กสทช.ส่อดับฝัน4จีทีโอที-ดีแทค

กสทช.ส่อดับฝัน4จีทีโอที-ดีแทค

เบรกสัญญา“คลื่น2300”ชี้ต้องแจงข้อมูลเทคนิคก่อนเข้าบอร์ดกลางเดือนธ.ค.

อนุกลั่นกรองโทรคมฯยังไม่สรุป ทีโอที-ดีแทค ไตรเน็ตเดินหน้าเปิด 4จีบนคลื่น 2300 ได้หรือไม่ ระบุหลังเรียกผู้บริหารชี้แจงยังขาดเอกสารข้อมูลการใช้งานคลื่นเชิงเทคนิค ระบุต้องส่งเรื่องให้ทางสนง.ก่อนชงเข้าบอร์ดกสทช.อีกครั้งกลางเดือนธ.ค.นี้ ชี้หากให้บริการโรมมิ่งก็ต้องทำตามขอบเขตกฎหมาย ด้านทีโอทีระบุหากแธุรกิจมือถือโดนลากยาวส่อสูญรายได้ 4,000 ล้านบาท กระทบผลประกอบการรวม 

วานนี้ (27 พ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะประธานอนุกรรมการกลั่นกรองด้านโทรคมนาคม ได้เรียกให้ผู้บริหารบมจ.ทีโอทีเข้ามาหารือ หลังจากที่มติคณะกรรมการ (บอร์ด) กสทช.เมื่อวันที่ 22 พ.ย.ที่ผ่านมา ได้สรุปอนุกรรมการกลั่นกรองฯ เรียกผู้บริหารของบมจ.ทีโอที เข้ามาชี้แจงเมื่อวานนี้ (27 พ.ย.) ในประเด็นร่างสัญญาการอัพเกรดคลื่นความถี่ในย่าน 2300 เมกะเฮิรตซ์สำหรับเปิดให้บริการ 4จีแอลทีอี-ทีดีดี จำนวน 60 เมกะเฮิรตซ์ ที่ทีโอที และบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ก่อนที่จะมีการพิจารณาว่าจะอนุญาตให้ดำเนินการได้หรือไม่

โดยพ.อ.เศรษฐพงค์ ระบุว่า ทีโอทียังขาดข้อมูลด้านเทคนิคในเรื่องการใช้คลื่นความถี่ ซึ่งหากจะให้บริการด้วยการโรมมิ่งก็ต้องอยู่ในขอบเขตที่กฎหมายกำหนด และเป็นตามที่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) อนุญาตไปก่อนหน้านี้ ดังนั้น จึงได้กำชับให้ทีโอทีประสานกับสำนักงานกสทช.ส่งข้อมูลการใช้งานความถี่ให้ทันภายในต้นเดือนธ.ค. จากนั้นจะช่วงกลางเดือนธ.ค.จะต้องสรุปความเห็นจากอนุกรรมการกลั่นกรองฯก่อนนำเข้าบอร์ดกสทช.

“เรื่องนี้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเองก็ยังไม่สรุปความเห็นมาเลยว่าทีโอทีและดีแทคสามารถดำเนินการได้หรือไม่ แต่เราก็ต้องพิจารณาไปในส่วนความรับผิดชอบของเราไปก่อน ซึ่งหากลงมติผ่านทุกอย่าง ทางทีโอทีและดีแทคระบุว่าคงให้บริการได้ในเดือนม.ค.ปี 2561” 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ สำนักงานกสทช.ได้สรุปจากอนุกรรมการกลั่นกรองฯในชั้นต้น ระบุว่ามีการใช้คลื่นความถี่ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ของการอนุญาตไปก่อนหน้านี้ จึงให้ทีโอทีและดีแทค ไตรเน็ต ไปปรับเปลี่ยนแผนการพัฒนาคลื่นให้ตรงกับกฎหมายที่กสทช.กำหนดไว้ก่อน จากนั้นนำเข้าจะพิจารณาอีกครั้ง ซึ่งมีความเป็นไปได้ค่อนข้างแน่นอนแล้วว่าทีโอทีและดีแทค ไตรเน็ตจะไม่สามารถเซ็นสัญญาได้ทันในปีนี้ตามแผนงานเดิม

อย่างไรก็ดี จากการสอบถามนายมนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ทีโอที ยืนยันว่า ทีโอทีได้ดำเนินการสอดคล้องกับมาตรา 46 ของพ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม และได้ส่งสัญญาดังกล่าวที่จะเซ็นร่วมกับดีแทค ไตรเน็ต ให้กสทช.พิจารณาไปตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. 2560ที่ผ่านมา แต่หากการเซ็นสัญญาล่าช้าออกไป อาจส่งผลกระทบต่อเป้าหมายรายได้ของทีโอทีในปีนี้และต่อเนื่องไปถึงปี 2561

โดยเป้าหมายรายได้ปี 2560 ประเมินรายได้ทีโอทีจะอยู่ที่ 50,000 ล้านบาท ในกรณีที่ดีที่สุดมี น่าจะมีกำไร ก่อนหักภาษีค่าเสื่อม (อีบิทด้า) 5,000 ล้านบาท แต่ยังขาดทุนอยู่ที่ 8,000 ล้านบาท โดยที่ยังขาดทุนเนื่องจากมีภาระค่าเสื่อมโครงข่ายและทรัพย์สินทั้งหมด แต่ในปี 2561 และปีต่อๆไปน่าจะพลิกมามีกำไรได้ ซึ่งปัจจัยสำคัญน่าจะมาจากการเป็นพันธมิตรกับคู่ค้าเอกชนในการพัฒนาคลื่นความถี่ 2300 เมกะเฮิรตซ์ ที่คาดว่า จะมีรายได้ ปีละ 4,510 ล้านบาท สำหรับการใช้งานความจุโครงข่าย (คาปาซิตี้) 60% สามารถให้บริการดาวน์โหลดได้ถึง 300 เมกะบิต