See Doctor Now ตัวเลือกที่ใช่ในคลื่น ‘เทเลเมดิซีน’

See Doctor Now  ตัวเลือกที่ใช่ในคลื่น ‘เทเลเมดิซีน’

เพราะมองว่าเทคโนโลยี ระบบการสื่อสารปัจจุบันพร้อมแล้วสำหรับ เทเลเมดิซีน (ระบบแพทย์ทางไกล,โทรเวชกรรม)

“ดร.นพ.ปณต ประพันธ์ศิลป์” กับเพื่อน ๆรวมทั้งหมด 5 คน จึงก่อตั้ง “See Doctor Now” เพื่อให้คนไข้ปรึกษาแพทย์ได้ทันทีที่ต้องการ ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางและรอคิว


"คุณพ่อผม (นพ.มานิตย์ ประพันธ์ศิลป์) เป็นอีกแรงบันดาลใจในการก่อตั้งธุรกิจ ท่านมองว่าเทคโนโลยีทำให้เป็นจริงได้ในตอนนี้ ไม่ใช่ของใหม่ หรืออินโนเวชั่นที่โคตรว้าว ที่ผ่านมาเทเลเมดิซีนแค่รอจังหวะเวลาที่เหมาะสม"


และเป็นเพราะได้เห็นว่าเมื่อสามปีก่อนหน้า เทเลเมดิซีนก็บูมแบบสุดขีดที่ประเทศอเมริกา และในปีที่ผ่านมามีคนใช้บริการระบบแพทย์ทางไกลมากถึง 1.2 ล้านครั้งเลยทีเดียว


"แต่เมืองไทยเพิ่งเริ่มต้น เราน่าจะเป็นรายแรกซึ่งเพิ่งลอนซ์แอพไปเมื่อ 5 เดือนก่อน และเดินตามโมเดลธุรกิจของอเมริกา ซึ่งสตาร์ทอัพรายใหญที่ประสบความสำเร็จของเขาล้วนทำตัวเป็น Virtual Hospital ไม่ ใช่มาร์เก็ตเพลส คือไม่ให้คนไข้นัดหมอได้เอง แต่มีการสกรีนคนไข้ก่อนแล้วเลือกหมอให้ ระบบของเราเองก็มีพยาบาลมาช่วยสกรีนคนไข้ก่อนพูดคุยกับหมอทุกครั้ง"


เพราะอันตรายหากคนไข้นัดหมอได้เอง เนื่องจากเขาอาจไม่รู้ว่ากำลังเจ็บป่วยเป็นอะไร หนักหนาแค่ไหน ควรปฏิบัติตัวอย่างไร เมื่อกดนัดได้คิวคุยกับหมอแล้วจึงนั่งรอเวลา ทั้งๆที่ควรจะเป็นนั้นเขาต้องรีบเดินทางไปโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษาให้เร็วที่สุด


อย่างไรก็ดี See Doctor Now มีการปรับหลายอย่างเพื่อให้เข้ากับคนไทย หลัก ๆ เป็นเรื่องยูสเซอร์ อินเตอร์เฟส ที่ต้องเข้าใจง่าย เป็นแบบที่คนไทยคุ้นเคย และใช้ภาษาไทยเป็นหลัก ทั้งต้องให้ความสำคัญในเรื่องการบริการที่ดี ต้องโดดเด่นในเรื่องของฮิวแมนทัช


"เราเป็นโรงพยาบาลรูปแบบใหม่ที่คนไข้ไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง แต่ได้รับการบริการทางการแพทย์ที่ดี มีความปลอดภัย ได้รับคำตอบที่ถูกต้อง คนไข้ที่ควรไปโรงพยาบาลจะได้รีบไป คนที่ไม่ควรไปก็ไม่ต้องไปให้เสียเวลา"


หมอปณต อธิบายให้ฟังถึงความเป็น “See Doctor Now” และได้ใช้สโลแกนว่า “everywhere care” ซึ่งสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน
หมายเหตุว่า See Doctor Now ไม่ได้คิดจะแทนที่โรงพยาบาลแต่เป็นโรงพยาบาลรูปแบบใหม่ เกิดจากความเชื่อที่ว่า บริการทางการแพทย์ไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นที่โรงพยาบาลหรือคลีนิคอีกต่อไป ในเมื่อเทคโนโลยีพร้อม คุณหมอพร้อม คนไข้พร้อม ก็สามารถเกิดขึ้นได้ทุกหนทุกแห่ง


"ตอนนี้เรามีคุณหมอ 30 ท่าน ทุกท่านเป็นหมอเฉพาะทาง ทั้งหมดมีอยู่ประมาณ 12 สาขา ซึ่งไม่ใช่หมอทุกคนที่เข้ามาสมัครเข้ามาในระบบแล้วจะผ่านการคัดเลือก หมอในระบบของเรา ต้องเชี่ยวชาญจริงๆ เก่งจริงๆ และต้องรู้ว่าจะใช้ระบบแพทย์ทางไกลอย่างไร เพราะทางการแพทย์เรื่องของความปลอดภัยมีความสำคัญมาก"


ส่วนวิธีใช้งานนั้นเมื่อคนไข้กดเข้ามาในระบบ ขั้นแรกเขาได้เจอกับพยาบาลทุกเคสเหมือนการเดินเข้าไปในโรงพยาบาลที่ต้องคุยกับพยาบาลก่อน และมีคนไข้เกินครึ่งที่ระบบสกรีนออก เนื่องจากไม่เหมาะที่จะพูดคุยกับหมอผ่านวิดีโอคอล


"คนที่มาด้วยอาการปวดท้องและมีไข้อาจเป็นได้หลายโรค ที่เป็นบ่อย ๆคือไส้ติ่งอักเสบ การวินิจฉัยได้ถูกคงไม่เพียงเห็นหน้ากันแล้วบอกว่าเป็นหรือไม่เป็น ต้องไปโรงพยาบาลที่มีเครื่องไม้เครื่องมือในการตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะหรืออัลตร้าซาวด์ ทำทีซีสแกนช่องท้อง"


สำหรับคนไข้ที่เหมาะกับระบบของ See Doctor Now หลัก ๆ มีด้วยกัน 4 กลุ่ม โดยกลุ่มแรก คือกลุ่มที่ต้องการ Second Opinion เป็นคนไข้ที่ผ่านการวินิจฉัยโรคจากโรงพยาบาลแห่งหนึ่งมาแล้วซึ่งหมอลงความเห็นว่าต้องผ่าตัด จึงต้องการคอนเฟิร์มกับหมอคนอื่น ก็สามารถเข้าระบบมาปรึกษากับหมอเฉพาะทางของ See Doctor Now ได้


กลุ่มที่สอง กลุ่มที่เป็นโรคเรื้อรัง ซึ่งมักเป็นผู้สูงวัย ที่จะมีเบาหวาน ความดัน ไขมัน โรคหัวใจ หรือมะเร็งเป็นโรคประจำตัว และต้องได้รับการบริการทางการแพทย์เป็นประจำ


"คนอายุ 65 ขึ้นไปมักเป็นเบาหวาน ความดันและต้องไปโรงพยาบาลทุกเดือน ทุกครั้งที่ไปคนไข้ต้องตื่นตั้งแต่เช้า งดน้ำ งดอาหาร ไปเข้าคิว เจาะเลือด ตั้งแต่ 8 โมงเช้า กว่าผลจะออกก็ต้องรอ 2-3 ชั่วโมงและจะได้เจอหมอก็ราว ๆ 11โมง ประโยคที่คุณหมอพูดคุยกับคนไข้ก็คือ วันนี้ผลน้ำตาลดี ผลไขมันของป้าก็ดี ทุกอย่างดี เดือนที่ผ่านมาออกกำลังกายตามที่หมอบอกใช่ไหม ต้องไม่ทานเค็มนะ คุยอยู่สองนาทีถ้าทุกอย่างปกติก็ให้คนไข้ก็ไปคอยรอรับยา รออีกชั่วโมงถึงได้ยามาแล้วเดินทางกลับกว่าจะถึงบ้านก็บ่ายสามแล้ว มันเป็นวงจรแบบนี้ทุกเดือน"


แต่ระบบของ See Doctor Now จะช่วยดูแลคนไข้แบบครบลูฟ หมายถึงในกรณีที่เป็นคนไข้รายเดียวกันคือคุณป้าวัย 65 ปีท่านนี้แทนที่จะต้องเดินทางไปโรงพยาบาล See Doctor Now จะส่งคนไปกดกริ่งที่หน้าบ้านตั้งแต่ 7 โมงเช้าเพื่อเจาะเลือด ใช้เวลาเพียง 5 นาทีจากนั้นก็นำเอาไปตรวจที่แล็บ ประมาณ 9 โมงเช้าผลก็ออกมา เมื่อคุณหมอล็อกอินเข้าระบบก็จะเห็นผล และพอ 10 โมงเช้าซึ่งเป็นเวลานัดคุยกับคุณป้า คุณหมอก็แจ้งผลว่าเป็นอย่างไร แนะนำวิธีปฏิบัติตัวและสั่งยาให้ โดยที่คุณป้ารอรับยาอยู่ที่บ้านและใช้เวลาแค่ 1 ชั่วโมงยาก็จะถูกจัดส่งไปถึง


"เราไม่ได้เป็นอาคารสถานที่ ไม่ใช่เป็นแค่แอพให้หมอพูดคุยกับคนไข้เท่านั้น แต่ระบบเบื้องหลังของเราเป็นโรงพยาบาลเลย คือมีระบบเวชระเบียน คนไข้ที่ตรวจกับเราทางคุณหมอจะบันทึกทุกอย่างเหมือนที่โรงพยาบาลทำ"


ในเวลานี้ See Doctor Now ยังไม่ได้เปิดให้บริการในส่วนบริการตรวจเลือดและจัดส่งยาที่บ้าน แต่จะโฟกัสบริการที่ให้หมอพูดคุยกับคนไข้ ให้คนได้เข้ามาทดลองใช้งานเพื่อจะได้รู้ว่ามีอะไรที่ต้องปรับหรือแก้ไข


"เราทดลองระบบเจาะเลือดที่บ้าน กับระบบส่งยาที่บ้านในวงปิดในวงเพื่อนๆ กลุ่มญาติๆของเรา ยังไม่ได้บริการคนทั่วไป เรื่องที่มันยากคือโลจิสติกส์ และโอเปอเรชั่นที่จะต้องใช้คน เราต้องใช้เวลาในการเซ็ทอัพคิดว่าอีก 3-4 เดือนก็น่าจะพร้อมใช้"


กลุ่มที่สาม คือคนไทยที่เดินทางไปต่างประเทศ ซึ่งเมื่อมีไข้ไม่สบายคนส่วนใหญ่ก็มักจะเครียดว่าควรต้องทำอย่างไรดี


"แอพเราใช้ได้ทั่วโลก สามารถกดเข้ามาพูดคุยกับคุณหมอของเราเพื่อให้ช่วยตัดสินใจว่าควรต้องทำอย่างไร ซึ่งหมอในระบบของเราต่างเคยผ่านการใช้ชีวิตที่ต่างประเทศ มีความรู้ มีประสบการณ์แนะนำได้ว่าควรจะทำตัวอย่างไร การเข้าถึงสถานพยาบาลที่ต่างประเทศจะต้องทำอย่างไร"


สำหรับกลุ่มสุดท้าย เป็นผู้ป่วยโรคทั่วๆไป ที่ไม่รู้วิธีปฏิบัติตัว หมอปณตบอกว่ามีงานวิจัยซึ่งตีพิมพ์เมื่อปีที่แล้วระบุว่ามีชาวอเมริกันมากถึง 71% ที่แจ้งเข้าห้องฉุกเฉินของโรงพบาบาลทั้ง ๆที่ไม่จำเป็นต้องไปแต่ที่ไปเพราะรู้สึกว่าปลอดภัย


" ถ้าเขาได้คุยกับพยาบาลหรือหมอผ่านช่องทางอื่น ๆ จะทำให้เขารู้ว่าจริง ๆแล้วเขาดูแลตัวเองได้ที่บ้านโดยไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง ทางโรงพยาบาลเองก็จะได้นำเอาทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดไปดูแลคนไข้ที่ฉุกเฉินจริง ๆ เราคิดว่าเราสามารถเป็นด่านหน้าโดยเฉพาะกับโรงพยาบาลภาครัฐได้ คือคอยสกรีนคนไข้ให้ ถ้าคนที่ไม่จำเป็นต้องไปเราก็บอกว่าไม่ต้องไป แต่ถ้าเป็นกรณีจะต้องไปเราก็จะรีบบอกว่าต้องไป"


ในช่วงเริ่มต้นอาจมีความยากที่ See Doctor Now จะทำให้คนรู้จักและเข้าใจถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากระบบกระทั่งตัดสินใจเข้ามาทดลองใช้ อย่างไรก็ดีตั้งแต่เปิดตัวแอพมาถือว่าการตอบรับเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ เวลานี้ยอดดาวน์โหลดผ่านระบบไอโอเอสมีอยู่ประมาณ 1.4 หมื่นราย ส่วนเอนดรอยด์ซึ่งเพิ่งลอนซ์ได้แค่ 2 เดือนเอง มีอยู่ 4-5 พันราย


"เราโพซิชั่นนิ่งชัดเจนว่าเป็นเฮลธ์แคร์โพรวายเดอร์ เป็นโรงพยาบาลอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งไม่ควรโฆษณามากเกินไป สิ่งที่ทำคือสร้างการรับรู้ว่าระบบเราคืออะไร เราเป็นอีกหนึ่งออฟชั่น ที่เวลาเจ็บป่วยถ้าไม่อยากเสียเวลาเดินทางก็ลองคุยกับหมอของเรา ซึ่งอาจจบตรงนี้เลยโดยไม่ต้องไปโรงพยาบาล"