‘อมาเดอุส’ชี้นักท่องเที่ยวไทย'เปิดใจ-เปิดเผย'มากสุดในเอเชีย

‘อมาเดอุส’ชี้นักท่องเที่ยวไทย'เปิดใจ-เปิดเผย'มากสุดในเอเชีย

เมื่อเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทต่อการท่องเที่ยว พฤติกรรมของคนไทยก็เปลี่ยนแปลงตามไปด้วย ผลงานวิจัยล่าสุดของ “อมาเดอุส” หัวข้อ The Journey of Me Insights : What Thai Travellers want ร่วมกับ YouGov

ถอดรหัสออกมาเป็นข้อมูลที่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวนำมาปรับใช้ได้เพื่อครองใจลูกค้า

โจฮาน นอร์ควิสท์ ผู้อำนวยการฝ่ายภูมิภาค อมาเดอุส เอเชียแปซิฟิก ประจำสำนักงานกรุงเทพฯ กล่าวว่า จากการสำรวจคนไทยกว่า 400 คน เป็น 1 ใน 14 ประเทศ ในเอเชียแปซิฟิกที่ทำการสำรวจ ได้เห็นผลที่แตกต่างจากนักท่องเที่ยวชาติอื่นหลายด้าน โดยเฉพาะ “พฤติกรรมง่ายๆ สบายๆ”  มากที่สุดประเทศหนึ่งในการสำรวจครั้งนี้ 

โดยสะท้อนผ่านคำถามสำคัญถึงสิ่งที่สร้างความ “พึงพอใจ” เมื่อไปเที่ยวต่างแดนเทียบกับนักท่องเที่ยวประเทศอื่น พบว่าคนไทยที่ใส่ใจว่าจะ “ต้องมีอาหารและเครื่องดื่มจากประเทศของตัวเอง” ในจุดหมายนั้นๆ มีเพียง 29% จากค่าเฉลี่ยของเอเชียแปซิฟิกที่สูง 36% เช่นเดียวกับความต้องการ “พนักงานสื่อสารที่เข้าใจภาษาไทย” คนไทยให้ค่าต่อปัจจัยนี้เพียง 8% ต่างจากเอเชียแปซิฟิกสูงถึง 47% สนใจว่าจะ “ต้องมีหนังสือพิมพ์และทีวีที่เผยแพร่ภาษาที่ตัวเองเข้าใจได้” เพียง 25% ต่ำกว่าอีก 13 ประเทศ ที่มีค่าเฉลี่ย 40%  ในแง่นี้ อาจเป็นได้ว่าคนไทยเรียนรู้ภาษาอังกฤษในเกณฑ์ดีอยู่แล้ว ประกอบกับพื้นฐานการใช้ภาษาไทยในวงไม่กี่ประเทศ

อีกประเด็นที่น่าสนใจ คนไทยมีแนวโน้มยินดีแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นส่วนตัว หากทำให้ได้รับข้อเสนอด้านการท่องเที่ยวที่พิเศษตอบสนองความต้องการเฉพาะตัวมากขึ้น พบว่ากลุ่มนี้สูง 79% มากกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาคที่ยังหวงแหนความเป็นส่วนตัว มีสัดส่วนยอมแลกข้อมูล 64% เท่านั้น

จึงเป็นโอกาสสำหรับธุรกิจที่ต้องเร่งจัดทำและใช้ประโยชน์จาก Big Data เปิดคลังจัดเก็บข้อมูลเชิงพฤติกรรมการท่องเที่ยวของคนไทย และรู้จักนำเทคโนโลยีมาตอบสนองใช้ประโยชน์สูงสุด ซึ่งข้อมูลเรื่องการติดต่อสื่อสารในการท่องเที่ยวไทย 62% ่ใช้แพลตฟอร์มออนไลน์  เช่น 62% เปิดแผนที่และดูข้อมูลสถานที่ มากกว่าค่าเฉลี่ยเอเชียแปซิฟิกอยู่ที่ราว 55%  หรือ นิยมการ “แบ่งปันประสบการณ์” ผ่านการโพสต์ภาพลงโซเชียลมีเดีย 59% มากกว่าเช่นกันเมื่อเทียบค่าเฉลี่ยภูมิภาคอยู่ที่ 54% โดยมี 3 แอพพลิเคชันที่นิยมสูงสุด ได้แก่ กูเกิลแมพ เฟซบุ๊ค และไลน์

ขณะที่ประเทศอื่นๆ ต้องการคำแนะนำที่ช่วยประหยัดเงินด้านการท่องเที่ยว 37% สำหรับคนไทยกลับสนใจเรื่องเงินๆ ทองๆ น้อยกว่าเล็กน้อยที่ 36% โดยสิ่งที่ให้ความสำคัญมากคือ ธุรกิจต่างๆ ต้องช่วยค้นหาความต้องการที่กระทั่งเจ้าตัวเองอาจยังไม่รู้ตัวว่ามีอยู่ แต่หยิบยกมานำเสนอเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดการเดินทางได้

ด้านการปฏิสัมพันธ์กับคนไทย มีมิติที่ต้องจับตามอง ผลสำรวจระบุว่ามีถึง 47% ที่นิยมให้ติดต่อผ่านโซเชียลมีเดีย ขณะที่คนที่ยังพอใจกับการรับอีเมล์มีเพียง 17%  คนไทยมีแนวโน้มต้องการได้รับการดูแลในเชิงข้อมูลคำเตือนที่เป็นประโยชน์ด้านความปลอดภัยสูงมาก มีถึง 66% ที่ระบุว่ามักหลีกเลี่ยงสถานที่สภาพอากาศเลวร้าย และมักมีความต้องการให้เพื่อนและครอบครัว  โรงแรมที่พักซึ่งเข้าไปเป็นลูกค้า หรือสถานทูต/หน่วยงานรัฐบาล ช่วยอัพเดทความปลอดภัยระหว่างท่องเที่ยว

จากการวิจัยจะพบว่า นักท่องเที่ยวไทยเป็นประเทศที่ค่อนข้างเปิดใจกว้าง และมีพฤติกรรมที่ยืดหยุ่นพร้อมปรับตัวเข้ากับสถานการณ์และเทคโนโลยีใหม่ๆ มากกว่าอีกหลายประเทศ เช่น ยอมให้เข้าถึงข้อมูลส่วนตัว 79% เป็นอัตราที่สูงมากเมื่อเทียบญี่ปุ่น ที่ยินยอมเปิดเผยความเป็นส่วนตัว 30% เท่านั้น ขณะเดียวกันยังพร้อมเชื่อถือข้อมูลจากการรีวิวหรือบันทึกประสบการณ์ของนักท่องเที่ยวคนอื่นๆ ทั้งที่เป็นญาติมิตรหรืออื่นๆ ที่มีพื้นฐานความชอบเหมือนตัวเองในอัตราสูงถึง 43%

ดัชนี้ที่บ่งบอกว่าไทยพึงพอใจในการรับบริการง่ายกว่าชาติอื่น คือ ตัวเลข 11% ที่ระบุว่าไม่เคยมีความพึงพอใจเกินความคาดหวังเลย ต่างจากชาติอื่นๆ ที่มีอัตราสูง 14%

โจฮาน กล่าวว่า ด้วยความต้องการของนักท่องเที่ยวสมัยใหม่ ที่ต้องการ“เชื่อมต่อโลกอินเทอร์เน็ตตลอดเวลา” ระหว่างไปต่างประเทศ ทำให้อมาเดอุส ซึ่งเดิมมีพื้นฐานด้านการให้บริการระบบจัดจำหน่ายและให้ข้อมูลการเดินทางต่อธุรกิจในด้านท่องเที่ยว เช่น สายการบิน โรงแรม บริษัทนำเที่ยว ต้องเริ่มมองการขยายนอกขอบเขตเก่า และก้าวสู่การใช้เทคโนโลยีตอบสนองลูกค้าได้ เช่น จัดทำแอพพลิเคชันให้ดาวน์โหลดลงโทรศัพท์มือถือ เพื่อติดตามการจองตั๋วเครื่องบิน ให้ข้อมูลที่สนามบิน เช็คอิน บอกตำแหน่งประตูขึ้นเครื่องที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงกะทันหันได้ทันที

พร้อมนำเสนอโซลูชั่นไอทีใหม่ เช่น ระบบ Altéa หรือ New Skies ซึ่งมีลูกค้าสายการบินใช้บริการแล้ว 201 สาย ทั้งมีแผนกระตุ้นให้บริษัทนำเที่ยวแบบดั้งเดิมของไทยที่ยังครองส่วนแบ่งหลักก้าวข้ามสู่การจับตลาดออนไลน์มากขึ้นรองรับพฤติกรรมนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไป

แม้ปัจจุบัน อมาเดอุส จะมีธุรกิจรายใหญ่ในมือทั่วโลก เช่น สายการบินกว่า 700 แห่ง รวมถึงเกือบทุกสายการบินพาณิชย์ในไทยที่ใช้ระบบเชื่อมต่อกับบริษัท พร้อมให้ความสำคัญกับธุรกิจ “สตาร์ทอัพ” ที่รัฐบาลไทยกำลังส่งเสริมด้วย ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเปิดโครงการ อมาเดอุส เน็กซ์ ให้ความช่วยเหลือกลุ่มธุรกิจรุ่นใหม่ให้เข้าถึงและนำเทคโนโลยีเข้าถึงตลาดท่องเที่ยวได้ โดยส่งเสริมความรู้ความเชี่ยวชาญ รับฟังความต้องการและออกแบบบริการที่เหมาะสมแต่ละราย รวมถึงร่วมลงทุนในธุรกิจที่มีศักยภาพ นับตั้งแต่เปิดตัวในภูมิภาคได้ช่วยเหลือสตาร์ทอัพ 33 ราย และพาร์ทเนอร์ 71 ราย

ธุรกิจท่องเที่ยวทั้งออนไลน์-ออฟไลน์ต้องลงลึกพฤติกรรมนักท่องเที่ยว ที่ผ่านมาอมาเดอุส ลงทุนวิจัยด้านเทคโนโลยีระดับโลกกว่า 4,000 ล้านยูโร เพื่อให้สาขาของบริษัทที่มีอยู่ในทุกประเทศกลุ่มเอเชียแปซิฟิก นำไปปรับใช้ให้ตรงกับความต้องการท้องถิ่นต่อไป”

การสำรวจนี้ มีกลุ่มตัวอย่างรวม 6,870 คน จาก 14 ประเทศในเอเชียแปซิฟิคและออสเตรเลีย จัดทำเฉพาะกลุ่มที่มีการเดินทางโดยเครื่องบินในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา สำรวจระหว่างวันที่ 8-17 พ.ค.ผ่านการจัดเก็บทางข้อมูลออนไลน์เป็นหลัก

อมาเดอุส เป็นธุรกิจจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ประเทศสเปน มีมูลค่าปัจจุบัน 2.7 หมื่นล้านดอลลาร์ ขณะที่การขยายธุรกิจมายังเอเชียแปซิฟิกเลือกกรุงเทพฯ เป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาค เพราะเป็นตลาดสำคัญที่สุดในทวีปนี้