สู้เพื่อบรรทัดสุดท้าย สไตล์ชาว ‘vet’

สู้เพื่อบรรทัดสุดท้าย สไตล์ชาว ‘vet’

ยังคงเวียนว่ายอยู่ในห้วงมหาสมุทร “สตาร์ทอัพ” และยอมรับว่ายังจับทิศหาทางไปสู่ฟากฝั่งของความสำเร็จไม่เจอ

"แกนของสตาร์ทอัพมันคือ การสร้างธุรกิจ สร้างรายได้ ซึ่งบางช่วงของชีวิตอาจใช้วิธีการหาเงินที่แตกต่างกัน วิธีหนึ่งก็คือเอาของไปขายหาเงินจากลูกค้าโดยตรง อีกวิธีหนึ่งใช้การระดมทุนจากนักลงทุนเพื่อมาบิวด์โปรดักส์ก่อน ทั้งหมดก็เพื่อให้ธุรกิจได้ไปต่อ แต่ที่สุดบรรทัดสุดท้ายของสตาร์ทอัพ ก็ต้องเป็นธุรกิจที่มีรายได้ มีกำไร ถ้าทำไม่ได้ก็ต้องตาย หรือเจ๊ง เราเองยังไม่รู้ว่าจะไปถึงอย่างไรแต่กำลังพยายามเพื่อจะไปให้ถึงบรรทัดนั้นอยู่"

คือมุมมองของ “น.สพ.ธนพัฒน์ สุขวิสุทธิ์” (หมอก้อง) ซึ่งถือเป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่กระโจนเข้าสู่วงการสตาร์ทอัพตั้งแต่ยุคแรก ๆ สมัยที่สตาร์ทอัพยังไม่เป็นที่รู้จัก ยังไม่ดังอย่างทุกวันนี้ โดยร่วมกับเพื่อนๆ ตั้งทีมที่ชื่อว่า “Vetside” สมัครเข้าโครงการของ “ทรู อินคิวบ์” รุ่นที่สอง และได้ผ่านเข้ารอบ 5 ทีมสุดท้ายด้วย

ในเวลานั้นเขาบอกว่าไม่ได้คิดอยากเป็นสตาร์ทอัพ แต่ต้องการนำเอาเทคโนโลยีมายกระดับวงการสัตวแพทย์-สัตว์เลี้ยง ถึงแม้จะเรียนสัตวแพทย์ แต่หมอก้องพบว่าตัวเขาเองมีความชื่นชอบเทคโนโลยีในระดับหนึ่ง  ซึ่งที่เรียนสัตวแพทย์ก็ไม่ได้เกิดจากมุ่งมั่นตั้งแต่แรก ย้อนกลับไปสมัยที่ยังเป็นเด็ก หมอก้องบอกว่าเวลานั้นมีความรู้สึกที่ชัดเจนว่าตื่นเต้นและอินมากเวลาที่ได้ดูหนังเกี่ยวกับการตัดต่อพันธุกรรม เลยตัดสินใจเลือก
สอบเข้าคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพราะมองว่าน่าจะเป็นอะไรที่ตรงที่สุด

มีอีกเหตุผลหนึ่ง เรื่องมีอยู่ว่าสมัยที่เขายังเป็นเด็กเช่นเดียวกัน เคยมีแมวตัวหนึ่งซึ่งป่วยเข้ามาอยู่ในบ้านเขา ด้วยความที่อยากจะช่วยเขาเอายาพาราเซตามอลให้กิน และแมวก็ตาย ทำให้คิดว่าถ้าได้เรียนหมอก็น่าจะมีวิธีรักษาให้มันรอดอย่างไรก็ดี

แต่พอเรียนจนจบหมอก้องกลับพบว่าจริง ๆตัวเองไม่ได้อยากเป็นหมอรักษาสัตว์สักเท่าไหร่ เลยตัดสินใจไปทำงานกับบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และระหว่างที่ทำงานอยู่นั้นเขาได้คิดค้นเทคโนโลยีที่ช่วยบริหารจัดการฟาร์มให้ดียิ่งขึ้นตัวอย่างเช่น เมื่อครั้งทำงานอยู่ในฟาร์มหอยเป๋าฮื้อ ที่จังหวัดภูเก็ต เจ้าของฟาร์มได้ขอให้หมอก้องช่วยออกแบบระบบน้ำหมุนเวียน ซึ่งเป็นงานด้านวิศวกรรมไม่เกี่ยวข้องกับศาสตร์ของสัตวแพทย์ หรือ veterinarian (เรียกย่อๆกันว่า vet)แม้แต่น้อย

“พี่เจ้าของฟาร์มบอกว่าอยากทำระบบนี้เพื่อเลี้ยงหอย เขาเอาตำรามาให้ผมอ่านเพื่อให้ช่วยดีไซน์ระบบ ผมก็นั่งอ่านหนังสือและดีไซน์ระบบขึ้นมา เขาก็ให้ช่างทำตามแบบนั้นเลย พอสร้างเสร็จมันก็ใช้งานได้”

ใช้ชีวิตลูกจ้างราว 7-8 ปี หมอก้องปรึกษาหารือกับเพื่อน ซึ่งเรียนจบด้านอินทีเรีย ดีไซน์และมีพี่ชายเป็นโปรแกรมเมอร์ ว่าน่าจะร่วมกันเปิดธุรกิจพัฒนาซอฟท์แวร์เพื่อช่วยแก้ปัญหาอะไรสักอย่างและสุดท้ายก็ตกลงกันว่าควรมุ่งตอบโจทย์วงการสัตวแพทย์ที่หมอก้องคุ้นเคยอยู่แล้ว เป็นที่มาของ Vetside ซึ่งพวกเขานำไปประกวดโครงการทรู อินคิวบ์ เพียงต้องการจะพรูฟว่าไอเดียโอเคหรือไม่เท่านั้น

หมอก้องบอกว่า ต้องการให้โปรดักส์ดังกล่าวทำงานเหมือนกับกรุ๊ปไลน์ หรือเฟสบุ๊ค เพื่อติดต่อเชื่อมโยงและแชร์ความรู้กันระหว่างกลุ่มสัตวแพทย์

" ที่จริงสัตวแพทย์เขาสามารถใช้เฟสบุ๊คหรือไลน์ น่าจะดีกว่าใช้ของเรา เพราะทั้งคน ทั้งฝีมือ และทุนของเราที่มีอยู่ คงไม่มีทางจะทำโปรแกรมให้มีความสามารถได้เท่ากับเฟสบุ๊ค ก็เลยสต็อปเอาไว้ก่อน"

โปรดักส์ต่อมาที่ทีมเขาพัฒนาขึ้นมาก็คือ “VETList” เป็นแอพลิเคชั่น สำหรับสัตวแพทย์โดยเฉพาะให้ใช้ค้นหาวิธีการใช้ยา ได้ง่ายและรวดเร็ว

“โมเดลธุรกิจก็คือ ในเมื่อมีเครือข่ายสัตวแพทย์อยู่แล้ว เราก็ไปคุยกับซัพพลายเออร์เพื่อเอาโปรดักส์มาลงแล้วเก็บเงินค่าโฆษณาจากเขา จากนั้นเราจะพัฒนาให้เป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ”

เนื่องจากเป็นคนในแวดวง ทำให้รู้ปัญหาของสัตวแพทย์ว่าในการรักษาจะมีสัตว์อยู่หลายชนิด หลายตัว ทำให้ต้องจดจำการใช้ยาของสัตว์แต่ละตัวซึงแตกต่างกัน อาการของหมา แมว เต่า เป็นแบบไหนต้องใช้ยาอะไร กี่โดส เรียกว่าคลินิครักษาสัตว์ทุกแห่งต้องมีหนังสือที่ลิสต์ข้อมูลพวกนี้ 3-4 เล่มเอาไว้คอยเช็คดู“ที่เราทำก็คือเอาข้อมูลในหนังสือมาลงในแอพ เวลานี้มีสัตวแพทย์ที่ใช้แอพของเราอยู่ราว 3 พันคน”

แต่ที่สุดเขาก็พบว่าโมเดลธุรกิจนี้ไม่อาจเติบโตแบบยั่งยืนได้ เนื่องจากติดขัดในกฏ ข้อบังคับต่างๆ การที่ซัพพลายเออร์จะนำเอาโปรดักส์ยามาอยู่ในระบบของ VETList ต้องขออนุญาติอย. หรือสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กว่าที่ยาแต่ละตัวจะผ่านการอนุมัติได้ต้องใช้เวลาค่อนข้างยาวนาน

จากนั้นพวกเขาก็ได้พัฒนาเว็บไซต์ชื่อ“iTaam” (ไอ้แต้ม) เพราะมีเครือข่ายสัตวแพทย์อยู่แล้ว จึงมีความคิดว่าน่าจะเชื่อมโยงให้ได้เจอกับเจ้าของสัตว์เลี้ยงแนวคิดของไอ้แต้มก็คือ เป็นเหมือนกูเกิลให้เจ้าของใช้ค้นหาสิ่งที่ดีที่สุดเพื่อทำให้สัตว์เลี้ยงมีสุขภาพที่ดี คือสามารถหาว่ามีโรงพยาบาลอยู่ที่ไหน มีเซอร์วิสอะไรบ้าง ซึ่งเป็นโมเดลธุรกิจแบบบีทูซี คือให้โรงพยาบาลมาสร้างแพ็คเก็จรักษาเพื่อให้ลูกค้าที่เป็นเจ้าของสัตว์เข้ามาเลือกซื้อ

"ก็ขายได้นะ แต่ยังมีปริมาณที่ไม่มากพอที่จะรันเป็นธุรกิจได้ ทั้งเราเจอปัญหาว่าโรงพยาบาลที่ทำแพ็คเก็จขายได้ต้องไซส์ใหญ่จริงๆ ส่วนการตัดสินใจซื้อของลูกค้าก็มาจากความไว้วางใจ เชื่อใจ ผมว่าสถานที่พยาบาล ร้านทันตกรรม  ร้านทำผม เป็นธุรกิจที่ขึ้นอยู่กับความเชื่อใจของลูกค้า ดังนั้นธุรกิจแบบนี้ถ้าจะทำระบบจอง ทำระบบลดราคาให้ลูกค้าทดลองใช้บริการคงทำได้ค่อนข้างยาก เพราะมีสิ่งอื่นที่มากกว่าแค่เรื่องราคาซ่อนอยู่"

โมเดลธุรกิจที่เหมาะสมที่สุดสำหรับสตาร์ทอัพไทย หมอก้องมองว่าน่าจะเป็นบีทูบี เพราะสิ่งที่เคยเกิดขึ้นก็คือ สตาร์ทอัพไทยยุคแรก ๆมุ่งทำบีทูซีเป็นหลัก เมื่อเวลาผ่านไปก็ได้พบว่าต้องใช้เงินทุน กำลังสมอง และกำลังคนอย่างมหาศาล อีกทั้งจำนวนประชากรชาวไทยเองก็มีอยู่น้อยนิด จึงยากที่จะประสบความสำเร็จ

ผสมกับความท้าทายที่สำคัญ หมอก้องบอกว่า ทัศนคติของบุคลากรทางการแพทย์มักไม่เปิดรับอะไรใหม่ง่าย ๆ เป็นธรรมชาติที่จะต้องแน่ใจเสียก่อนว่าสิ่งนั้นดีจริง ปลอดภัยจริงๆ

"เลยคิดว่าถ้าอย่างนั้นเราต้องทำอีกระบบหนึ่ง คือเข้าไปทำระบบให้โรงพยาบาลใช้โดยตรงดีกว่า กลับไปสู่บีทูบีจะชัวร์กว่า เป็นบีทูซีเราต้องใช้เงินจำนวนมากทำการตลาดเพื่อให้คนรู้จัก และเราเองก็ไม่ถนัด ตอนนี้เราพัฒนาระบบหนึ่งขึ้นมา และไปคุยกับสถานพยาบาลว่าระบบแบบนี้เขาโอเคไหม ถ้าโอเคเราจะขอให้เขาเป็นเทสเตอร์ให้จะเริ่มในเดือนพ.ย.นี้"

ทั้งนี้โดยปกติแล้ว สถานพยาบาลส่วนใหญ่มักใช้วิธีจดวันเวลานัดในสมุด เมื่อใกล้ถึงเวลาก็จะโทรศัพท์หรือส่งข้อความไปหาคนไข้เพื่อเตือนนัด ซึ่งมีค่าใช้จ่ายหลักแสนบาทต่อเดือนเลยทีเดียว

"ถ้าเป็นอีเมลหรือเอสเอ็มเอสก็คงเบสิคเกินไปใคร ๆก็ทำได้  เลยมองว่าต้องเป็นการเตือนผ่านโซเชียลมีเดียโดยให้สถานพยาบาลคอนเน็คเฟสบุ๊คและไลน์ของลูกค้าเข้ามาในระบบเพื่อเตือนนัดไปให้ลูกค้า โดยที่ลูกค้าก็ไม่ต้องดาวน์โหลดแอพ สถานพยาบาลเองจะได้ประโยชน์โดยตรง เพราะทำให้ลูกค้าเก่ากลับมาตามนัด มีรายได้เพิ่มมากขึ้น  ถือเป็นการรักษาลูกค้าได้ดีที่สุด ใช้ต้นทุนที่น้อยที่สุด"

เคยท้อแท้ไหม? เขาบอกว่า “มีบ้าง” เพราะทำมากว่าสองปีแล้วก็ยังไม่สำเร็จ ดังนั้นสิ่งที่คิดอยู่ในเวลานี้จึงมีเพียงอย่างเดียวก็คือ ต้องทำให้สำเร็จ

“ ธุรกิจที่ทำอยู่เป็นเหมือนการวิ่งมาราธอน มันต้องอึด เราจะต้องวิ่งไปถึงโค้งสุดท้ายให้ได้”