เท่าฝาหอย

พบกับนักเขียน คอลัมภ์เท่าฝาหอย (ตอน2) เขาจะเล่าถึงเรื่องเปลือกหอยที่สัมพันธ์กับโลกและมนุษย์ทั้งมุมละเมียดละไมและมุมที่หลายคนไม่รู้

""""""""""""""""""""""""""""""" 

 

ทั้งสัตว์และคนแต่ยุคบรรพกาล ต่างเคลื่อนย้ายถิ่นฐานไป-มา ตามแต่ความอุดมสมบูรณ์ของถิ่นที่อาศัย รวมถึงการเคลื่อนไปของลมฟ้าอากาศ บางคน บางเผ่า เดินทางเลาะไหลไปตามทางน้ำจืด เป็นคนป่าเดินดง บ้างเดินลงเลาะชายฝั่งทะเลเรื่อยไป ก็เรียกได้ว่าเป็นคนเผ่าทะเล 

คนมักเรียนรู้จากรูป รส กลิ่น เสียง สำผัส ปรุงเป็นศัพท์ บันทึกสำเนียงในใจ ส่งทอดสืบไปจากรุ่นสู่รุ่น เมื่อลงหลักปักฐานที่ใด ก็ก่อเกิดภาษาจำเพาะของตน

คนเผ่าบกก็พูดภาษาบก คนเผ่าทะเลก็พูดภาษาทะเล 

หน่วยของคำก่อนมารวมเป็นวลีและประโยคก็โยกย้าย ผสมผสานผ่านคนที่แลกเปลี่ยนทั้งสิ่งของ วัฒนธรรม และสายโลหิต นานเข้าก็หลอมรวมกันเกิดศัพท์และภาษาผสม

คนไทยที่พูดภาษาไทยมีคำที่มาจากแผ่นดินใหญ่ จากป่าจากดงและแหล่งน้ำจืดมากกว่าทะเล ไทยมักเป็นคนบนที่ดอน สร้างบ้านเรือนนอนตั้งเสายกพื้นสูงระวังน้ำหลากในที่ราบลุ่มน้ำจืดก็มาก ศัพท์ สำนวน ภาษา ก็เกิดจากสิ่งใกล้ตัวบนบก

คำไทยโบราณที่ว่า “หอย” ก็อาจยืมมาจากคำจีนกลางออกเสียง “ไห่” หรือในสำเนียงจีนกวางตุ้ง (พ่อค้านักเดินทางในย่านอุศาคเนย์) ว่า “หอย” ที่ต่างก็หมายถึง “ทะเล”

“ไห” ของคนบ้านเชียงที่มีรูปทรงคล้าย “หอย” รวมถึงมีลายเขียนสีเป็น “วงก้นหอย” ก็น่าจะมีที่มาจากทรงและเกลียวของ “หอยโข่งน้ำจืด” รวมถึง “หอยขม” ที่คนโบราณกินเป็นอาหารนานมาจนพัฒนามา ปั้นเป็นโอ่งเป็นไหที่คล้ายหอย

 สำนวนไทยที่ว่า “เลี้ยงมาตั้งแต่ตีนเท่าฝาหอย” นั้น ฝาหอยที่ว่าก็คือ “ฝาปิดเนื้อ” ของหอยโข่งน้ำจืดที่มีทั้งรูปทรง

และขนาดอันพ้องกันกับรอยประทับเท้าของเด็กทารกแรกเกิดนั่นเอง

เมื่อคนไทยขยับเขยื้อนลงถิ่นทะเ ลก็จะได้ศัพท์จับสำเนียงจากสัตว์ทะเลเพิ่มเข้ามาอีก เช่น “ปากหอยปากปู” เพราะคนที่ออกหาล่าสัตว์กินในยามน้ำทะเลลด เหล่ากุ้ง หอย ปู ปลา ต่างพากันหลบอยู่ภายใต้โตรกหินและปะการัง

หอยนางรม หอยติบ ปิดเปลือกกระทบกันดัง “ติ๊บ ๆ แต๊ก ๆ” กุ้ง ปู ยกก้ามดีดหางตีเกราะดัง “โป๊ะ ป๊ะ” 

ใครชอบนินทาเพื่อน ซุบซิบกันเสียงดังเจ๊าะแจ๊ะก็เลยมักถูกโยงว่าเป็น “พวกปากหอยปากปู” เช่นนี้เอง