ผลสำรวจคนจนหวังรัฐช่วยค่าน้ำ-ไฟมากที่สุด

ผลสำรวจคนจนหวังรัฐช่วยค่าน้ำ-ไฟมากที่สุด

เผยผลสำรวจข้อมูลผู้มีรายได้น้อยทั่วประเทศพบ 82% อยากให้รัฐช่วยค่าน้ำ - ไฟมากที่สุด ขณะที่ 66% อยากให้ลดภาระค่าสินค้าอุปโภคบริโภค

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้รับผลสำรวจข้อมูลผู้มีรายได้น้อยทั่วประเทศ โดยสามารถจัดเก็บข้อมูลได้มากถึงจำนวน 13.43 ล้านคน หรือ 94.8% ของผู้มีรายได้น้อย จำนวน 14.16 ล้านคน ส่วนใหญ่ยังมีข้อต้องการให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือหลายอย่าง 5 อันดับแรก พบว่า อยากให้ภาครัฐช่วยลดค่าสาธารณูปโภค ทั้งค่าไฟฟ้าและน้ำประปา กว่า 82% ต้องการให้ลดภาระค่าสินค้าอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน 66% ส่วนที่เหลืออยากให้ลดภาระค่ารักษาพยาบาล ค่าดูแลสุขภาพ 47.2% เพิ่มเบี้ยยังชีพคนชรา 39.5% และลดภาระค่าอุปกรณ์การศึกษาของลูกหลาน 30.7%

นอกจากนี้ ยังมีความต้องการอื่นๆ ที่ต้องการความช่วยเหลือ เช่น ต้องการให้ภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดหาอาชีพเสริม เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับตัวเอง การจัดให้มีประกันอุบัติเหตุ ต้องการให้ช่วยผู้มีรายได้น้อยจริงๆ ให้เข้าถึงสวัสดิการพื้นฐานที่มีอยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมายังเข้าไม่ถึง โดยเฉพาะเบี้ยยังชีพคนชรา ต้องการให้ช่วยหางานให้ทำในภูมิลำเนา ต้องการให้จัดหาที่ดินทำกินให้ และเพิ่มทุนการศึกษาเด็กยากไร้

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบข้อมูลสภาพความเป็นอยู่ พบว่า ประชานที่ลงทะเบียนเป็นผู้มีรายได้น้อยกว่า 68.3% ระบุว่า มีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเองไม่ต้องผ่อนชำระ มีเพียง 1.9% เท่านั้นที่ยังอยู่ระหว่างผ่อนชำระ ขณะที่เหลือระบุว่า อยู่อาศัยกับบิดา มารดา ญาติ พี่ น้อง หรืออาศัยอยู่กับผู้อื่น และเช่าบ้าน มีเพียงเล็กน้อยเท่านั้นที่อาศัยอยู่บ้านพักคนชรา

ทางด้านอาชีพของผู้ลงทะเบียน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร ทั้งปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ รองลงมาประกอบอาชีพเป็นลูกจ้างเอกชนและรับจ้างทั่วไป อยู่บ้านเฉยๆ เป็นพ่อบ้าน แม่บ้าน และคนชรา เป็นผู้ว่างงาน ประกอบธุรกิจส่วนตัว นักเรียน นักศึกษารับจ้างขับรถโดยสาร และข้าราชการ

รายงานข่าวยังระบุว่า ผลการสำรวจหนี้นอกระบบพบส่วนใหญ่กว่า 86% ไม่มีหนี้นอกระบบ ส่วนที่มีหนี้เป็นเพียงส่วนน้อย โดยผู้ที่มีหนี้มากกว่า 10,000 บาท มีสัดส่วนมากที่สุด ประมาณ 11% ส่วนภาระค่าใช้จ่ายภายในบ้าน พบว่า คนส่วนใหญ่กว่า 34% มีค่าใช้จ่ายต่ำกว่าเดือนละ 3,001 บาท ส่วนคนที่มีภาระค่าใช้จ่ายมากกว่าเดือนละ 10,000 บาท มีสัดส่วนน้อยเพียง 4.3% เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เพื่อให้ผู้มีรายได้น้อยมีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทั้งการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับโครงการสำรวจข้อมูลครั้งนี้ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ และสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับ อีกทั้งยังควรกำหนดนโยบาย และมาตรการลดค่าครองชีพ ลดค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยด้วย