อึ้ง!! ผู้ประกอบการรุมฟ้อง 'กสทช.' กว่าร้อยคดี

อึ้ง!! ผู้ประกอบการรุมฟ้อง 'กสทช.' กว่าร้อยคดี

อึ้ง!! ผู้ประกอบการรุมฟ้อง "กสทช." กว่า 100 คดีวงเงินความเสียหายกว่า 1.2 แสนล้านบาท ชี้ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการออกประกาศ - กำหนดหลักเกณฑ์

รายงานข่าวจากวงการโทรคมนาคมเปิดเผยว่าจากการตรวจสอบการทำงานของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่หมดวาระลงไปและอยู่ระหว่างการพิจารณาสรรหา กสทช.ชุดใหม่นั้นพบว่า นอกเหนือจากผลงานชิ้นโบว์แดงในการประมูลคลื่นความถี่เพื่อออกใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม 3 และ 4 จี ที่กสทช.สามารถดึงเม็ดเงินเข้าเป็นรายได้คลังมากกว่า 250,000 ล้านบาทแล้ว ยังพบว่า กสทช.เองยังคงมีคดีพิพาทคั่งค้างอยู่ ทั้งในศาลปกครองและศาลปกครองสูงสุดกว่า 100 คดีวงเงินความเสียหายรวมกว่า 1.2 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการออกประกาศ กำหนดหลักเกณฑ์และคำสั่งทางปกครองที่ก่อให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติ จนถูกผู้ประกอบการทั้งภาครัฐและบริษัทเอกชนรุมฟ้อง ซึ่งหลายคดีหากกสทช.พ่ายแพ้ก็อาจต้องชดเชยนับหมื่นล้านบาท

โดยก่อนหน้านี้ บริษัท กสท โทรคมนาคม หรือ แคท ก็ยื่นฟ้องกสทช.กรณีออกประกาศมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการบนคลื่น 1800 เมกะเฮิร์ตซ์โดยมิชอบโดยแคทอ้างว่าประกาศ กสทช. ที่ออกมาทำให้แคทขาดรายได้จากการใช้เครือข่ายไปกว่า 27,500 ล้านบาท จึงฟ้องให้กสทช.และบริษัทเอกชนที่ได้รับผลประโยชน์ร่วมกันชดใช้ความเสียหาย

ล่าสุด บริษัท เอไอเอส ก็ยื่นฟ้อง กสทช. ให้เพิกถอนประกาศ กสทช. เรื่องมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวกรณีสิ้นสุดสัมปทานบนคลื่น 900 โดยระบุว่าประกาศกสทช.ฉบับที่ 2 ที่กำหนดหลักเกณฑ์การนำส่งเงินรายได้เข้าคลังที่ต้องไม่ต่ำกว่าค่าสัมปทานเดิมไม่เป็นธรรม รวมทั้งยังยื่นฟ้องกรณีคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) มีคำสั่งทางปกครองให้บริษัทนำส่งเงินรายได้จากการใช้งานคลื่น 900 ในช่วงมาตรการเยียวยาปี 2558 วงเงินกว่า 7,200 ล้านบาท ทั้งที่มีระยะเวลาเยียวยาเพียง 3 เดือนเศษเท่านั้น ผิดกับบริษัทคู่แข่งที่เยียวยากว่า3 ปีแต่กสทช.กลับมีคำส่ังให้นำส่งเงินเข้ารัฐแค่ 3,000 ล้านบาทเท่านั้น

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของรายได้จากการใช้งานคลื่นความถี่ 1800 MHz ในช่วงมาตรการเยียวยาตามประกาศ กสทช.ปี 2556 ซึ่งคณะทำงานติดตามและตรวจสอบรายได้สรุปตัวเลขออกมาที่ 14,868 ล้านบาท แยกเป็นรายได้ในส่วนของบริษัททรู13,989 ล้านบาท และดีพีซี 879 ล้านบาท แต่เมื่อสำนักงานกสทช.ตั้งคณะทำงานกลั่นกรองขึ้นพิจารณาทบทวน กลับปรับลดตัวเลขใหม่ลงมาเหลือ 3,900 ล้านบาทเศษเท่านั้น ทำให้คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.)ใน กสทช.ไม่กล้าชี้ขาด และแม้จะดึงสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เข้ามาร่วมตั้งคณะทำงานตรวจสอบรายได้ใหม่ แต่สุดท้ายก็ยังไม่สามารถสรุปรายได้นำส่งรัฐในส่วนของการใช้งานคลื่น 1800 MHz ในช่วงมาตรการเยียวยาได้