‘ดิเอราวัณ’ลุ้นจัดเลี้ยงฟื้นดันรายได้ปีหน้า

‘ดิเอราวัณ’ลุ้นจัดเลี้ยงฟื้นดันรายได้ปีหน้า

ดิ เอราวัณ ระบุธุรกิจจัดเลี้ยงต้นไตรมาส 4 ซบเซา กระทบรายได้อาหารกลุ่มโรงแรม 5 ดาว  ฉุดรายได้โรงแรมโตต่ำเป้า  

นางกมลวรรณ วิปุลากร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ดิ เอราวัณ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า  สถานการณ์ช่วงต้นไตรมาส 4 เดือน ต.ค. ต่อเนื่องต้นเดือน พ.ย. ธุรกิจได้รับผลกระทบจากรายได้กลุ่มอาหารและจัดเลี้ยงลดลง โดยเฉพาะในกลุ่มโรงแรม 5 ดาว เนื่องจากลูกค้าหลีกเลี่ยงการจัดงานเลี้ยงสังสรรค์ บันเทิง และงานมงคลสมรส  ซึ่งตามปกติกลุ่มโรงแรมหรูจะมีรายได้จากธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มกว่า 50% เทียบกับห้องพัก  จึงประเมินว่ารายได้ของโรงแรมปีนี้จะเติบโตราว 7% ลดลงจากเดิมตั้งไว้ที่ 10% 

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเรื่องการปิดปรับปรุงโรงแรมเจดับบลิว แมริออท กรุงเทพฯ ราว 29% ของห้องพักทั้งหมด ซึ่งเป็นหนึ่งในกลยุทธ์เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันระยะยาว จึงกระทบต่อจำนวนห้องที่ให้บริการนักท่องเที่ยว

อย่างไรก็ตาม ผลประกอบการในภาพรวมยังมีแนวโน้มเติบโตดีกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจาก 9 เดือนแรก กำไรสุทธิสะสมอยู่ที่ 344 ล้านบาท เติบโต 31% เทียบช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งเป็นผลมาจากการขยายโรงแรมใหม่อย่างต่อเนื่อง และตลาดท่องเที่ยวหลัก ได้แก่ ไทย จีน รัสเซีย กลับมาฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง โดยเฉพาะตลาดคนไทยที่อาจมีความกังวลในเศรษฐกิจภาพรวมว่ากำลังซื้อถดถอยนั้น แต่เมื่อพิจารณาจากการเข้าใช้บริการในเครือ ดิ เอราวัณ พบว่าลูกค้าชาวไทยสร้างรายได้ให้เป็นอันดับ 1 ในช่วง 9 เดือนแรก มีการเติบโต 14% หรือครองส่วนแบ่งตลาด 16% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาซึ่งอยู่ที่ 15%

นอกจากนั้น ยังได้อานิสงส์จากการพลิกฟื้นมาเป็นบวกของตลาดจีนราว 5% และครองส่วนแบ่งตลาดอันดับ 2 ราว 15%  ซึ่งที่ผ่านมาจีนและไทย ถือเป็นกลุ่มสำคัญที่ผลัดกันทำรายได้อันดับ 1 และ 2 มาตลอด ขณะที่ รัสเซีย เป็นอีกตลาดที่ต้องจับตามอง ปัจจุบันทำรายได้ให้กลุ่มบริษัทเป็นอันดับ 7 แต่มีอัตราการเติบโต 33% เนื่องจากเริ่มฟื้นตัวจากปัญหาเศรษฐกิจ และหากพิจารณาศักยภาพระยะยาวเมื่อเทียบเคียงอดีตที่เคยมีนักท่องเที่ยวมาไทยสูงสุด 1.7 ล้านคนนั้น เชื่อว่ารัสเซียยังมีช่องว่างรองรับการเติบโตในระยะฟื้นฟูอีกมาก

ทั้งนี้ ช่วง 9 เดือนแรก เซ็กเมนต์ที่สามารถทำรายได้เติบโตสูงสุด ได้แก่ กลุ่มบัดเจ็ท มีการปรับเพิ่มถึง 54% ขณะที่กลุ่มลักชัวรีเติบโตน้อยสุดราว 2% เนื่องจากผลกระทบข้างต้น แต่หากเจาะลึกเฉพาะกลุ่มโรงแรมหรูในกรุงเทพฯ ที่อยู่ใจกลางเมือง 2 แห่ง ยังมีอัตราเข้าพักเฉลี่ยสูง สะท้อนความต้องการของนักท่องเที่ยวมาไทยและยึดกรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางที่ยังเติบโตดี แต่ในจุดหมายที่เป็นรีสอร์ทชายทะเลอาจอ่อนตัวเล็กน้อย เพราะผันผวนตามฤดูกาลท่องเที่ยว

สำหรับสิ้นสุดปี 2560 คาดว่าบริษัทจะมีโรงแรมทั้งหมด 52 แห่ง 7,328 ห้อง ปีนี้มีการเปิดเพิ่ม ฮ็อป อินน์ 10 แห่งในไทย และอีก 1 แห่งในฟิลิปปินส์ หากแยกเฉพาะกลุ่มฮ็อป อินน์ ที่เป็นแบรนด์ของบริษัท เป็นโมเดลที่สร้างขึ้นเอง และลงทุนพร้อมบริหารจัดการเองเป็นแบรนด์แรกนั้น ภายในปีนี้จะมี 32 แห่งในไทย ส่วนในฟิลิปปินส์ เป็นจุดหมายหลักแห่งเดียวในการลงทุนต่างประเทศในขณะนี้ มี ฮ็อป อินน์ เปิดบริการแล้ว 2 แห่ง ในปี 2561 จะเปิดอีกอย่างน้อย 3 แห่ง ในกรุงมะนิลา โดยมีเป้าหมายรวมภายในปี 2563 จะมีฮ็อป อินน์ 50 แห่งในไทย และ 12 แห่งในฟิลิปปินส์

โดยเป้าหมายรวมปี 2563 จะมีโรงแรม 85  แห่ง มากกว่า 1 หมื่นห้องขึ้นไป นอกจาก ฮ็อป อินน์  อีก 25 โรงแรมจะอยู่ในกลุ่มลักชัวรี, มิดสเกล และอีโคโนมี

“9 เดือนแรก รายได้เฉลี่ยต่อห้องพัก (RevPar) ของทุกโรงแรมยังเติบโตได้ราว 4% ขณะที่อัตราเข้าพักเฉลี่ยคงที่ราว 85% แต่หากเปรียบเทียบกับปีที่แล้ว ต้องถือว่าดีขึ้น เพราะปีนี้มีการปิดปรับปรุงห้องพักในเจดับบลิว ทำให้รองรับลูกค้าได้ลดลง ส่วนสถานการณ์ปีหน้า เชื่อว่าจะเติบโตดีขึ้น แนวโน้มการจัดเลี้ยงน่าจะกลับมาเป็นปกติได้ตั้งแต่ปลายเดือน พ.ย.เป็นต้นไป”

ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือน ม.ค.บริษัทจะมีการปรับเปลี่ยนตำแหน่งผู้บริหาร โดย นายเพชร ไกรนุกูล รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส จะขึ้นดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการใหญ่ แทน นางกมลวรรณ ที่เกษียณอายุตามเกณฑ์บริษัท โดยนางกมลวรรณ ยังคงดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัทและที่ปรึกษาคณะกรรมการต่อไป