ถอดรหัส ‘จักรวาล’

ถอดรหัส ‘จักรวาล’

ไม่ต้องรอให้ร้องเพลงจบ และไม่ต้องรอให้พิธีกรบอกว่า “ถอดหน้ากากครับ!” เพราะถึงเวลาแล้วที่ Music Director ที่ดังที่สุดแห่งปีจะมาให้เราถอดรหัสแห่ง ‘จักรวาล’

            อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของศิลปินมานาน กระทั่งได้โอกาสเปิดเผยโฉมหน้า ในวันนี้แทบไม่มีใครไม่รู้จัก หนึ่ง – จักรวาล เสาธงยุติธรรม ทั้งบทบาท Music Director ฝีมือเยี่ยม และหนึ่งในเมนเทอร์สุดกวนแต่น่ารักของรายการร้องเพลงชื่อดังหลายรายการ จนพูดได้เต็มปากเลยว่านี่เป็นยุคทองของเขาทีเดียว

            แต่กว่าจะมาถึงยุคทอง ย่อมมียุคกัดก้อนเกลือกิน เพราะเขาคือคนหนึ่งที่เริ่มจากศูนย์...ไม่สิ...อาจถึงขั้น ‘ติดลบ’ แต่อะไรที่ทำให้จากเด็กในชุมชนแออัดย่านคลองเตยที่ใครๆ ก็ตีตราว่าย่ำแย่ ไปได้ไกลสู่ห้วงจักรวาลได้ขนาดนี้

            ...ถึงเวลาถอดรหัสครับ!

  • พรแสวง X พรสวรรค์

            “ตอนเด็กๆ ผมแอบฟังดนตรีจากโรงเรียนแห่งหนึ่งในย่านสลัมคลองเตย มันเหมือนเป็นจุดประกายครั้งแรกให้ผมอยากเล่นดนตรี”

            โรงเรียนที่ หนึ่ง จักรวาล กล่าวถึงนั้นคือ ‘โรงเรียนศูนย์รวมน้ำใจ คลองเตย’ ซึ่งเขาไม่ได้เรียนที่นั่น แต่ความผูกพันคือโรงเรียนนี้กับบ้านของเขาอยู่ติดกัน ทุกเช้าและเย็นจะได้ยินเสียงเพลงเสียงดนตรีดังมาจากฝั่งโรงเรียน เพราะโรงเรียนมีสอนดนตรี เขาจึงคล้ายได้ฟังเพลงฟรีทุกวัน ทั้งที่บ้านไม่มีสตางค์ซื้อวิทยุด้วยซ้ำไป

            “มันเป็นการเรียนรู้ที่ต้องบอกว่าเป็นบุญคุณมาก เป็นประสบการณ์อย่างหนึ่งที่เราได้ยินเพลงจากโรงเรียนนี้”

            เสียงดนตรีที่เล็ดลอดมาเข้าหูของเขามีทั้งจากวงโยธวาทิต ทั้งวงสตริง ทั้งวงลูกทุ่ง เป็นการได้ฟังดนตรีอย่างหลากหลาย ยิ่งซึมซับยิ่งกลายเป็นส่วนหนึ่งของมวลสารในร่างกาย แม้ไม่ได้เป็นศิษย์โรงเรียนนี้ แต่ทุกครั้งที่โรงเรียนนี้ประกวดดนตรีซึ่งบางครั้งก็ชนะเลิศ จากฟังจึงกลายเป็นวิเคราะห์ว่าทำไมถึงชนะ

            “ผมเริ่มได้สังเกตว่าเล่นแบบนี้ ทำแบบนี้ ผมฟังไปเรียนรู้ไป ถึงจะไม่มีเครื่องดนตรีไว้ซ้อมเหมือนโรงเรียนเขา แต่เราได้แอบดูเขาเล่น เหมือนเราได้เรียนทางลัด ทุกคนเป็นครูเราเหมือนกัน แบบครูพักลักจำ

            วิธีการเรียนดนตรีของผมจึงเป็นการใช้หูเพื่อฟัง เหมือนกับที่พ่อสอน พ่อสอนว่าเราไม่มีเงินซื้อเครื่องดนตรีพวกนี้หรอก แต่ทุกคนมีหูและมีจินตนาการ พยายามจับเสียงที่เขาเล่น และคิดให้ได้ว่าเสียงนั้นคือเสียงแบบไหน คีย์อะไร โน้ตตัวไหน จนวันหนึ่งมีคีย์บอร์ดตัวเล็กๆ ของตัวเอง ก็นั่งเล่นไปทุกวัน หัดซ้อมทุกวัน เล่นตามเขา เขาเล่นอะไรมาก็เล่นแบบนกแก้วนกขุนทอง ทุกวันจนซึมซับ

            บางคนบอกว่าเป็นพรสวรรค์ แต่ผมซ้อมทั้งวันทุกวัน เพราะถ้าผมไม่ซ้อมทั้งวัน ชีวิตผมก็อาจจะยังอยู่แค่ในย่านสลัม ซึ่งก็รู้กันอยู่แล้วว่าเป็นย่านที่น่ากลัวมาก หลายคนก็ติดยา แต่เราอยู่กับดนตรีทั้งวัน อยู่กับตัวเองโดยที่ไม่มีใครสอนเรา"

  • เปลี่ยน ‘ด้อย’ เป็น ‘เด่น’

            พูดถึงบ้านเก่าของหนึ่ง-จักรวาล ก่อนหน้าที่จะได้มาอยู่ติดโรงเรียนศูนย์รวมน้ำใจฯ จะว่าไปก็บ้านเก่าไม่ใช่บ้านของครอบครัวและไม่ใช่บ้านเช่า แต่เป็นพื้นที่ที่เจ้าของให้อยู่กันไป จนวันใดวันหนึ่งเจ้าของอยากได้ที่ดินคืน ผู้อาศัยจะกลายสภาพเป็นผู้อพยพทันที

            หนึ่งเล่าว่าถ้าไม่ยอมออกก็จะเกิดเหตุการณ์ทำนองเผาไล่ที่ ซึ่งครอบครัวของเขาก็เฉียดสถานการณ์นั้นเหมือนกัน

            “พ่อของผมทำงานการท่าเรือแห่งประเทศไทย ก็เลยได้สวัสดิการที่อยู่ของพนักงาน ลักษณะเป็นแฟลต ก็เลยย้ายมาอยู่ที่แฟลตที่หลังบ้านเป็นโรงเรียนศูนย์รวมน้ำใจฯ สมัยตอนที่อยู่สลัมมันน่ากลัวกว่าสมัยนี้เยอะมากนะ สมัย 40 กว่าปีที่แล้ววันๆ ต้องเจอแต่คนติดยา เจอตำรวจวิ่งไล่จับผู้ร้าย พ่อค้าแม่ค้าด่ากันเสียงดัง คนติดยาบางคนก็มานอนตายคาเข็มหน้าบ้านเรา เราเห็นสภาพแบบนี้มาจนชินแล้ว จนไม่คิดว่าเป็นเรื่องแปลกอะไร”

            เหมือนว่าโลกนี้โหดร้ายเกินกว่าจะดำรงชีวิตได้ และการมีชีวิตอยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมแบบนี้ให้รอดปลอดภัยดูจะเป็นเรื่องยาก แต่เหตุผลเดียวที่เขาบอกว่าเป็นภูมิคุ้มกันชั้นดีโดยไม่ต้องฉีดวัคซีนคือ ‘แม่ดุมาก’

            “แม่เป็นคนดุมาก และตีหนักมาก แม่ไม่ค่อยให้ออกไปนอกบ้าน พออยู่แต่ในบ้านเราก็ได้ยินเสียงเพลงเพราะพ่อชอบร้องเพลง พ่อชอบสอนคุณอาร้องเพลง เขาร้องเพลงกัน เราก็ได้ยินไปด้วย พ่อสอนโดยไม่มีเครื่องมือ เนื้อเพลงเป็นแบบนี้ พูดถึงอะไร เหมือนสอนให้จินตนาการตาม สอนแบบไม่มีตำรา มันดีตรงที่เมื่อก่อนเป็นเพลงลูกทุ่ง เพลงลูกทุ่งสมัยก่อนจะเล่าเรื่อง ทุกอย่างเป็นการเล่าเรื่อง เรื่องธรรมชาติ เรื่องความรัก มีเรื่องราว พ่อให้จินตนาการตามว่าสิ่งพวกนี้เป็นอย่างไร บางทีพ่อก็พาไปเที่ยว ฟังเสียงสิ่งแวดล้อมว่าเป็นอย่างไร ก็เลยเป็นการเรียนรู้โดยที่เราไม่รู้ตัว”

            และการดุของแม่ในวันนั้นก็ช่วยชีวิตของเขาให้พ้นจากนรกด้วย เพราะทุกวันนี้เพื่อนของหนึ่งในสลัมคลองเตยเสียชีวิตหมดแล้วจากยาเสพติด

            ส่วนพ่อซึ่งเปรียบเสมือนครูดนตรีคนแรก เป็นชายขาพิการจากการทำงาน แต่ยังหาเลี้ยงครอบครัวจนลูกทุกคนเรียนจบ จนโต

            เขาเล่าให้ฟังว่า “เกิดมาก็เห็นพ่อขาพิการแล้ว ด้วยอุบัติเหตุจากการทำงานนั่นแหละ ผมก็เลยสู้ พ่อผมยังสู้เลย จริงๆ มีคนบอกว่าพ่ออาจจะต้องเสียชีวิตไปแล้วเพราะอุบัติเหตุครั้งนั้นแรงมาก แต่จนพ่อฟื้น ถือไม้เท้า และยังทำงานในสิ่งที่เขาทำอยู่ หาเลี้ยงพวกเรามา เรามองว่าพ่อสู้ชีวิตมาก ผมรู้ว่าเลยว่าพ่อคิดว่าถ้าเผื่อเขาเสียชีวิตในวันนั้น แม่ ผม น้อง จะกินอะไร จะอยู่อย่างไร”

            การเรียนไร้ตำราดำเนินไปเรื่อยๆ จนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 1 เขากระโดดขึ้นเวทีจริงคือเริ่มเล่นดนตรีในคาเฟ่ ด้วยเหตุผลง่ายๆ คือ อยากรู้ว่านักดนตรีเขาเล่นอย่างไร มีเทคนิคอย่างไร เพราะนักดนตรีมีสองแบบคือเล่นได้กับเล่นดี ส่วนมากคือเล่นได้ แต่พวกเล่นดีมีน้อยเพราะยาก เขาพัฒนาฝีมือจนนักร้องและนักดนตรีด้วยกันเอ่ยชมว่าเล่นดี

            “ผมเล่นคาเฟ่โดยที่อ่านโน้ตไม่ออก และทำใจแล้วว่าต้องยอมทนกับอุปสรรคต่างๆ อย่างแรกคือโดนด่าแน่นอนเพราะเราอ่านโน้ตไม่ออก สรุปเราก็โดนด่าจริงๆ โดนด่าทุกวัน ด่าแรง เพราะเราเป็นเด็กแล้วดันทะลึ่งมาเล่นเป็นนักดนตรีอาชีพ พอโดนด่าก็เลยมีแรงขับเคลื่อนที่จะพัฒนา ถ้าเขาไม่ด่าเราก็จะไม่รู้ว่าอะไรถูก อะไรไม่ถูก เคยโดนมาหมด ทั้งโดนด่า โดนไล่ลงเวที โดนในสิ่งที่เด็กสมัยนี้ไม่เคยโดน”

            ความพยายามจาก ‘เล่นได้’ กลายเป็น ‘เล่นดี’ ใช้เวลาตั้งแต่ ม.1 ยันปี 1 นับนิ้วแล้วราวๆ 6 ปี ความพยายาม การฝึกฝน และใฝ่รู้ ถือว่าไม่นานเลยที่หนึ่ง-จักรวาลเคี่ยวกรำ

  • ง่ายๆ แต่ได้ใจ

            กว่าจะรู้ตัวว่าเก่งก็เพราะมีคนบอก บวกกับโอกาสมากมายที่เข้ามา ทำให้เขานึกถึงยุคนี้ที่มีคนถามเขาเสมอว่าเด็กเก่งเกิดขึ้นเต็มไปหมด เขากลัวหรือเปล่า? คำตอบคือ ไม่กลัวคนเก่ง แต่กลัวคนไม่มีโอกาสมากกว่า เพราะนอกจากฝีไม้ลายมือแล้ว หนึ่งได้รับโอกาสเมื่อไรจะคว้าไว้ทั้งหมด

            “ที่ไหนที่เราคิดว่าเราเล่นไม่ได้หรอก เราโดนด่าแน่นอน เราจะไป เราชอบท้าทาย เราไปเพื่อให้มันรอด พอรอดปุ๊บก็เหมือนโอกาสมาถึง พอเราสู้ชีวิตมาจุดหนึ่งก็มีแมวมองมาดูแล้วชวนไปทำงาน”

            งานแรกๆ ที่ได้ทำคือแกะเมโลดี้ทำคาราโอเกะ สมัยก่อนที่คาราโอเกะเข้ามาใหม่ๆ ต้องการคนแกะเมโลดี้ซึ่งต้องใช้ทักษะการฟังเพลงขั้นสูง การฝึกใช้หูมาตลอดได้แปรเป็นเงินก็คราวนี้ จากเด็กเล่นเมโลดี้คาราโอเกะก็เริ่มทำเพลง ได้เล่นอัดเสียง ได้เล่นคอนเสิร์ต ไต่เต้ามาเรื่อยๆ ในที่สุดเพชรแท้ย่อมเป็นเพชรแท้ ความสามารถที่พูดกันปากต่อปากส่งเสริมให้เขาก้าวสู่ความสำเร็จ

            “ผมแตกต่างจากคนอื่นตรงที่ด้วยธรรมชาติของการเล่นดนตรี ต้องแกะตามต้นฉบับ แต่ผมชอบซน เอาเพลงมาทำใหม่ เปลี่ยนเป็นเวอร์ชันนู้นเวอร์ชันนี้ เพลงนี้เล่นตอนกลางวันแบบนี้โอเค แต่พอเล่นเวอร์ชันนี้ตอนกลางคืนไม่ได้แล้ว ทำไปสักพักก็เคยชินโดยที่ไม่รู้ว่าสิ่งเหล่านี้คือการเรียบเรียง ตอนนั้นเป็นของใหม่และไม่เกิดรายได้ แต่วันนี้มันกลายเป็นเม็ดเงินด้วย”

            ความแตกต่างอีกอย่างคือเขามีกติกาประจำใจว่าจะไม่เล่นดนตรีกับเพื่อนรุ่นเดียวกัน เพราะการเล่นดนตรีกับเพื่อน เพื่อนจะเล่นแต่เพลงในยุคนั้น เล่นเพื่อจีบหญิง เล่นเพียงเพื่อสนุก เพียงเพราะมันฮิต แต่เขามองว่าอีกสิบปีจะฮิตหรือเปล่า เขาจึงเล่นแต่กับผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่จะสอนแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์

            ชื่อเสียงและผลงาน น่าจะการันตีได้ในระดับหนึ่งว่า หนึ่ง-จักรวาล ขึ้นแท่น Music Director แถวหน้าของเมืองไทย แต่เจ้าตัวกลับเอ่ยปากทันควันเมื่อถูกยกย่องแบบนี้ ว่า “ผมไม่เคยคิดเลยว่าตัวเองเก่ง หรือสุดยอดแล้ว ผมแค่ทำงานที่เรากลับไปมองตัวเองทุกครั้ง เมื่อก่อนเราทำอะไรไม่เคยได้เลย ไม่เคยมีเครื่องดนตรีเล่น แต่วันนี้เราทำได้ขนาดนี้ ทุกคนรู้จักเรา มีงาน มีเงินมาจุนเจือครอบครัว มีบ้านให้แม่อยู่ จากสิ่งที่ไม่เคยมี ทุกอย่างคือจุดสูงสุดในชีวิตมากกว่าที่จะไปคิดว่าเราจะไปแข่งกับใคร ผมไม่อยากแข่งกับใคร”

            แทบจะเป็นเรื่องเกินคาดฝันไปหมดทุกอย่าง เพราะทุกอย่างที่มีและเกิดขึ้นกับเขาตอนนี้ไม่เคยอยู่ในหัวของเขาเลย อย่างการออกหน้าจอโทรทัศน์ในฐานะใดๆ ก็ตาม หนึ่งถ่อมตัวว่าหน้าตาไม่หล่อก็ไม่เคยคิดว่าจะได้ออกโทรทัศน์ และการเป็นคนพูดเร็วก็เคยถึงขั้นทำให้เขาเคยลาออกจากการเป็นครูมาแล้วด้วยความสงสารลูกศิษย์ที่อาจจะฟังไม่รู้เรื่อง แต่วันนี้เขาก้าวข้ามทุกอย่างที่ว่ามาไปแล้ว

            “สูงสุดในชีวิตของผมคือแค่ได้ทำงานให้ศิลปินที่เราอยากร่วมงานด้วย ซึ่งตอนเด็กๆ เราก็ไม่คิดว่าจะได้เล่นให้ศิลปินเยอะขนาดนี้ แต่ตอนนี้เราได้เล่นให้ทุกคนเลย แค่ทุกคนรู้จักเรา ทุกคนให้งานเราทำ ให้เกียรติเราร่วมงานด้วย แค่นี้ก็คือสุดยอดแล้ว มันเกินที่เราตั้งใจไว้แล้ว”

            ชีวิตติดลบค่อยๆ ขยับกลายเป็นศูนย์ แล้วกลายเป็นหนึ่งในวันนี้ ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่ล้วนเกิดจากปัจจัยมากมายที่เราได้ถอดรหัสกันหมดเปลือก เปลือยหมดใจ และในอีกไม่กี่วันจะมีอีกเครื่องยืนยันถึงความสำเร็จในชีวิตคนทำเพลงคนหนึ่ง คือ คอนเสิร์ตใหญ่ ‘หนึ่งในจักรวาล มิวสิค ฟีโนมีน่อน’ ที่เขาเลือกศิลปินที่จะขึ้นเวที ร้องเพลงที่เขาเรียบเรียงขึ้นใหม่ ทั้งหมด 3 ครั้ง 3 สถานที่ ได้แก่ วันที่ 25 พฤศจิกายน 2560 ที่ปากช่อง จ.นครราชสีมา, วันที่ 16 ธันวาคม 2560 ที่เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ และวันที่ 27 มกราคม 2561 ที่สนาม Chang International Circuit จ.บุรีรัมย์ แน่นอนว่ารายได้หลังหักค่าใช้จ่ายมอบให้การกุศล รวมถึงเป็นทุนการศึกษาแก่โรงเรียนศูนย์รวมน้ำใจ คลองเตย ที่จุดประกายการเล่นดนตรีของเขาด้วย

            “คนเลือกเกิดไม่ได้หรอก ทุกคนก็อยากเกิดมามีเงินมีทองหมดแหละ เมื่อเราเลือกเกิดไม่ได้ แต่เราออกแบบชีวิตตัวเองได้ ไม่ว่าเราจะเกิดในสังคมแบบใด สังคมของผมเป็นลบด้วยนะ แต่มันไม่เกี่ยวหรอก เมื่อคุณมาถึงจุดนี้ต้องไม่ลืมสิ่งที่คุณเคยผ่านมา มันดีที่สุดแล้ว

          เด็กรุ่นใหม่มองข้ามตรงนี้ไป บางคนพยายามเรียนที่แพงๆ ซื้อเครื่องดนตรีแพงๆ แต่ผมไม่ค่อยสนับสนุน เพราะรู้ว่าที่เขาซื้อไม่ใช่เงินเขา แต่เป็นเงินพ่อแม่ เราจะบอกเด็กๆ ว่าเครื่องมือเป็นแค่ส่วนหนึ่ง แต่ถ้าคุณไม่ซ้อมมันเครื่องดนตรีจะกี่ล้านคุณก็เล่นได้เท่าที่ซ้อมจริงๆ แต่ถ้าคุณยืมเครื่องดนตรีเขามาซ้อมทุกวัน เครื่องดนตรีเก่าๆ หรือไม่มียี่ห้อดัง ก็จะดูแพงขึ้นมาทันที ถ้าคุณทำได้ วันหนึ่งที่ทำมาหากินได้แล้วเลี้ยงดูพ่อแม่รับรองว่าคุณจะเจริญ”