ได้เวลาเก็บเกี่ยว...! โฉมใหม่ NEW IRPC

ได้เวลาเก็บเกี่ยว...! โฉมใหม่ NEW IRPC

เกือบ 11 ปีที่ “ไออาร์พีซี” ใช้เวลาปิดจุดอ่อน จนมั่นใจว่าแข็งแกร่งพอ ปีหน้าองค์กรกำลังกลับมา สู่ยุค NEW IRPC ลุคใหม่นำพา“กำไรหมื่นล้าน” ได้เวลาเก็บเกี่ยวดอกผล ทุกโครงการลงทุน พร้อมตะลุยต่างแดน ครั้งแรก...!

11 ปีที่ผ่านมา กับสารพันปัญหากดดันให้ บริษัทไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) ในเครือบริษัทปตท.จำกัด (มหาชน) มีผลการดำเนินงานแปรปรวน ไม่ว่าจะเป็นความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลก และขีดความสามารถในการแข่งขันจากการปรับปรุงกระบวนการผลิต ทำให้ไออาร์พีซีตกอยู่ในสภาพ "ลูกเป็ดขี้เหร่" ในครอบครัวปตท. 

ทว่า ภายใต้การกุมบังเหียนของ “สุกฤตย์ สุรบถโสภณ” กรรมการผู้จัดการใหญ่ ไออาร์พีซี เจ้าตัวย้ำว่า ตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไป จะเห็น “ลุคใหม่” ของไออาร์พีซีผู้ประกอบการธุรกิจปิโตรเลียม ธุรกิจปิโตรเคมี ธุรกิจท่าเรือและถัง และธุรกิจบริหารจัดการทรัพย์สิน ปัจจุบันบริษัทมีกำลังการกลั่นน้ำมัน 2.15 แสนบาร์เรลต่อวัน และมีที่ดินเปล่าประมาณ 1 หมื่นไร่ โดยเฉพาะในจังหวัดระยอง และจังหวัดอื่นๆ ที่จะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม 

“เราจะไม่เห็นการขาดทุนอีกแล้ว” เขาเชื่อมั่น..!!

หลังหลายๆ โครงการที่บริษัทลงทุนไปแล้วเมื่อหลายปีก่อน เริ่มทยอยออกดอกออกผลให้ “เก็บเกี่ยว” ก้าวสู่ยุครุ่งเรืองของไออาร์พีซี

“วันนี้ไออาร์พีซีกำลังเปลี่ยนโฉมตัวเองใหม่ เข้าสู่ยุคที่เรียกว่า NEW IRPC นับตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไปฉะนั้น โอกาสจะเห็นบริษัทขึ้นแท่นผู้นำปิโตรเคมีในอาเซียนไม่ใช่เรื่องยาก ซึ่งในวันนี้เราไม่กลัวใครแล้ว" 

โดยโครงการต่างๆ เริ่มเห็นผลลัพธ์ทางธุรกิจแล้ว อาทิ โครงการยกระดับประสิทธิภาพกระบวนการทำงาน เรียกสั้นๆ ว่า Delta จะเข้ามามีบทบาทอย่างเต็มตัวในปี 2560 หลังโครงการแล้วเสร็จในไตรมาส 3 ปี 2559

รวมทั้งรับผลบวกจากโครงการ Upstream Project for Hygiene and Value Added Products หรือ UHV ที่จะสามารถเดินเครื่องผลิตได้เต็มประสิทธิภาพตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2560 ขณะเดียวกันยังได้รับประโยชน์ จากโครงการขยายกำลังผลิตโพลีโพรพิลีน (PP) ประมาณ 3 แสนตันต่อปี หลังเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ในงวดไตรมาส 3ที่ผ่านมา

ขณะที่ โครงการ EVEREST จะเข้ามาเสริมทัพเรื่องการเพิ่มขีดความสามารถขององค์กรตั้งแต่ปลายปี 2560 และในปีหน้าโครงการ EVEREST คาดว่าจะสร้างกำไรก่อนหักภาษี หรือ EBITDA ในระดับ “หมื่นล้านบาท”จากปีนี้คาดอยู่ที่ 7,000 ล้านบาท แม้ว่าในครึ่งปีแรกจะทำได้เพียง 2,400 ล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมาย แต่ไตรมาส 3 ที่ผ่านมา ทำได้ 2,000 ล้านบาท ฉะนั้น เชื่อว่าไตรมาส 4 ปี 2460 มีความเป็นไปได้ที่จำที่เหลืออีก 2,600 ล้านบาทได้ 

สุกฤตย์ บอกว่า การดำเนินงานที่ผ่านมาทำให้องค์กรเริ่มแข็งแกร่งมากขึ้น สะท้อนผ่านผลการดำเนินงานย้อนหลังปี 2558-ไตรมาส3/2560 มีกำไรสุทธิ 9,401 ล้านบาท 9,720 ล้านบาท และ 6,841 ล้านบาท ตามลำดับ และในปี 2560 ตั้งเป้าหมายเติบโตมากกว่าปี 2559

ดังนั้น ไออาร์พีซีพร้อมที่จะลงทุนเพิ่มโดยในแผนธุรกิจ 5 ปี (2561-2565) โดยบริษัทจะมีเงินสดในการลงทุนไม่ต่ำกว่า “แสนล้านบาท” ซึ่งกำลังศึกษาและเริ่มมองการเติบโตออกเป็น 2 ทาง คือ 1.โตในบ้าน และ 2.โตนอกบ้าน ในส่วนของการออกไปทำงานในต่างประเทศ ปัจจุบันกำลังศึกษาเข้าไปลงทุนใน 2 ประเทศ

นั่นคือ “เวียดนาม-อินโดนีเซียน”เพราะว่าทั้งสองประเทศเป็นตลาดใหญ่ และมีอัตราการเติบโตธุรกิจปิโตรเคมีสูงหากเทียบกับเมืองไทย รวมทั้ง 2 ประเทศมีการนำเข้าปิโตรเคมีอยู่แล้ว ฉะนั้น หากมีโอกาสลงทุนในประเทศดังกล่าวจะได้เปรียบมากกว่า 

“อนาคตเรามีโอกาสเข้าไปลงทุนทั้งสองประเทศ คาดว่าจะเห็นการขยับตัวในปีหน้า” 

ทำไมเลือกปักหมุดประเทศนี้ก่อนเพื่อน เขาตอบว่า ในช่วง 10-20 ปีข้างหน้า เวียดนามและอินโดนีเซียยังสามารถเติบโตได้อีกมาก สะท้อนผ่านการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของทั้งสองประเทศมีอัตราการเติบโตสูง และธุรกิจปิโตเคมีในทุกประเทศทั่วโลกจะมีอัตราการเติบโตมากกว่าจีดีพีของประเทศนั้นๆ รวมทั้งจำนวนประชากรที่มีจำนวนมากซึ่งเวียดนามมีประชากรอยู่ 90 ล้านคน สูงกว่าไทยที่มีประชากรเพียง 70 ล้านคน ฉะนั้นโอกาสจะเห็นการบริโภคปิโตรเคมีมากขึ้นในอนาคตไม่ใช่เรื่องยาก

“เวียดนาม GDP ขยายตัวเฉลี่ยปีละ 6-7% ส่วนประเทศไทยเติบโต 3% ฉะนั้นความต้องการใช้ปิโตรเคมีและน้ำมันยังมีอีกมาก เวียดนามมีลักษณะคล้ายเมืองไทยเมื่อ 20-30 ปีก่อน”

ขณะเดียวกันการเข้าลงทุนในเวียดนามครั้งนี้ ถือเป็นการสนับสนุนการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ทางหนึ่ง ที่สำคัญเวียดนามยังมีต้นทุนค่าแรงถูกกว่าเมืองไทยค่อนข้างมาก

“ปีหน้ามีโอกาสเห็นไออาร์พีซีขยับตัวออกไปลงทุนต่างประเทศครั้งแรก หลังจากเรามีความแข็งแกร่งทุกด้าน จะลงทุนเองหรือโครงการใหญ่อาจต้องมีพาร์ทเนอร์ร่วมด้วย เราพร้อมที่จะเปิดโอกาสหาหนทางการเติบโตใหม่ๆ”

กรรมการผู้จัดการใหญ่ไออาร์พีซี ยังบอกด้วยว่า วิธีการเติบโตภายในประเทศ สำหรับปีหน้า ไออาร์พีซี มีแผนลงทุนต่อเนื่อง ผ่านการลงทุนโครงการ “โครงการ IRPC 4.0” โดยบริษัทจะมีการลงทุนใน 3 ส่วน ประกอบด้วย

1.พลังการเติบโต หรือ Power growth นั่นคือ บริษัทมีแผนลงทุนโครงการ Beyond Everest ในการผลิตพาราไซลีน กำลังการผลิต 1 ล้านตัน งบลงทุน 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ คาดว่าจะได้ข้อสรุปไตรมาส 1 ปี 2560 ซึ่งหากได้รับอนุมัติจะมีการจัดทำแบบ จัดหาผู้รับเหมาต่อไป คาดว่าเริ่มก่อสร้างปี 2562 และจะใช้เวลาก่อสร้าง 4-5 ปี

2.พลังเทคโนโลยี หรือ Power digital เนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในยุคเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก ทำให้บริษัทต้องมีการนำระบบดิจิตอลและนวัตกรรมที่ทันสมัยเข้ามาใช้ทุกขั้นตอนของธุรกิจเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล “ไทยแลนด์ 4.0” ชื่อโครงการว่า โครงการ IRPC 4.0 จะใช้เงินลงทุนราว 10 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 330 ล้านบาท ระยะเวลาโครงการนาน 2 ปี ซึ่งจะเป็นโครงการที่ช่วยให้บริษัทลดต้นทุนและสร้างกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ค่าเสื่อมและภาษี (EBITDA) ประมาณ 100 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 3,300 ล้านบาท ทำให้บริษัทบรรลุเป้าหมายในปี 2563 มี EBITDA ราว 2.9 หมื่นล้านบาท

และ 3. พลังคน หรือ Power population เป็นการเตรียมความพร้อมของพนักงาน เพราะว่าบริษัทมีการนำเทคโนโลยีมาใช้กับพนักงานเพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น เราก็ต้องปรับเปลี่ยน ภายใต้โครงการ “NEW DNA” ซึ่งเป็นการสร้างเลือดใหม่ ที่จะมาขับเคลื่อน ไออาร์พีซี 4.0

และนี่คือ แผนยุทธศาสตร์ปีหน้า และใช้เวลาดำเนินการภายใน 2 ปี (2561-2562) เมื่อโครงการแล้วเสร็จ ทำให้บริษัทบรรลุเป้าหมายในปี 2563 มี EBITDA ราว 2.9 หมื่นล้านบาท

เขายัง วิเคราะห์ทิศทาง “ธุรกิจปิโตรเคมี” ตลอดปี 2560 ว่า หากพิจารณาภาพรวมยังดูดีขึ้น แต่คาดว่าปีหน้า “ทรงตัว” เทียบกับปีนี้ หลังราคาน้ำมันดิบอาจปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ ฉะนั้นจะทำให้ต้นทุนวัตถุดิบขยับสูงขึ้น และส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ (สเปรด) อาจอ่อนตัว

สำหรับทิศทาง “ธุรกิจโรงกลั่น” ในปี 2560 แนวโน้มดีขึ้นกว่าปีก่อน เนื่องจากไม่มีกำลังการผลิตใหม่เติมเข้ามา ฉะนั้นมาร์จิ้นโรงกลั่นคงปรับตัวดีขึ้น แต่ในระยะยาวธุรกิจโรงกลั่นยังมี “ความเสี่ยง”เพราะในอนาคตอาจมีเทคโนโลยีใหม่เข้ามาทดแทน

ฉะนั้น ในธุรกิจโรงกลั่นบริษัทไม่ได้เน้นมาก เพราะในระยะยาวธุรกิจโรงกลั่นจะมีเทคโนโลยีจำพวกรถไฟฟ้าเข้ามา ส่งผลให้การเติบโตของธุรกิจน้ำมันอาจจะไม่เหมือนในอดีต ขึ้นอยู่ที่เทคโนโลยีใหม่จะเข้ามาเมื่อไหร่ โดยแผนเราจะเพิ่มประสิทธิภาพอย่างเดียว แต่บริษัทจะเน้นในส่วนของธุรกิจปิโตรเคมีมากกว่า

“ในโรงกลั่นเราจะไม่เน้นเพิ่มกำลังการผลิต แต่จะเน้นเพิ่มประสิทธิภาพสูง โดยการลดเชื้อเพลิง และเพิ่มมูลค่าโปรดักส์ให้สูงขึ้น ซึ่งจะทำให้ผลตอบแทนสูงขึ้นด้วย”

สุดท้าย “เอ็มดีใหญ่” ฝากไว้ว่า ธุรกิจต่อจากนี้ IRPC จะเติบโตควบคู่ไปกับเศรษฐกิจโลก เพราะว่าเราพร้อมในการแข่งขันทั้งในและต่างประเทศแล้ว

----------------------------

โรงกลั่น“พระเอก”ปีหน้า 

สุกฤตย์ สุรบถโสภณ กรรมการผู้จัดการใหญ่บมจ.ไออาร์พีซี คาดว่ารายได้-กำไรสุทธิ ในปี 2561 จะทำสถิตินิวไฮสูงสุดตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทมา เนื่องจากธุรกิจโรงกลั่นมีกำลังการผลิตเฉลี่ย 2.1 แสนบาร์เรลต่อวัน จากที่ไม่มีการหยุดซ่อมบำรุงโรงกลั่น จากเดิมเฉลี่ยอยู่ที่ 1.8-1.9 แสนบาร์เรลต่อวัน ประกอบกับ ทิศทางค่าการกลั่นอยู่ในระดับดี แม้ว่าจะอ่อนตัวจากช่วงปลายปีนี้นิดหน่อย

4-5 ปีที่ผ่านมา ถือว่าธุรกิจโรงกลั่นแย่ค่าการกลั่นอยู่ในระดับต่ำ 

ดังนั้น ผู้ประกอบการไม่มีใครขยายกำลังการผลิตใหม่ ทำให้ปัจจุบันเริ่มเห็นว่า ดีมานด์สูงกว่าซัพพลาย ส่งผลให้ค่าการกลั่นเริ่มกลับมาเป็นบวกแล้ว คิดว่าราคาค่าการกลั่นจะดีต่อเนื่องไปอีก 1-2 ปีข้างหน้า และถือว่าธุรกิจโรงกลั่นกำลังเป็นช่วง “ขาขึ้น”ของธุรกิจ

สำหรับไตรมาส 4 ปี 2560 กำลังการกลั่นยังอยู่ระดับสูงที่ 2.1 แสนล้านบาร์เรล เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 3/2560 ที่มีกำลังการกลั่น 2.01 แสนบาร์เรลต่อวัน จากความต้องการที่เพิ่มขึ้น ทำให้ปีนี้คาดว่ากำลังการกลั่นเฉลี่ยสูงกว่า เป้าหมายที่ตั้งไว้เฉลี่ย 1.8 แสนบาร์เรลต่อวัน ขณะที่ค่าการกลั่น (Market GIM ) ยังอยู่ระดับสูงอยู่แล้ว แม้จะลดลงเล็กน้อยจากไตรมาส 3 ปี 2560 ที่ 15.05 เหรียญต่อบาร์เรล โดยคาดว่า Market GIM ปีนี้จะอยู่ที่ประมารณ 15 เหรียญต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 1-2 เหรียญต่อบาร์เรล จากปีก่อนที่อยู่ 13 เหรียญต่อบาร์เรล ดังนั้น บริษัทมั่นใจว่ากำไรสุทธิปีนี้สูงกว่าปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 9,700 ล้านบาท

“ในไตรมาส 3/60 ค่าการลั่นสูง เพราะโรงกลั่นน้ำมันและโรงปิโตรเคมีในสหรัฐอเมริกาหยุดการผลิตชั่วคราวจากผลกระทบจากเฮอริเคน และการปิดซ่อมบำรุงในภูมิภาค ซึ่งไตรมาส 4/60 ค่าการกลั่นอ่อนตัวลงมา แต่ยังอยู่ระดับที่ดี”

“ฉะนั้น ปีนี้และปีหน้า ธุรกิจโรงกลั่นน่าจะยังเป็นพระเอก”

นอกจากนี้ บริษัทจะรับรู้รายได้โครงการโรงไฟฟ้า “ไออาร์พีซี คลีนพาวเวอร์” (IRPC-CP) ขนาด 240 เมกะวัตต์ เข้ามาเต็มปี โดยบริษัทถือหุ้นสัดส่วน 49% และ บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ หรือ GPSC ถือหุ้น 51% ปัจจุบันอยู่ระหว่างการทดสอบการเดินเครื่อง โดยใช้ในโรงงานและขายให้กับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)

สำหรับปี 2561 คาดว่าจะใช้เงินลงทุน 5,500 ล้านบาท เพื่อใช้ลงทุนต่อเนื่องในโครงการเดิม ประมาณกว่า 2,000 ล้านบาท และ ใช้ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต อีกว่า 2,000 ล้านบาท โดยแหล่งเงินทุนจะมาจากกระแสเงินสดของบริษัท

และอีก “ปัจจัยบวก”คือ ราคาน้ำมันดิบโลกปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ หลังจากประเทศซาอุดิอารเบียมีปัญหาภายในเลยทำให้ราคาน้ำมันดิบสูงขึ้น โดยราคาน้ำมันดิบดูไบปัจจุบันปรับขึ้นมาถึง 62-64 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งไม่ได้เห็นราคาน้ำมันดิบปรับขึ้นมาสูงในระดับนี้ตั้งแต่ “วิกฤติเศรษฐกิจแฮมเบอร์เกอร์” เมื่อปี 2552 ถือว่าเป็นราคานิวไฮนับตั้งแต่ราคาร่วงลงมาจากราคาน้ำมันดิบโลก 145 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งจะทำให้บริษัทมีกำไรจากสต๊อกแกรน ราคาน้ำมันเฉลี่ยน่าจะอยู่ที่ 51-52 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ถือว่ายังไม่สูงเท่าไหร่ มองว่าปีหน้าจะสูงกว่านี้ โดยกลุ่ม ปตท. คาดว่าจะอยู่ที่ 52-57 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

-------------------

4 ยุคการเปลี่ยนแปลง

ไออาร์พีซี (อดีตบมจ.อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย-ทีพีไอ) ถือเป็นองค์กรที่ผ่านมือผู้บริหารมาแล้วถึง“4รุ่น”นับตั้งแต่ปี 2549 ที่ปตท. เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่สัดส่วน 38.51% หลังการปรับโครงสร้างหนี้

ยุคแรก (ปี 2549-2552) เรียกว่าเป็น“ยุคการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างบริษัทใหม่” โดยมี “ดร.ปิติ ยิ้มประเสริฐ” นั่งเป็นแม่ทัพใหญ่ ช่วงนั้นเป็นยุคที่บริษัทได้ดำเนินการสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจในภาพลักษณ์ใหม่ขององค์กร (Re - branding) จากเดิมที่ใช้ชื่อ บมจ.อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย หรือ TPI มาเป็น บมจ.ไออาร์พีซี หรือ IRPC ในปัจจุบัน

ยุคสอง (ปี 2552-2555) เรียกว่าเป็น “ยุคเริ่มต้นการลงทุน” โดยมี “ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร”เป็นผู้นำในการลงทุนโครงการต่างๆ และเป็นจุดกำเนินโครงการลงทุนที่เรียกว่า“โครงการฟีนิกซ์”ซึ่งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในโรงงาน และต่อเนื่องด้วย โครงการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ หรือ UHV

ยุคสาม (2555-2556) เรียกว่าเป็น“ยุคการสานต่อโครงการ”โดยมี“อธิคม เติบศิริ”เข้ามาทำงานต่อจากดร.ไพรินทร์ ซึ่งทำอยู่ได้เพียง 2 ปี ก่อนจะโยกย้ายไปรับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่บมจ.ไทยออยล์ หรือ TOP

และยุคสี่ (2556-ปัจจุบัน) โดยมี “สุกฤตย์ สุรบถโสภณ” เข้ามารับภารกิจต่อยอดธุรกิจด้วยการลงทุน โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการตลาด หรือ Delta ซึ่งเป็นการลงทุนด้าน Soft ware เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงานและต่อเนื่องมาโครงการ EVEREST ล่าสุดโครงการต่อไปคือ “IRPC 4.0” ที่จะเริ่มลงทุนในปีหน้า