ไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์เสริมฝูงบินทวงบัลลังก์‘ญี่ปุ่น-เกาหลี’

ไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์เสริมฝูงบินทวงบัลลังก์‘ญี่ปุ่น-เกาหลี’

หลังจากที่ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ ปักธงเส้นทาง กรุงเทพฯ- ซัปโปโร บุกเบิกเส้นทางเหนือของญี่ปุ่นเป็นโลว์คอสท์รายแรกของไทย แต่จากผลกระทบของ“ธงแดง”จากองค์กรการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ไอซีเอโอ) ซึ่งให้บริการได้เพียง 3 เดือนเท่านั้น

นัตดา บุรณศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ เปิดเผยว่าเมื่อไทยแก้ไขข้อบกพร่องและปลดธงแดงเรียบร้อย จึงเป็นโอกาสให้สายการบิน ประกาศความพร้อมทวงบัลลังก์ตลาดเอเชียเหนือจุดหมายยอดนิยมเอาท์บาวด์ไทย"ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้"คืนทันที

ด้วยการเตรียมรับมอบเครื่องบินใหม่อีก 4 ลำ หรือคิดเป็นอัตราที่นั่งรองรับเพิ่มถึง80% จากเดิมที่มีอยู่ 6 ลำ ซึ่งยังใช้เครื่องบินแอร์บัส เอ330 เหมือนเดิม โดยทยอยรับมอบ 2 ลำแรกช่วงไตรมาสแรก และอีก 2 ลำในไตรมาส 3-4

คาดว่าเส้นทางแรกกลับมาให้บริการคือ"ซัปโปโร" ต้นเดือน มี.ค.เป็นต้นไป ด้วยความถี่เท่าเดิมคือ 1 เที่ยว/ว้น จากนั้นกรุยทางสู่เมืองอื่นๆ เช่นฟุกุโอกะนาโกย่าโอกินาว่า เช่นเดียวกับในเกาหลีใต้ ที่มองเส้นทางทั้งปูซานและเกาะเชจูเพิ่มเติม

จุดแข็งที่จะนำมาสู้ศึกโลว์คอสท์ในครั้งนี้ จะเลี่ยงเปิดสงครามราคามาชู"ความถี่" เที่ยวบินที่เป็นตัวเลือกให้เดินทางได้สะดวกกว่า จากการกรุยทางขยายเที่ยวบินจำนวนมากและมีจุดหมายใหม่เตรียมเปิดตัว รวมถึงใช้ความได้เปรียบในการมีสายการบิน"แอร์เอเชีย เจแปน" เพิ่มขึ้นมา ซึ่งอยู่ระหว่างหารือเพื่อทำงานส่งเสริมการตลาดจัดทำเส้นทางเชื่อมต่อร่วมกัน

ในปี 2561 เมื่อขยายได้เต็มที่ และไร้ข้อจำกัดธงแดง จึงมองว่าเส้นทางของไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ ยังปูพรมเข้าสู่แผนการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เพื่อสร้างการเติบโตระยะยาวต่อได้ แต่จะชัดเจนอย่างไร ต้องขึ้นอยู่กับการรักษาการเติบโตของกำไรไว้ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3

สายการบินสามารถทำกำไรปี 2559 และ 2560 ได้ 40 ล้านบาท และ 80 ล้านบาท ตามลำดับ ปีที่ผ่านมาแม้จะติดปัญหาธงแดงทำให้ไม่มีการรับเครื่องบินใหม่ แต่ยังรักษาต้นทุนและทำอัตราบรรทุกเฉลี่ยสูงถึง 89% (ปรับขึ้นจากปี 2559 อยู่ที่ 85%) ส่งผลทำให้มีกำไรได้ 2 ปีติดต่อกัน

“ไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์ให้บริการมา 4 ปี เริ่มมีกำไรครั้งแรกในปีที่ผ่านมาและทำเพิ่มได้อีกเท่าตัวในปีนี้ แต่เนื่องจากยังไม่เห็นสภาพการแข่งขันว่าจะเป็นอย่างไร จึงประเมินอัตราบรรทุกเฉลี่ยปีหน้าไว้ที่ 86% แต่ด้วยที่นั่งรองรับเพิ่ม คาดว่าผู้โดยสารจะเติบโตจาก 1.6 ล้านคน เป็น 2.2 ล้านคนได้”

ส่วนรายได้ซึ่งเคยทำได้ในปี 2559 ราว 7,900 ล้านบาทนั้น มาในปี 2560 คาดว่าจะเพิ่มเป็น 9,000 ล้านบาท ก่อนจะก้าวกระโดดสู่เป้าหมาย 1.3 หมื่นล้านบาทในปี 2561

ขณะที่ปี 2562 คาดว่าจะเป็นเฟสที่เริ่มมองการขยายไปยังยุโรปครั้งแรก โดยมีเรดาร์ในการพิจารณา ได้แก่ ประเทศกลุ่มยุโรปตะวันออก, สแกนดิเนเวีย และรัสเซีย ที่มีพื้นที่น่าสนใจทั้งฝั่งตะวันตก ได้แก่ มอสโก และเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก และฝั่งตะวันออกที่มีเมืองใหญ่ วลาดิวอสต็อก ซึ่งต้องการเที่ยวบินประจำเชื่อมโยงตลาดท่องเที่ยวมาไทย

นัตดา กล่าวว่า อีกปัจจัยที่ทำให้เชื่อมั่นในการชูจุดขายเรื่องความถี่แทนราคา เพราะมีฐานลูกค้าที่เป็น"แฟนประจำกว่า 40%" ที่พร้อมจะเดินทางซ้ำในเส้นเดิม และตามมาใช้บริการในเส้นทางเปิดใหม่

ปัจจัยที่จะทำให้สายการบินเข้มแข็ง ไม่สามารถขับเคลื่อนด้วยการบินเพียงอย่างเดียว แต่ควรระดมความร่วมมือระดับท้องถิ่นทั้งรัฐและเอกชน ตัวอย่างที่ดี คือญี่ปุ่น เมื่อต้องการผลักดันรายได้ท่องเที่ยว ก็จะเดินเข้ามาหาสายการบิน และรวมตัวกันมาทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในรูปแบบมณฑล เช่น ฮอกไกโด จะมีตัวแทนระดับเทศบาลทุกจังหวัด, การท่องเที่ยวทุกจังหวัด และผู้บริหารสนามบินในทุกเมือง เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลความพร้อมด้านการรองรับท่องเที่ยว รับฟังปัญหาอุปสรรคที่สายการบินสะท้อน นำไปสู่การเปิดเส้นทางใหม่ที่จะได้ผลตอบแทนที่ดีรวมกัน เพราะรู้ว่าเมื่อนำนักท่องเที่ยวเข้ามาแล้ว จะช่วยกระจายตัวไปยังพื้นที่ใด และนำเสนอแหล่งท่องเที่ยวแบบใด เชื่อมต่อด้วยการขนส่งอย่างไรบ้าง

“อยากให้ไทยนำโมเดลนี้มาใช้ ซึ่งเชื่อว่าจะพัฒนาธุรกิจท่องเที่ยวให้เติบโตเข้มแข็งไปพร้อมกับสายการบินได้อีกมาก"

สำหรับเครือข่ายการบินของไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ ปัจจุบัน นำเสนอกลุ่มเป้าหมายด้วยกลยุทธ์ “3-2-2-1 เช้า สาย บ่าย ดึก” ซึ่งมาจากความถี่ของเส้นทางที่มีอยู่ได้แก่ กรุงโซล 3 เที่ยวบิน/วัน, โตเกียว 2 เที่ยวบิน/วัน, โอซาก้า 2 เที่ยวบิน/วัน และเซี่ยงไฮ้ 1 เที่ยวบิน/วัน