วิศวะ ’60 เปิดเวทีแข่งขันโดรนสร้างนักพัฒนารุ่นใหม่

วิศวะ ’60 เปิดเวทีแข่งขันโดรนสร้างนักพัฒนารุ่นใหม่

สจล. ขนทัพนวัตกรรมทางเทคโนโลยีจากคณะวิศวะฯ 16 สถาบัน และองค์กรพันธมิตร ประชันงาน วิศวะ’60 ชูไฮไลท์เปิดเวทีการแข่งขันบังคับโดรนในสนามจริง กระตุ้นนักพัฒนารุ่นใหม่เกาะติดโอกาสพัฒนาแอพฯ รับเทรนด์การใช้งานโดรนมาแรง

รศ.ดร. คมสัน มาลีสี  คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า สจล. ร่วมกับคณะวิศวกรรมจากมหาวิทยาลัยต่างๆ และองค์กรพันธมิตร ได้ร่วมกันจัดงาน Engineering Expo  อย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 3  โดยปีนี้งาน “วิศวะ’60 หรือ Engineering Expo 2017”  จัดภายใต้ธีม  “Smart Society” เพื่อตอบรับนโยบายไทยแลนด์  4.0 

สำหรับปีนี้ มีกิจกรรมไฮไลท์ ได้แก่ การแข่งขันบังคับโดรนในสนามแข่งจริง “Bangkok Drone Racing Competition 2017”  และการแข่งขัน Hackathon UAV “Eye in the Sky” ภายใต้คอนเซ็ปต์เกี่ยวกับโดรน เพื่อเสริมสร้างกระบวนการให้เกิดแนวคิด สร้างไอเดียใหม่ๆ ต่อยอดเป็นผลงานจริงต่อไป โดยมี Mentor ขั้นเทพจากหลากหลายองค์กรเข้าร่วมให้คำแนะนำ

 “โดรน เป็นเทคโนโลยีที่ในอนาคตเราจะประยุกต์ใช้งานได้หลากหลาย ได้แก่ ด้านการเกษตร และการสำรวจ ซึ่งเริ่มเห็นกันแล้ว เราจึงจัดการแข่งขันเพื่อกระตุ้นการพัฒนา ซึ่งครอบคลุมไปถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการควบคุมหุ่นยนต์ เพื่อทำให้ประเทศไทยต่อยอดไปสู่ ไทยแลนด์ 4.0”  รศ.ดร. คมสันกล่าว

ทั้งนี้ ปัจจุบันศักยภาพของนักพัฒนาไทยมีอยู่แล้วในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะด้านการพัฒนาแอพลิเคชั่น เพื่อสร้างให้เกิดการใช้งานโดรนในมิติใหม่ๆ อย่างไรก็ตาม อาจยังมีข้อจำกัดในเรื่องการผลิต ซึ่งปัจจุบันมีต้นทุนสูงเมื่อเทียบกับบางประเทศ อย่างเช่น จีน  

ดังนั้นทางออกที่นักพัฒนาไทยจะสามารถสร้างมูลค่าจากแนวโน้มเทคโนโลยีด้านนี้ได้ก็คือหันกลับมาที่การพัฒนาแอพพลิเคชั่นในกลุ่มที่เป็นการใช้แอพฯควบคุมฮาร์ดแวร์โดยประยุกต์เอาฮาร์ดแวร์ส่วนที่มีอยู่แล้วและใช้ซอฟต์แวร์ในการควบคุมไปที่รายละเอียดต่างๆอย่างเช่นระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) ระบบอัจฉริยะต่างๆซึ่งศักยภาพของคนไทยทำเรื่องพวกนี้ได้เป็นอย่างดี

“การนำโดรนไปใช้งานในภาคส่วนต่างๆจะขยายตัวขึ้นแน่นอนจากการที่เทคโนโลยีสมัยใหม่และดิจิทัลดีไวซ์ต่างๆมีการใช้งานแพร่หลายขึ้นหาซื้อได้ง่ายอาร์ดแวร์ราคาไม่แพงสิ่งที่ต้องการคือต้องหาซอฟต์แวร์มาควบคุมการทำงานของอุปกรณ์เหล่านี้จะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้แนวโน้มการใช้โดรนกระจายเข้าไปในหลายมิติ”

ก่อนหน้านี้บริษัทพีดับบลิวซีประเทศไทยเปิดเผยถึงรายงาน Clarity from above ที่ทำการศึกษาเทคโนโลยีโดรน (Drone) หรืออากาศยานไร้คนขับ (Unmanned Aerial Vehicles: UAVs) เพื่อนำมาประยุกต์ใช้งานในเชิงพาณิชย์ซึ่งคาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นไปแตะ 127,000  ล้านดอลลาร์หรือราว 4.54 ล้านล้านบาท  ภายในปี 2563 จากมูลค่าปี 2559 ซึ่งอยู่ที่ 2,000 ล้านดอลลาร์หรือประมาณ 7.2 หมื่นล้านบาทโดยมีการใช้งานใน 3 อุตสาหกรรมหลักได้แก่โครงสร้างพื้นฐานการเกษตรและการคมนาคมขนส่ง