ทวงคืนหาดลายันถูกบุกรุก200ไร่ แฉขายไร่70ล. มูลค่า14,000ล้าน

ทวงคืนหาดลายันถูกบุกรุก200ไร่ แฉขายไร่70ล. มูลค่า14,000ล้าน

"ดีเอสไอ" ลงพื้นที่หาดเลพัง-ลายัน เรียกคืนที่สาธารณะ หลังถูกบุกรุกถือครอง ขีดเส้นให้ผู้บุกรุกออกจากพื้นที่ภายใน 30 วัน ระบุหาดลายันถูกรุก 200 ไร่ ประกาศขายไร่ละ70ล้าน ราคาซื้อขาย 14,000 ล้านบาท

พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ ) พ.ต.ท.ประวุธ วงศ์สีนิล รองอธิบดีดีเอสไอ, พ.ต.ท.มนตรี บุณยโยธิน ผอ.กองคดีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สนธิกำลังกับจังหวัดภูเก็ต อำเภอถลาง องค์การบริหารส่วนตำบลเชิงทะเล เจ้าหน้าที่ทหารจากกองพลทหารราบที่ 5 ทัพเรือภาคที่ 3 กรมป่าไม้ ตำรวจสถานีตำรวจภูธรเชิงทะเล สำนักงานเจ้าท่าจังหวัดภูเก็ต สำนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ต สาขาถลาง สำนักงานบังคับคดีจังหวัดภูเก็ต ลงพื้นที่หาดเลพัง-ลายัน ตามที่คณะกรรมการคดีพิเศษได้มีมติให้การบุกรุกที่ดินบริเวณหาดลายันและหาดเลพัง หมู่ที่ 4 ตำบลเชิงทะเล อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต เป็นคดีพิเศษ และต่อมาพนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้รับกรณีการออกโฉนดที่ดิน 2 แปลง เป็นคดีพิเศษ 2 คดี

ประกอบด้วย โฉนดที่ดินเลขที่ 20777 เนื้อที่ประมาณ 7 ไร่ ซึ่งเป็นที่ตั้งของหน่วยพิทักษ์ป่าลายัน ภายในเขตอุทยานแห่งชาติสิรินาถ และโฉนดที่ดินเลขที่ 21047 เนื้อที่ประมาณ 6 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่นอกเขตอุทยานแห่งชาติสิรินาถ แต่เป็นที่สาธารณะ ซึ่งตรวจพบว่าพื้นที่ดังกล่าวเคยมีสภาพเป็นทะเลมาก่อน และมีถนนเลียบชายหาด ต่อมาได้เกิดแผ่นดินงอกจากชายทะเล พื้นที่ดังกล่าวจึงเป็นที่ดินของรัฐซึ่งเป็นที่สาธารณะประโยชน์ โดยโฉนดที่ดินทั้งสองแปลงมี เจ้าหน้าที่รัฐรายหนึ่ง เป็นผู้ลงนามโดยไม่มีอำนาจ มูลค่าของที่ดินประมาณไร่ละ 70 ล้านบาท ต่อมาเมื่อวันที่ 9 ต.ค. 60ศาลคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางได้มีคำพิพากษาลงโทษจำคุกเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ออกโฉนดที่ดินเลขที่ 21047 โดยมิชอบ และมีคำสั่งให้เพิกถอนโฉนดดังกล่าว ส่วนอีก 1 คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล

พ.ต.อ.ไพสิฐ กล่าวว่า จากการตรวจสอบพบว่ามีเอกชนประมาณ 9 ราย ที่ทำการยึดถือครอบครองที่ดินต่อจากโฉนดที่ดินทั้งสองแปลง ซึ่งมีทั้งออกโฉนดที่ดินโดยมิชอบบ้าง ถูกเพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์แล้วบ้าง ครอบครองโดยไม่มีหลักฐานบ้าง โดยพื้นที่ดังกล่าวมีสภาพเป็นทะเลมาก่อน จึงไม่มีผู้ใดที่ยึดถือครอบครองมาก่อนประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับในปี 2497 ซึ่งต่อมาเมื่อรัฐจะขึ้นทะเบียนเป็นที่สาธารณะประโยชน์ ก็ได้ถูกคัดค้านโดยเอกชนจำนวน 9 ราย และนำเรื่องขึ้นสู่ศาล จนกระทั่งเมื่อวันที่ 1 พ.ย.60 ศาลจังหวัดภูเก็ตได้อ่านคำพิพากษาของศาลฎีกา ระบุว่าที่ดินจำนวน 178 ไร่ บริเวณหาดเลพัง เป็นที่สาธารณประโยชน์

“ในวันนี้ดีเอสไอได้ลงพื้นทร่เพื่อทำการแจ้งเตือนผู้บุกรุกให้ออกจากพื้นที่พิพาทภายใน 30 วัน และปักป้ายยังจุดที่มีการบุกรุกเพื่อให้ทำการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างบนพื้นที่สาธารณะดังกล่าว พร้อมทั้งดำเนินการเก็บพยานหลักฐาน เมื่อครบกำหนด หากผู้บุกรุกไม่ออกจากพื้นที่ กรมสอบสวนคดีพิเศษก็จะรับเป็นคดีพิเศษทันที และจะดำเนินมาตรการทางกฎหมายอย่างเฉียบขาดต่อไป” อธิบดีดีเอสไอ ระบุ

สำหรับพื้นที่หาดลายันที่มีการบุกรุกนี้มีความยาวตามแนวชายทะเลประมาณ 2.5 กิโลเมตร เนื้อที่โดยประมาณ 200 ไร่ มูลค่าการซื้อขายไร่ละ 70 ล้านบาท รวมมูลค่าประมาณ 14,000 ล้านบาท การทวงคืนแผ่นดินรัฐจากผู้บุกรุกและบังคับใช้กฎหมายถือเป็นนโยบายของรัฐบาลที่ดีเอสไอ ได้ให้ความสำคัญและถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะนำกลับมาเป็นสมบัติของแผ่นดิน โดยการดำเนินการครั้งนี้เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้บุกรุกได้ออกจากพื้นที่โดยเร็ว หากยังคงฝ่าฝืนยึดถือครอบครองที่สาธารณะไม่ยอมออกจากพื้นที่ ก็จะต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาดต่อไป