ดัชนี MPI เดือน ต.ค.อยู่ระดับ 110.41 โต 0.48%

ดัชนี MPI เดือน ต.ค.อยู่ระดับ 110.41 โต 0.48%

"สศอ." เผย ดัชนี MPI เดือน ต.ค.อยู่ที่ระดับ 110.41 ขยายตัว 0.48% จากช่วงเดียวกันปี 59 พร้อมปรับประมาณการณ์ปีหน้าเป็น 2%

นายวีรศักดิ์ ศุภประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรรม (สศอ.) แถลงดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ประจำเดือนต.ค.2560 ว่าขยายตัว 0.48% อยู่ที่ระดับ 110.41 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ระดับ 109.88 ส่งผลให้ดัชนี MPI 10 เดือนของปีนี้ขยายตัว 1.38% บ่งบอกว่าเศรษฐกิจไทยกำลังขยายตัวต่อเนื่องเช่นเดียวกันกับการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำแท่ง) ที่ขยายตัวถึง 14.7% รวมถึงการนำเข้าสินค้าทุนที่ขยายตัว 6.1% และการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (ไม่รวมทองคำแท่ง) ขยายตัวถึง 13.8% อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 60.45%

โดยอุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลบวก ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยางขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 44.67% เนื่องจากปีก่อนภาคใต้ประสบปัญหาน้ำท่วม ทำให้ไม่สามารถกรีดยางได้ปริมาณน้ำยางน้อย และปีนี้มีการขยายตลาดรวมถึงลูกค้าจีนยังคงมีความต้องการนำเข้าสินค้าจากไทยอย่างต่อเนื่อง

อุตสาหกรรมน้ำมันพืชขยายตัว 49.71% เนื่องจากปีนี้มีฝนตกอย่างต่อเนื่อง ทำให้ได้ผลผลิตปาล์มสูง ขณะที่ปีก่อนภาคใต้ประสบปัญหาน้ำท่วมไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลปาล์มได้ รวมถึงภาครัฐมีมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาปาล์มน้ำมัน โดยการปรับสัดส่วนการใช้ไบโอดีเซล จากน้ำมันบี 5 เป็นน้ำมันบี 7 ส่งผลให้ระดับการใช้น้ำมันปาล์มดิบเพื่อผลิตเป็นไบโอดีซลเพิ่มขึ้นประมาณเดือนละ 12,000 ตัน มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 8 พ.ค.2560

อุตสาหกรรมเครื่องยนต์ ขยายตัว 5.16% จากสินค้าเครื่องยนต์ดีเซลเป็นหลัก โดยปริมาณการจำหน่ายในประเทศเพิ่มขึ้น 4.48% ส่วนปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้น 13.01% เฟอร์นิเจอร์ขยายตัว 21.95% จากสินค้าเครื่องเรือนทำด้วยไม้เป็นหลัก โดยมีคำสั่งจากลูกค้าต่างประเทศเพื่อจำหน่ายในช่วงคริสมาสต์ และแปรรูปผัก/ผลไม้ ขยายตัว 22.87% จากสับปะรดกระป๋อง เนื่องจากปีนี้มีฝนตกต่อเนื่องตลอดปี ทำให้ได้ผลผลิตสับปะรดออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก ประกอบกับไตรมาส 3 ของปีก่อน พื้นที่เพาะปลูกบางแห่งประสบปัญหาน้ำท่วม ทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยกว่าปกติ

อย่างไรก็ดี สศอ.ได้ประมาณการอัตราการขยายตัวของดัชนี MPI ปี 2561 คาดขยายตัว 2% (จากค่าเฉลี่ยคาดการณ์อยู่ในช่วง 1.5-2.5%) เพิ่มขึ้นจากปีนี้คาดขยายตัว 1.5% ส่วนอัตราการขยายตัวของ GDP ภาคอุตสาหกรรมคาดขยายตัว 2.5% (จากค่าเฉลี่ยคาดการณ์อยู่ในช่วง 2-3%) เพิ่มขึ้นจากปีนี้คาดขยายตัว 1.7%

นายวีรศักดิ์ กล่าวว่า เนื่องจากการพื้นตัวของเศรษฐกิจโลกซึ่งจะสนับสนุนให้การส่งออกขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่อง แรงขับเคลื่อนจากการลงทุนภาครัฐจากความคืบหน้าของโครงการลงทุนที่สำคัญ และการดำเนินงานภายใต้แผนงานพัฒนาระเบียงเศรฐกิจภาคตะวันออก (EEC)

ทั้งนี้ ยังคงต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงในปี 2561 นโยบายที่สำคัญของสหรัฐ ผลการเจรจาของ NAFTA และ BREXIT เงื่อนไขทางการเมืองในเสปนและอิตาลี และความข้ดแย้งทางการเมืองในคาบสมุทรเกาหลีและตะวันออกกลาง ซึ่งจะสร้างความผันผวนต่อระบบเศรษฐกิจและการเงินโลก