ธุรกิจชู‘ดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง’เจาะนักท่องเที่ยว-ลงทุนจีน

ธุรกิจชู‘ดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง’เจาะนักท่องเที่ยว-ลงทุนจีน

ด้วยจำนวนประชากรจีน 1,300 ล้านคน ถือเป็นตลาดขนาดใหญ่ของธุรกิจไทย ที่จะเข้าไปช่วงชิงกำลังซื้อ  ที่ปัจจุบันมีความพร้อมทั้งด้านช่องทางการสื่อสารผ่านออนไลน์และแพลตฟอร์มการขาย“อีคอมเมิร์ซ”

ชฎากร ธนสุวรรณเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเอวีจี ประเทศไทย จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง กล่าวว่าปัจจุบันมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในจีน 731 ล้านคน หรือสัดส่วน 50% ของประชากร  โดยใช้งานผ่านโทรศัพท์มือถือ 95% นอกจากนี้นักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศ (เอาท์บาวด์) มีจำนวน 100 ล้านคนต่อปี ในจำนวนนี้มาไทยราว 10 ล้านคน    

สภาพตลาดดังกล่าวถือเป็นโอกาสให้ธุรกิจจากไทย ทั้งกลุ่มเอสเอ็มอี  ธุรกิจขนาดใหญ่  รวมทั้งอินเตอร์เนชั่นแนลแบรนด์ ที่มีฐานธุรกิจไทย สามารถใช้เครื่องมือดิจิทัล เข้าไปเจาะกำลังซื้อตลาดจีน 

กลุ่มธุรกิจไทยที่เริ่มใช้ดิจิทัล แพลตฟอร์มบุกตลาดจีน แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มเป้าหมายนักท่องเที่ยวชาวจีน  โดยในปี 2561 จะมีการเปิดเที่ยวบินที่บินตรงจากจีนมาไทยมากขึ้น บวกกับนโยบาย “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง”(One Belt, One Road) ที่จะเปิดเส้นทางสายไหมศตวรรษที่ 21 ทำให้คนจีนสามารถขับรถเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวกันได้มากยิ่งขึ้น กลุ่มนี้มีทั้งธุรกิจบริการ โรงแรม ร้านอาหาร และแบรนด์สินค้าต่างๆ เช่น เครื่องสำอาง, ขนม เป็นต้น ซึ่งมีโอกาสทำตลาดกับกลุ่มนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาเที่ยวในไทยมากขึ้น 

 แนวทางการทำตลาดกับนักท่องเที่ยวจีน จะเป็นรูปแบบการใช้ดิจิทัล แพลตฟอร์ม “สร้างการรับรู้” ในกลุ่มชาวจีนที่อยู่ในเมืองต่างๆ โดยเฉพาะเมืองหลักและเมืองรองที่นิยมเดินทางมาท่องเที่ยวในไทย เพราะเมื่อชาวจีนรู้จักแบรนด์สินค้า เมื่อเดินทางมาท่องเที่ยวในไทยจะซื้อเป็นของฝากกลับประเทศ   

กลุ่มที่ 2.ด้านการส่งออก ปัจจุบันจีนเป็นจุดหมายปลายทางการส่งออกอันดับหนึ่งของการส่งออกสินค้าไทยและดูจากแนวโน้ม จะเห็นว่าคนจีนยังมีความต้องการสินค้าไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ดังนั้นในกลุ่มสินค้าไทยที่มีความพร้อมตั้งตัวแทนจำหน่ายหรือส่งออกไปขายในจีน  สามารถใช้เครื่องมือดิจิทัล สื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายในจีนเพื่อเข้าถึงกำลังซื้อโดยตรง

ปัจจุบันการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและช่องทางอีคอมเมิร์ซในจีน  ช่วยเพิ่มโอกาสให้ธุรกิจ “เอสเอ็มอี”ไทยสามารถขยายตลาดจีน โดยไม่ต้องเข้าไปแต่งตั้งตัวแทนขาย หรือสต็อกสินค้าในจีน  โดยสามารถใช้แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซีจีน ทั้งอาลีบาบา, ที-มอลล์  ทำตลาดได้  ปัจจุบันในช่องทางดังกล่าวพบว่ามีผู้ประกอบการจีน นำเข้าสินค้าแบรนด์ไทยที่ได้รับความนิยมไปจำหน่ายจำนวนมาก  

“หากเอสเอ็มอีไทยรวมทั้งแบรนด์ไทย เข้าไปศึกษาการทำตลาดอีคอมเมิร์ซและใช้ดิจิทัล มาร์เก็ตติ้งที่มีหลากหลายประเภททำตลาดเอง เชื่อว่ามีโอกาสทำรายได้สูง จากกระแสความนิยมสินค้าไทย” 

กลุ่มที่ 3.นักลงทุนชาวจีน เป็นกลุ่มคนจีนที่มาลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจในประเทศไทย สะท้อนจากการที่บริษัทอสังหาฯในไทยหลายแห่งไปเปิดออฟฟิศและโรดโชว์ในจีนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแต่ละแบรนด์ได้รับการตอบรับดีจากลูกค้าชาวจีน  โดยเฉพาะอสังหาฯ ประเภทคอนโดมิเนียมทำเลเมืองท่องเที่ยวพัทยาและติดรถไฟฟ้า  

ชฎากร กล่าวว่าทั้ง 3 กลุ่มดังกล่าว ถือเป็นธุรกิจที่ต้องการขยายกลุ่มเป้าหมายและเจาะกำลังซื้อตลาดจีน  โดยใช้เครื่องมือการตลาดดิจิทัลเป็นกลยุทธ์สื่อสารในปีหน้า  ซึ่งเอวีจี ไทยแลนด์ เป็นบริษัทร่วมทุนกับ“เอวีจี ประเทศจีน”ซึ่งเป็นบริษัทที่มีแพลตฟอร์มการวางแผนสื่อใหญ่ที่สุดในจีน ที่ได้ Authorized Partner กับสื่อดิจิทัลยักษ์ใหญ่ทั้ง 3 ในจีน Baidu, Alibaba, Tencent  ซึ่งเป็นช่องทางสำคัญในการทำการตลาดในจีน 

ตั้งแต่การสร้างออฟฟิเชียลแอคเคาท์ (Official Account) ที่สามารถทำได้อย่างถูกต้องภายใต้ชื่อบริษัทของลูกค้าเองในช่องทางโซเชียลมีเดีย มาร์เก็ตติ้ง

กลยุทธ์การสื่อสารและทำตลาดดิจิิทัลในจีนให้กับลูกค้า ของ เอวีจี ประเทศไทย จะให้บริการแบบ“โทเทิล โซลูชั่น”กับลูกค้าเพราะมีทีมงานที่ศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคและวัฒนธรรมของชาวจีน ขณะเดียวกันสามารถเข้าใจแบรนด์ไทยและเห็นถึงความแตกต่างในการนำเสนอให้เข้ากับกลุ่มลูกค้าที่จีนได้  

 นอกจากนี้มีความเชี่ยวชาญด้าน Influencer Marketing ที่มี Influencer กว่า 1.38 ล้านคน บนฐานข้อมูล  รวมทั้งการทำอีคอมเมิร์ซ บน Weibo, WeChat และแอพพลิเคชั่นต่างๆ ที่เชื่อมต่อกับ WeChat Official Account เช่น การทำ Mini Game ระบบบุ๊คกิ้ง เพย์เมนต์ 

 ปัจจุบันบริษัทกำลังอยู่ระหว่างเจรจากับลูกค้าที่จะมาใช้บริการดิจิทัล มาร์เก็ตติ้งเพื่อทำตลาดในจีน 30 ราย