อดีตรมว.คลังนำปชช. จับตา 'รบ.ประยุทธ์' หวั่นทุจริตเชิงนโยบาย

อดีตรมว.คลังนำปชช. จับตา 'รบ.ประยุทธ์' หวั่นทุจริตเชิงนโยบาย

"ปธ.ญาติวีรชน - อดีตรมว.คลัง" นำเครือข่ายปชช. สังเกตเฝ้าจับตา "รัฐบาลประยุทธ์" หวั่นทุจริตเชิงนโยบาย ปมออกร่างกฎหมายปูทางแปรรูปรัฐวิสาหกิจ จี้เร่งรัดงานปฏิรูปตำรวจ, สางปมเรียกส่วยภูเก็ต, ซื้อวิทยุตร.แพง เตรียมยื่นผู้ตรวจสอบปมปิโตรเลียม-พลังงาน

ที่อนุสรณ์สถานณ์สี่แยกคอกวัว - กลุ่มญาติวีรชน พฤษภา35 พร้อมด้วยเครือข่ายประชาชนตรวจสอบคอร์รัปชั่น นำโดยนายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 และ นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงถึงข้อสังเกตของภาคประชาชนต่อการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ​ และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่อาจจะมีปัญหาและใช้นโยบายเพื่อเอื้อต่อการทุจริต

โดยนายอดุลย์ กล่าวเรียกร้องถึง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่กำกับดูแลงานด้านตำรวจ เร่งรัดและจัดการปัญหา 3 ข้อ คือ 1.จัดการการคอร์รัปชั่นในพื้นที่ท่องเที่ยว เช่น ประเด็นการรับส่วยท่องเที่ยวในพื้นที่ จ.ภูเก็ต, 2.เร่งรัดการปฏิรูปตำรวจ ภายใต้คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) ที่มีพล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ เป็นประธาน เพราะขณะนี้เหลือเวลาทำงานเพียง 3 เดือน เพราะจากการติดตามยังไม่พบประเด็นปฏิรูปตำรวจตามที่ประชาชนต้องการ และ 3.ตรวจสอบความโปร่งใสโครงการจัดซื้อวิทยุสื่อสารในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ล็อตแรกมูลค่า 3,500 ล้านบาท ที่หลายฝ่ายท้วงติงว่าซื้อแพงเกินจริงและเมื่อจัดซื้อแล้ว ไม่สามารถนำมาใช้งานได้ และโครงการจัดซื้อ ล็อตที่ 2 มูลค่า 4,000 ล้านบาท เพื่อให้เกิดความโปร่งใส

ด้านนายธีระชัย กล่าวว่า การคอร์รัปชั่นเชิงนโยบายถือเป็นประเด็นน่ากลัว เพราะสามารถออกเป็นกฎหมายหรือกฎกระทรวงเพื่อบังคับใช้ได้ ทั้งนี้ตนมีข้อสังเกตต่อประเด็นการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ ผ่านการออกกฎหมายเพื่อตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ (ซุปเบอร์โฮล์ดิ้ง) ที่กระทรวงการคลังถือหุ้น 100 เปอร์เซ็นต์ เพื่อโอนงานรัฐวิสาหกิจที่แปรสภาพขนาดใหญ่ จำนวน 11 บริษัท อยู่ภายใต้การบริหารงานของซุปเปอร์โฮล์ดิ้ง จากการติดตามพบความเสี่ยงต่อการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ผ่านระบบการตั้งบริษัทลูกของรัฐวิสาหกิจเพื่อดำเนินการขายหุ้นในกิจการหรือเปิดโอกาสให้บุคคลภายนอกเข้ามาถือหุ้นได้ ทั้งนี้การออกร่างกฎหมายดังกล่าว ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาเตรียมตั้งคณะอนุกรรมการโดยเชิญบุคคลภายนอกเข้าร่วม ทางภาคประชาชนและสหภาพจะไม่ขอเข้าร่วม เนื่องจากหลักการของร่างกฎหมายมีความไม่ถูกต้อง และไม่ผ่านการรับฟังความเห็นจากประชาชนในชั้นของการทบทวนเนื้อหา และขอเรียกร้องให้ถอนร่างกฎหมายดังกล่าวออกจากสภาฯ และนำกลับไปปรับปรุง แก้ไขใหม่

“ผมทราบข้อมูลว่ามีความพยายามต่อการแปรรูปรัฐวิสาหกิจผ่านการตั้งบริษัทลูกของรัฐวิสาหกิจ ให้ทำได้ง่ายมาขึ้น ผ่านร่าง พ.ร.บ.​วิธีการงบประมาณ และ ร่าง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังให้สนช. โดยแก้ไขให้การตั้งบริษัทลูกของรัฐวิสาหกิจ ไม่เข้าเงื่อนไขต่อวิธีการงบประมาณและวินัยการเงินการคลัง และไม่ถูกตรวจสอบโดยระบบรัฐสภา ซึ่งผมมองว่าการเปิดโอกาสดังกล่าวเป็นอันตราย ยกตัวอย่าง คือ เมื่อมีพ.ร.บ.รัฐวิสาหกิจบังคับใช้ จะเกิดซุปเปอร์โฮล์ดิ้ง ที่กระทรวงการคลังถือหุ้น 100 เปอร์เซ็นต์ และมีสถานะเป็นบริษัทแม่ และเมื่อรัฐวิสาหกิจที่ต้องเข้าสังกัดของซุปเปอร์โฮล์ดิ้ง เช่น ปตท. สถานะของ ปตท. คือ เป็นบริษัทลูก แต่ ปตท. เองสามารถตั้งบริษัทลูกใน ปตท.ได้ เช่น พีทีทีโออาร์ ดังนั้นตามกฎหมายที่เสนอแก้ไข พีทีทีโออาร์ จะไม่เข้าเงื่อนไขของกฎหมายและไม่ถูกตรวจสอบตามกระบวนการ ดังนั้นโอกาสของการแปรรูปในชั้นของบริษัทลูกของรัฐวิสาหกิจเกิดขึ้นได้” นายธีระชัย กล่าว

นายธีระชัย กล่าวด้วยว่าในวันที่ 16 พ.ย. ตนพร้อมด้วย ม.ล.กรสิวัฒน์ เกษมศรี นักวิชาการอิสระด้านพลังงาน จะเข้ายื่นหนังสือต่อผู้ตรวจการเแผ่นดิน เพื่อขอให้ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลที่เกี่ยวกับพลังงานและปิโตรเลียม