ขนมไทยกระป๋องโกอินเตอร์

ขนมไทยกระป๋องโกอินเตอร์

ขนมหวานเมืองเพชรฯ ส่งขายทั่วโลกและมีชื่อเสียงโด่งดังเทียบชั้นมาการงจากฝรั่งเศส เป็นเป้าหมายปลายทางของขนมไทยแบรนด์ “มดดิ๊”

ขนมหวานเมืองเพชรฯ ส่งขายทั่วโลกและมีชื่อเสียงโด่งดังเทียบชั้นมาการง (Macaron) จากฝรั่งเศส เป็นเป้าหมายปลายทางของขนมไทยแบรนด์ “มดจิ๊” (Moddii) โดยกลุ่มพัฒนาผลิตภัณฑ์ขนมหวานเพชรบุรี ขยับก้าวแรกด้วยการใช้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์อาหารมาช่วยยืดอายุให้เก็บไว้ได้นานถึง 1 ปี คงรสชาติดั้งเดิม ปราศจากสารกันเสีย ได้รับมาตรฐาน อ.ย.และจีเอ็มพี


“เราต้องสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการพัฒนากระบวนการผลิตให้สะอาด มีมาตรฐาน และสามารถยืดอายุการเก็บรักษา มาเป็นจุดขายที่สร้างความแตกต่าง ขณะเดียวกันยังสามารถขยายฐานลูกค้าในต่างประเทศ จากเดิมเป็นเพียงของฝากก็สามารถฝากวางขายตามร้านไทยในต่างประเทศ ได้ด้วย” ณัฐดนัย รุจิรา ประธานกลุ่มฯ และกรรมการผู้จัดการบริษัท มินิฟู้ด โปรดักส์ จำกัด กล่าว


ยืดอายุสร้างมูลค่าเพิ่ม


แบรนด์มดดิ๊ ประกอบด้วยขนมไทยหลากชนิด อาทิ อาลัว วุ้นกรอบ ฝอยทอง กลีบลำดวน หม้อแกง เม็ดบัวและหม้อแกง ขณะที่ “อาลัว” ที่มีส่วนผสมหลักจากน้ำตาลเมืองเพชรและความมันจากมะพร้าว เป็นชนิดแรกที่ยืดอายุการเก็บรักษาได้นานถึง 3 เดือนจากเดิม 15 วัน ด้วยการปรับคุณสมบัติและส่วนผสมบางอย่างทำให้จุลินทรีย์เจริญเติบโตได้ยาก พร้อมทั้งเพิ่มความหลากหลายของรสชาติ รวมถึงบรรจุภัณฑ์ที่ให้ความสำคัญด้านการออกแบบ เพื่อดึงดูดกลุ่มเป้าหมายคนรุ่นใหม่ทั้งในและต่างประเทศให้หันมาสนใจขนมไทยมากขึ้น
ต่อมาพัฒนาเทคนิคยืดอายุขนมกลีบลำดวนและคุกกี้ไส้สับปะรด แต่ขนมที่เป็นจุดขายคือ “หม้อแกงกระป๋อง” อาศัยการต่อยอดงานวิจัยตั้งแต่สมัยเรียนวิทยาศาสตร์อาหาร วิทยาลัยครูเพชรบุรี มาใช้เป็นแนวทางยืดอายุให้ได้นานถึง 2 ปี พร้อมทั้งมีรสชาติ กลิ่น สีและเนื้อสัมผัสใกล้เคียงขนมสดมากที่สุด เริ่มตั้งแต่การเลือกวัตถุดิบ เทคนิคการเติมส่วนผสมที่ช่วยยืดอายุมาผนวกกับการบรรจุกระป๋อง ที่ต้องผ่านกระบวนการทำให้ปลอดเชื้อ (สเตอริไลซ์) ทำให้สะอาดปลอดภัย


พร้อมกันนี้ยังได้พัฒนา “ทองหยอดกระป๋อง” และกำลังขยายมาขนมไทยตระกูลทองทั้งหมด อาทิ ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ณัฐดนัย เชื่อว่า ในอนาคตจะมีเทคโนโลยีใหม่เข้ามาช่วยในการพัฒนาผลิตภัณฑ์บรรจุกระป๋องให้มีรสชาติใกล้เคียงกับของสดมากขึ้น เนื่องจากเทคโนโลยีและการพัฒนาไม่มีที่สิ้นสุด ผู้ที่เริ่มก่อนและมีองค์ความรู้จะมีโอกาสมากกว่า
อีกทั้งปัจจุบันหน่วยงานภาครัฐให้การสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมมากขึ้น ทั้งอุปกรณ์ เครื่องมือและผู้เชี่ยวชาญ จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ และทำให้ภาพรวมของการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารของประเทศไทยก้าวหน้าขึ้น


เพิ่มโอกาสขยายตลาดใหม่


ณัฐดนัย กล่าวว่า การทำตลาดขนมไทยกระป๋องในประเทศอาจลำบาก เพราะผู้บริโภคมีของสดให้เลือกซื้อได้ง่าย แต่ถือว่าเป็นทางเลือกให้กับการบริโภคขนมไทยที่สะอาด สามารถหาซื้อได้ง่าย ถือเป็นช่องว่างทางการตลาดเช่นเดียวกับการทำตลาดในต่างประเทศ และอนาคตจะพัฒนา “หม้อแกงผง” ให้ผู้บริโภคซื้อไปทดลองทำตามสัดส่วนและอุปกรณ์ซึ่งเตรียมไว้ให้สามารถทำรับประทานเองได้ง่ายไม่ยุ่งยาก
ปัจจุบันช่องทางการขายหลักของแบรนด์มดจิ๊มี 2 ช่องทาง คือ การออกงานอีเวนท์ และการขายผ่านออนไลน์ ผลตอบรับออกมาดีทั้ง 2 ช่องทาง โดย ในส่วนของงานอีเวนท์ทำให้ได้พบปะตัวแทนจำหน่ายโดยตรง ขณะที่หน้าเพจออนไลน์จะเป็นลูกค้าปลีกที่ซื้อไปบริโภคเอง หรือนำไปเป็นของฝาก
ยกตัวอย่างการทำตลาดต่างประเทศโดยนำสินค้าอาลัวออกบูธทดลองตลาดในจีน พบว่าต้องนำขนมกลับมาพัฒนาสูตรใหม่ไม่ต่ำกว่า 4-5 ครั้ง กว่าจะได้รสชาติที่ถูกปากผู้บริโภคชาวจีน ส่วนลูกค้าในกัมพูชา สิงคโปร์และเวียดนาม ตอบรับเป็นอย่างดี

“ออเดอร์ในหน้าเพจส่วนใหญ่จะมาจากทางภาคเหนือ และอีสาน รายได้ต่อเดือน 3-4 แสนบาท จากประสบการณ์ พบว่า ช่วงที่มียอดขายดีที่สุดจะเป็นช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ส่วนวิธีการดึงยอดขายกลางปีคือ การจัดอีเวนท์แทนการฝากความหวังไว้กับหน้าร้านในห้างและร้านของฝาก” ณัฐดนัย กล่าว