หลังจากนั้นจะมีการทำคลุมดินและปลูกผัก นักท่องเที่ยวสามารถมีส่วนร่วมได้ในทุกกิจกรรม

แต่ถ้าใครเลือกเดินทางมาพร้อมกับลมหนาวในเดือนธันวาคม นาผืนนี้จะเปลี่ยนเป็นแปลงผัก ลองพาร่างกายมาพักเติมพลังชีวิตด้วยการเก็บผักสดๆ จากแปลงมาปรุงเป็นอาหาร มีทั้งบล็อคเคอรี่ คะน้า กะหล่ำ กวางตุ้ง ต้นหอม ผักชี และถั่วลันเตาหวานๆ กรอบๆ

ส่วนสายชิล จะแค่แวะมาเก็บภาพสวยๆ กลางทุ่งนา จิบกาแฟ ชมคุณยายคุณป้าทอผ้าซิ่นก่าน-ไทลื้อเพลินๆ ก็ไม่ว่ากัน

“ที่นี่เป็นหมู่บ้านไทลื้อที่ย้ายมาจากสิบสองปันนา วัฒนธรรมเรื่องผ้าก็เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่ง เมื่อก่อนป้าเขาทำถวายสมเด็จพระราชินี (ในรัชกาลที่ 9) สมเด็จพระเทพฯ แต่ตอนหลังเครื่องมือและลายเก่าๆ หายหมด ก็เลยคิดว่ามาฟื้นกันเถอะ ตอนนี้ให้เขาเก็บลายเก่าๆ ให้หมดก่อน พอเข้าที่ปุ๊บก็จะทำหลักสูตรสอนเด็ก”

ใต้ถุนบ้านไม้โปร่งโล่งจึงเป็นทั้งที่สาธิตการทอผ้าตามแบบฉบับไทลื้อ ร้านกาแฟ มุมขายของที่ระลึก และล็อบบี้ของฟาร์มสเตย์ หรือโรงแรมชาวนาที่เราแอบเรียกกัน ด้วยเหตุที่ว่าห้องพักที่นี่ “ราคาหลักร้อย วิวหลักล้าน” จริงๆ

“เราเปิดเป็นที่พักเพราะต้องการทุนบางส่วนไปสนับสนุนแม่ครูที่มานั่งทอผ้าและค่าใช้จ่ายต่างๆ ตอนนี้รองรับคนได้ 18 คน มีบ้านทั้งหมด 4 หลัง”

หลังใหญ่ราคา 2,000 บาท มีจำนวน 2 หลัง พักได้หลังละ 4 คน ส่วนหลังเล็กพร้อมแอร์คอนดิชั่น หลังละ 1,200 บาท มี 2 หลัง พักได้หลังละ 2 คน เฉลี่ยต่อคนประมาณ 500-600 บาท พร้อมอาหารเช้าหนึ่งมื้อ ส่วนอาหารเย็นสามารถสั่งได้ แต่มีกติกาเล็กๆ คืองดเสียงดังหลังสี่ทุ่มและไม่สะดวกสำหรับผู้ที่พาสุนัขมาด้วย

สุดธนาบอกว่า อยากให้ทุกคนได้มาสัมผัสกับการท่องเที่ยวอีกรูปแบบหนึ่ง ได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ดีๆ พร้อมกับอีก ‘7 ดี’ ของอำเภอปัว นั่นคือ ป่าดี ดินดี น้ำดี อาหารดี อากาศดี คนดี และวัฒนธรรมดี

“พื้นที่ของเราเป็นต้นน้ำ ติดภูเขา ดินของเราไม่เหมือนที่อื่น เรารณรงค์เรื่องการไม่ใช้สารเคมีมาหลายปี ที่นี่อากาศดี น้ำดี อาหารดี เรามีกลุ่มผักปลอดสารพิษทั้งตำบล แล้วคนก็อัธยาศัยดี เป็นกลุ่มเครือญาติมีความเอื้ออาทรต่อกัน วัฒนธรรมดี คือมีเรื่องของศาสนา วัฒนธรรม มาที่นี่จะได้ใส่ชุดไทลื้อ ใส่บาตรตอนเช้า ได้มาดูวิถีดั้งเดิม ลงแขกเกี่ยวข้าว ได้เก็บผัก รับประทานผักสดๆ ปลอดสารเคมี ได้ชมธรรมชาติอย่างเต็มที่”

มาไกลถึงปัวไม่ต้องกลัวเบื่อ เพราะแหล่งท่องเที่ยวใกล้ๆ ก็เรียกไลค์ได้ไม่แพ้กัน อย่าง วังศิลาแลง หรือในสมญา ‘แกรนด์แคนยอนเมืองปัว’ เป็นอีกหนึ่งความมหัศจรรย์ทางธรรมชาติที่หาชมได้ยาก หากเดินทางไปช่วงหน้าแล้งจะได้เห็นธารน้ำใสๆ ไหลผ่านซอกหินผาที่มีร่องรอยกัดเซาะอย่างสวยงาม

อีกแห่งหนึ่งที่อยู่ไม่ไกลกัน วัดภูเก็ต นอกจากจะไปสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อความเป็นสิริมงคลแล้ว ยังมีสิ่งที่ต้องทำ นั่นคือ การชมวิวแบบพาโนรามาที่ระเบียงด้านหลังวัด ทุ่งนาฟ้ากว้างมีฉากหลังเป็นทิวเขาในเขตอุทยานฯดอยภูคา ใครๆ ก็ว่าดีต่อใจ แต่ถ้าจะให้ถูกที่ถูกเวลาต้องมาในช่วงพระอาทิตย์โผล่พ้นขอบฟ้า รับรองว่าได้กดชัตเตอร์กันแบบรัวๆ แน่นอน

สำหรับเรา...ภาพทุกภาพถูกเก็บไว้ในใจ ไอดินกลิ่นทุ่งข้าวยังหอมในความรู้สึก บางครั้งการเดินทางก็สอนชีวิตได้ดีเหมือนกัน “อยู่กับสิ่งที่มี ไม่ใช่สิ่งที่ฝัน...”

การเดินทาง

จากกรุงเทพฯ หากเดินทางโดยรถยนต์ใช้เวลาประมาณ 8 ชั่วโมง แต่ถ้าต้องการความสะดวกรวดเร็วมีสายการบินบินตรงจากดอนเมืองไปยังจังหวัดน่านทุกวัน โดยไทยแอร์เอเชียให้บริการวันละ 4 เที่ยวบิน ขาไป 2 เที่ยวบิน ออกจากท่าอากาศยานดอนเมือง เวลา 07.30 น. และ 15.10 น. และขากลับจากท่าอากาศยานน่านนคร เวลา 09.15 น. และ 16.55 น. สำหรับสายปั่นทั้งหลายเมื่อถึงจังหวัดน่าน ไทยแอร์เอเชียมีบริการให้ยืมจักรยานฟรี เพียงแค่ยื่นบัตรประชาชนใบเดียว สอบถามได้ที่เคาน์เตอร์ของสายการบินที่ท่าอากาศยาน