นับหนึ่ง-เกลียวก้นหอย

นับหนึ่ง-เกลียวก้นหอย

พบกับนักเขียนคนนี้ได้ในคอลัมภ์เท่าฝาหอย เขาจะเล่าถึงเรื่องเปลือกหอยที่สัมพันธ์กับโลกและมนุษย์ทั้งมุมละเมียดละไมและมุมที่หลายคนไม่รู้

"""""""""""""""""""""""""""""""""""""

ผมไม่รู้ว่าไก่เกิดก่อนไข่ หรือว่าไข่ควรจะเกิดก่อนไก่ดี? แต่ผมเรียนรู้จากหลักฐานซากโบราณของสิ่งมีชีวิต (fossils)ได้ว่า “หอย” สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง ที่มีเปลือกแข็งห่อหุ้มในไฟลัม Mollusca นั้นเกิดและอยู่บนโลกใบนี้มานานก่อนยุคที่บรรพบุรุษไดโนเสาร์จะคืบคลานจากผืนน้ำขึ้นมาบนผืนดินมากมายนัก

ภายใต้ท้องทะเลเมื่อกว่าสี่ร้อยล้านปีก่อนนั้นได้มีสัตว์ในกลุ่มหอยเนื้อตัวนุ่มนิ่ม แต่มีเปลือกแข็งอุบัติขึ้นมาบนโลกนี้แล้ว และรูปทรงของพวกมันก็ไม่ได้แตกต่างจากเปลือกหอยในยุคปัจจุบันนี้มากมายนัก พัฒนาการโครงสร้างและสรีระของมัน เอื้อให้สามารถอยู่รอดมาได้เกินห้าร้อยล้านปีจากต้นกำเนิดอย่างน่าอัศจรรย์ใจ

หอยกว่าแปดหมื่นชนิดที่มีอยู่ในปัจจุบัน (อาจอีกหลายแสนชนิดที่ยังไม่ถูกค้นพบ) นั้นแบ่งออกเป็นหลายกลุ่ม ที่เรารู้จักและคุ้นตาจะมีสามกลุ่มคือกลุ่มหอยฝาเดี่ยว กลุ่มหอยสองฝา และ หอยกลุ่มหมึก ซึ่งล้วนมีความสำคัญต่อพวกเรา ทั้งในแง่การเป็นแหล่งอาหารจากธรรมชาติในเชิงศาสนา ศิลปวิทยาการสถาปัตยกรรม เป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงที่มาของแต่ละกลุ่มชน เพราะหอยแต่ละสปีชีส์จากที่ ๆ ต่างกันก็ยังมีรูปทรง ลวดลาย สีสันที่จำเพาะและแตกต่างกันได้

หอยเคยเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน เป็นต้นแบบของเงินตรา และในปัจจุบันความลับในอณูเนื้อของหอยพิษหลายชนิด ก็อาจเป็นที่มาของยารักษา หรือช่วยทุเลาอาการของโรคภัยร้ายแรงที่คร่าชีวิตมนุษย์ไปวันละมากมาย

ในความหลากหลายของหอย ยังมีสิ่งเชื่อมโยงความเป็นหอยด้วยกันอยู่สิ่งหนึ่ง นั้นคือ ทุกเปลือกล้วนแล้วแต่มีส่วนของ “เกลียวก้นหอย” (spiral) เป็นจุดกำเนิด อันสัมพันธ์กับทิศทางการเคลื่อนหมุนของระบบสุริยะและจักรวาลอันหาขอบเขตมิได้ เสมือนการเริ่มต้นของการนับเลขไทย ในเลข ๑ ไทยก็มีการวาดเส้น เป็นวงจรโค้งวนออกจากจุดกำเนิด เป็นการเคลื่อนของพลังงาน สื่อถึงชีวิตที่อุบัติขึ้น เพราะสิ่งมีชีวิตย่อมเคลื่อนไหวและโคจรวิถีชีวิตรอบจุดกำเนิดเผ่าพันธุ์ตนเพื่อสืบทอดเผ่าพันธุ์นั้นเสมอ

หอยแทรกซึมอยู่ในวงประวัติศาสตร์ของแทบทุกเผ่าพันธุ์ภาษาในทุกกลุ่มชน มนุษย์หยิบจับเปลือกหอยเพราะมองเห็น “ความงาม” จากธรรมชาติรอบตัวเรา อาจทำให้มนุษย์ออกเดินทางและค้นหาที่หมายใหม่ ๆ เพื่อกระจายและลงหลักปักแหล่งประชากร เกิดความเป็น “ชน” และ “ชาติ” ขึ้น

มนุษย์เริ่มแตกต่างจากสัตว์เมื่อมองเห็นความงาม สร้างสุนทรียะในวันคืนที่ล่วงผ่าน มีการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ และถ่ายทอดสรรพวิชาระหว่างกัน มีการเกิดระบบภาษา มีอักขระที่อาจมีที่มาจากลวดลายและจุดแต้มในลายบนเปลือกหอย....

 ในความงามแรกที่บรรพบุรุษและสตรีมนุษย์มองเห็นนั้นมี “เปลือกหอย” ประทับรอยงามในใจเราเสมอมา เราอาจมองเห็นความงามในเพื่อนมนุษย์ได้ด้วยกังขา แต่เมื่อมนุษย์สาวเท้าเดินท่องไปในดินแดนใด ๆ ยากนักที่จะไม่หยิบจับเปลือกหอยขึ้นมามองดูและเกิดคำถามในใจคล้าย ๆ กัน ว่า “ทำไมเจ้าจึงเกิดมาสวยงามได้เช่นนี้หนอ?”

คำถามที่ตามหาคำตอบเช่นนี้นั้น อาจทำให้พวกเราออกเดินมาไกลถึงจุดนี้

เรามาเริ่ม “นับหนึ่ง”ด้วยกัน มาทำความรู้จักกับความงามของชีวิตผ่านมุมมองแง่คิดด้วย “เรื่องเล่าของเปลือกหอย” จากทั่วทุกมุมโลกกันเถอะครับ

.....................................

 

แนะนำนักเขียน : 

จอม ปัทมคันธิน รู้จักเปลือกหอยมาตั้งแต่ตีนเท่าฝาหอย เขาเรียนรู้จากพ่อของเขา คนต่างชาติที่รู้จริงเรืื่องเปลือกหอย รวมถึงเรียนรู้ด้วยตัวเอง นอกจากนี้เขายังเป็นนักเดินทาง นักเขียน นักวาดรูป เขาจะมาเล่าเรื่องเปลือกหอยที่สัมพันธ์กับโลกและมนุษย์ในคอลัมน์เท่าฝาหอย ทุกวันพฤหัสบดี หน้ากรีนไลฟ์ นสพ.กรุงเทพธุรกิจ