RSP ลุยปั้นแบรนด์ 'คอนเวิร์ส&โพนี่' ขึ้นแท่นผู้นำแฟชั่น

RSP ลุยปั้นแบรนด์ 'คอนเวิร์ส&โพนี่' ขึ้นแท่นผู้นำแฟชั่น

ขยายแบรนด์ Converse&Pony ในและนอกประเทศ 'จุดขาย' หุ้นไอพีโอน้องใหม่ 'ริช สปอร์ต' เตรียมระดมทุนตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) 10 พ.ย.นี้ 'พาพิชญ์ วงศ์ไพฑูรย์ปิยะ' นายหญิง ส่งซิกกำลังเจรจาเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าใหม่

แม้นั่งตำแหน่ง 'ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร' (CEO) แค่เพียง  2 ปี แต่ว่า 'ความรอบรู้' เรื่องการทำธุรกิจของ 'พาพิชญ์ วงศ์ไพฑูรย์ปิยะ' พี่สาวคนโต จากจำนวนพี่น้อง 3 คน 'ภาสวิช-ภาณุวิชญ์ วงศ์ไพฑูรย์ปิยะ' เจ้าของ บมจ.ริช สปอร์ต หรือ RSP บริษัทน้องใหม่ที่เตรียมขายหุ้นไอพีโอในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในวันที่ 10 พ.ย.นี้ ในราคาหุ้นละ  5.80 บาท มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) 1 บาท หลังเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนต่อประชาชนครั้งแรก (IPO) จำนวน 200 ล้านหุ้น แก่พอตัว...!!

เกิดมาก็เจอพ่อทำธุรกิจอยู่แล้ว !! 'พาพิชญ์' หญิงสาววัย 31 ปี ดีกรีปริญญาตรีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี สาขาการเงิน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และปริญญาโทบริหารธุรกิจ Master of Business Administration, Babson College, USA พยายามย้ำความปราดเปรื่องให้ 'กรุงเทพธุรกิจ BizWeek' ฟัง 

'ริช สปอร์ต' ก่อตั้งบริษัทเมื่อ 25 กันยายน 2544 ด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มแรก 5 ล้านบาท เพื่อประกอบธุรกิจจัดจำหน่ายสินค้าประเภทรองเท้า (Footwear) เสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายอื่นๆ (Non-Footwear) ภายใต้ตราสินค้าชั้นนำจากต่างประเทศ ได้แก่ Converse และ Pony เพียงรายเดียวในประเทศไทย 

เธอเล่าว่า เดิม บมจ. ริช สปอร์ต บริหารธุรกิจด้วยมืออาชีพมาตลอด ทว่าหลังจากตนเองเรียนจบปริญญาโทกลับมาก็รู้สึกว่านี่คือธุรกิจของครอบครัวแต่ทำไมไม่มีใครเข้ามาสานต่อกิจการ ประกอบกับตัวเองมีความสนใจเรื่องของการทำธุรกิจและชอบเกี่ยวกับตัวเลขตั้งแต่สมัยเป็นเด็กแล้ว จึงตัดสินใจสอบ 'เอ็นทรานซ์' เข้ามหาวิทยาลัยในสาขาการเงินและบัญชี  เพราะส่วนตัวมองว่าเรื่องของ 'การเงิน' คือ หัวใจเบื้องต้นในการทำธุรกิจ 

เข้ามาทำงานครั้งแรกเมื่อราว 7 ปีก่อน ในตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ก่อนจะได้ขึ้นมาในตำแหน่ง 'ซีอีโอ' ประมาณ 2 ปี เมื่อมานั่งตรงนี้เห็นชัดๆ ว่าธุรกิจยังมีช่องทางการเติบโตอีกมาก ฉะนั้น ภารกิจแรกที่ต้องทำ นั่นคือ อยากผลักดันบริษัทเข้ามานำระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ หากต้องการต่อยอดธุรกิจให้มีอัตราการเติบโตในอนาคต ซึ่งแผนการระดมทุนคือ 'ธงผืนใหญ่' เธอบอกเช่นนั้น !!  

การนำบริษัทเข้าตลาดหุ้น จะไม่ได้ประโยชน์เพียงแค่มีช่องทางการหาเงินทุนมากขึ้น แต่จะได้เรื่องหน้าตา และความน่าเชื่อถือเต็มๆ มาตรฐานของบริษัทจะถูกยกระดับขึ้นทันที ที่สำคัญยังสามารถดึงดูดแบรนด์ใหม่ๆ เข้ามาเพื่อให้บริษัทเป็นตัวแทนจำหน่ายเพิ่มอีกด้วย 

เมื่อเป้าหมายสำคัญต้องการขึ้น 'เป็นผู้นำด้านการจัดจำหน่ายสินค้าที่เป็นแฟชั่นและไลน์สไตล์' ในแบรนด์ชั้นนำอีกหลายแบรนด์ทั่วโลก จากปัจจุบันมี 2 แบรนด์ คือ Converse และ Pony ทว่าเป้าหมายในอนาคตไม่หยุดอยู่แค่ 2 แบรนด์เท่านั้น แต่ด้วยความเชี่ยวชาญและสัมพันธ์ที่ดีกับคู่ค้าด้วย ฉะนั้น ตัวแทนจำหน่ายในแบรนด์ที่ 3 หรือ 4 จะเกิดขึ้นแน่นอน ซึ่งเป็นเรื่องที่เราอยากทำมากที่สุด เธอเล่าเช่นนั้น...! 

'เราไม่เคยหยุดในการคุยกับแบรนด์อื่นๆ ในการเป็นตัวแทนจำหน่าย เพียงแต่ตอนนี้เราต้องการทำตลาดแบรนด์ Converse และ Pony ให้แข็งแกร่งก่อน โดยเฉพาะ Pony ที่เราพึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายเมื่อเดือนก.ย.ที่ผ่านมา'

'นายหญิง' เล่าแผนธุรกิจ 3-5 ปี (2561-2565) บริษัทมีเป้าหมายมุ่งเน้นขยายสาขาแบรนด์ Converse ผ่านช่องทาง 'ร้านค้าปลีกของบริษัท' (Mono Brand Store) คาดว่าจะมีสัดส่วนรายได้เป็น 20-25% จากปัจจุบันอยู่ที่ 19% หรือมีสาขา 41 แห่ง ซึ่งยังความสามารถในการขยายสาขาเพิ่มอีกมาก และมองว่าการขยายสาขาผ่าน Mono Brand Store นั้น บริษัทสามารถดีสเพลย์โปรดักท์ครบถ้วน เพราะว่ามีพื้นที่เอื้ออำนวย ฉะนั้น จะสามารถสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักได้รวดเร็ว  

สำหรับ 'แบรนด์ Converse' ปัจจุบันมีสาขาทั้งหมด 155 สาขา โดยบริษัทขยายสาขาผ่าน 3 ช่องทาง คือ 1.ขายผ่านเคาน์เตอร์ในห้างสรรพสินค้า จำนวน 114 แห่ง คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 41% หลักๆ จะเป็นการขยายไปพร้อมกับห้างสรรพสินค้า เช่น เดอะมอลล์ , เซ็นทรัล ,โรบินสัน เป็นต้น 2.ขายผ่านลูกค้าขายส่ง คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 35% และ 3.ขายผ่านร้านค้าปลีกของบริษัท (Mono Brand Store) คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 19% 

ล่าสุดบริษัทได้รับสิทธิจาก Converse ในการทำการตลาด ขาย จัดจำหน่าย และการโฆษณาประชาสัมพันธ์แต่เพียงผู้เดียวใน 'ประเทศกัมพูชา' ถือเป็นอีกช่องทางที่บริษัทจะขยายฐานลูกค้าของแบรนด์ Converse ซึ่งมองว่าตลาดเพื่อนบ้านยังมีความต้องการอีกมาก ซึ่งตลาดกัมพูชาถือว่ายังใหม่มากและอยู่ในช่วงเริ่มต้น และบริษัทก็เห็นชาวกัมพูชาก็เดินทางมาซื้อรองเท้า Converse จากประเทศไทยจำนวนมาก และหิ้ว Converse จากเมืองไทยไปขายที่ประเทศกัมพูชาด้วย เชื่อว่าอนาคตจะสร้างอัตราการเติบโตได้อีกช่องทาง อีกทั้งประชาชนในกัมพูชาเริ่มมีกำลังซื้อมากขึ้นโดยคาดว่าบริษัทจะเข้าไปลงทุนประมาณปี 2561

โดยเบื้องต้นจะเป็นการเปิดเคาน์เตอร์ในห้องสรรพสินค้า  ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจาเช้าพื้นที่ในห้างสรรพสินค้าอิออนมอลล์ คาดว่าจะเปิดสาขาแรกได้ภายในปี 2561 ส่วนสาขาต่อไปคาดว่าจะเปิดในอิออน มอลล์ 2 และห้างพาร์คสัน เป็นต้น

'เรามองว่าปีหน้าอุตสาหกรรมรีเทลในกัมพูชาค่อนข้างพร้อม คาดว่าจะเปิดได้ราว 1-2 เคาน์เตอร์ ที่มีการคุยในรายละเอียดแล้ว'

สำหรับ 'แบรนด์ Pony' บริษัทเพิ่งได้รับสิทธิในการผลิตและจำหน่ายเป็นระยะเวลา 5 ปี เมื่อเดือนก.ย.ที่ผ่านมา และเริ่มขายอย่างไม่เป็นทางการไปแล้ว โดยได้เปิดสาขา Pony ไปแล้วทั้งหมด 20 สาขา และคาดว่าปลายปีนี้จะเปิดครบ 38 สาขา เบื้องต้นบริษัทขยายสาขาผ่านเคาน์เตอร์ในห้างสรรพสินค้าเป็นหลัก โดยใช้เงินลงทุน 2 แสนบาทต่อสาขา 

'การลงทุนแบรนด์ใหม่ขยายสาขาผ่านเคาน์เตอร์ห้างสรรพสินค้าถือว่ามีความเสี่ยงน้อยสุด หากเทียบกับเช่าพื้นที่ในห้างเปิดเป็น Mono Brand Store เพราะว่าผู้บริโภคยังไม่รู้จักแบรนด์ ซึ่งต้องใช้เวลาในการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักก่อนราว 3-5 ปี ก่อนจะสามารถเปิดเป็นสแตนอโลน ช็อป ได้'  

อย่างไรก็ตาม อนาคตบริษัทก็จะมีการเปิดเป็น Mono Brand Store แน่นอน แต่ขอเวลาสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักก่อน ปัจจุบันถือว่าแบรนด์ Pony ได้รับกระแสตอบรับที่ดีจากลูกค้า เนื่องจากแบรนด์ดังในประเทศเกาหลี และญี่ปุ่น โดยมีนักท่องเที่ยวเข้ามาซื้อรวมทั้งคนไทยที่เห็นแบรนด์ Pony ในต่างประเทศเขาก็ให้ความสนใจ ซึ่งในเดือนพ.ย.นี้ บริษัทจะเปิดตัวแบรนด์ Pony ในเมืองไทยอย่างเป็นทางการ  ขณะที่ การลงทุนขยายสาขาในห้างใช้เงินลงทุนเฉลี่ยสาขาละ 4-5 แสนบาท ขณะที่การเปิดช้อปเองใช้เงินลงทุนเฉลี่ย 3-4 ล้านบาทต่อสาขา

'นายหญิง' บอกต่อว่า สำหรับเป้าหมายปี 2561 ตั้งเป้าเติบโต 10% จากปี 2560 เนื่องจากบริษัทมีแผนที่จะปรับราคาสินค้าเพิ่มขึ้นอีก 10-15% และ มีรายได้จากการขายสินค้าแบรนด์ PONY เพิ่มขึ้น จากปีนี้เพิ่งเริ่มจำหน่ายในเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา และมองว่ากำลังซื้อจะเริ่มฟื้นในช่วงปลายปีนี้และดีต่อเนื่องถึงปีหน้า รวมทั้งแผนที่จะเปิดสาขาของ Converse เพิ่มขึ้น ส่วน PONY จะเปิดเพิ่มอีก 12-20 สาขา จากปี 2560 จำนวน 38 สาขา 

นอกจากนี้ได้ตั้งเป้าปี 61 Gross Profit Margin และ Net Profit Margin เท่ากับปี 60 แม้ปีหน้าทาง Converse มีนโยบายให้บริษัทซื้อรองเท้าจากทาง Converse ทั้งหมด จากเดิมที่บริษัทย่อยมีการผลิตเองส่วนหนึ่งด้วย ซึ่งจะทำให้บริษัทมีต้นทุนเพิ่ม แต่บริษัทจะมีการปรับราคาสินค้าเพิ่มตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้น และ มีการลดจำนวนพนักงานลดลง ประกอบกับภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศจีนปีหน้าจะลดลงเหลือ 5% จากเดิม 20 % ซึ่งส่งผลดีกับบริษัท

ด้านรายได้ปีนี้ คาดว่าจะลดลงจากปี 2559 ที่มีรายได้ 1,364 ล้านบาท เพราะกำลังซื้อที่ลดลง ทำให้ปริมาณการขายลดลงตาม แม้ปีนี้มีการปรับราคาขายสินค้าเพิ่มขึ้น 7-8% สำหรับผลประกอบการย้อนหลัง 3 ปี (2557-2559) บริษัทมีรายได้ 816.72 ล้านบาท 1,123.53 ล้านบาท และ 1,364.07 ล้านบาท ขณะที่ 6 เดือนแรกปี 2560 มีรายได้รวม 601.12 ล้านบาท ส่วนกำไรสุทธิ (2557-2559) อยู่ที่ 75.99 ล้านบาท 246.09 ล้านบาท และ 298.76 ล้านบาท ขณะที่ 6 เดือนแรกปี 2560 บริษัทมีกำไรสุทธิ 122.16 ล้านบาท 

ท้ายสุด 'นายหญิงRSP' ฝากไว้ว่า หลังจากมีเงินระดมทุนแล้วนั้น เราจะมุ่นเน้นสร้างการเติบโตธุรกิจ ในการนำแบรนด์ใหม่ๆ เข้ามาเสริม เพื่อเป็นช่องทางสร้างรายได้เพิ่ม 

หุ้นพื้นฐาน 'วิถีลงทุน'

'พาพิชญ์ วงศ์ไพฑูรย์ปิยะ' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ริช สปอร์ต หรือ RSP เล่าการลงทุนฉบับย่อๆ ให้ฟังว่า ด้วยเป็นคนที่ชอบเรื่องเกี่ยวกับตัวเลข สมัยที่เรียนอยู่มหาวิทยาลัยก็สนใจเรื่องการลงทุน โดยในวิชาเรียนจะให้มีการลงทุนผ่านพอร์ตจำลองแบบไม่เสียเงิน แต่ด้วยสไตล์ส่วนตัวชอบลงทุนแบบเสียเงินจริง จึงตัดสินใจเปิดพอร์ตกับโบรกเกอร์แห่งหนึ่ง  

ควักเงินซื้อหุ้นตัวแรก 'หุ้น จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล หรือ JAS' ตอนนั้นซื้อราคาหุ้นละ 1 บาท หุ้นตัวนี้ถือลงทุนยาว มาขายตอนราคา 3 บาท ถือว่ามีกำไรพอสมควร ก่อนมา 'ขาดทุนหนัก' โดยซื้อหุ้น 'กลุ่มเหล็ก' ตัวนี้เป็นหุ้นที่เพื่อนบอกมาก็เข้าไปซื้อตาม ปรากฎว่า ขาดทุนราว 50% เพราะเจอจังหวะเดียวกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาตรการตั้งสำรอง 30% ทำให้วันนั้นตลาดหุ้นร่วงลงมาทันที 30% จนตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยต้องหยุดการซื้อขายหุ้น  ตอนนั้นก็ตกใจเหมือนนักลงทุนคนอื่นๆ ก็เทขายหุ้นทิ้งหมด 

เธอบอกว่า หยุดลงทุนไปพักใหญ่ ก่อนจะกลับมาลงทุนอีกครั้งหลังเรียนจบปริญญาตรี โดยปรับเปลี่ยน 'กลยุทธ์ใหม่' เลือกลงทุนในหุ้นพื้นฐานและเป็นธุรกิจที่จับต้องการได้และเห็นในชีวิตประจำวัน รวมทั้งก่อนลงทุนศึกษาข้อมูลผ่านงบการเงินก่อน ยกตัวอย่าง 'หุ้น ทรู คอร์ปอเรชั่น หรือ TRUE' ผลตอบแทนลงทุนเป็นกำไร เลือกลงทุนหุ้นตัวนี้เพราะว่าเห็นว่าบริษัทกำลังขยายโครงข่าย และกำลังเป็นเทรนด์ในโลกยุคดิจิทัล และต่อมาซื้อ 'หุ้น ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ หรือ BEM' (เดิม บมจ.รถไฟฟ้ากรุงเทพ หรือ BMCL) ซึ่งเป็นหุ้นที่ธุรกิจอยู่ในชีวิตประจำวัน เป็นสิ่งที่เราเห็นและเข้าใจธุรกิจ 

ปัจจุบันมีหุ้นในพอร์ต 3 ตัว 'หุ้นโรงไฟฟ้า' เพราะว่ามองว่าธุรกิจไฟฟ้าในประเทศขาดแคลน ยังไม่เพียงพอ ซึ่งเท่าที่เห็นหุ้นโรงไฟฟ้าก็เป็นหุ้นพื้นฐานและเชื่อว่าอนาคตราคาหุ้นจะไปต่อได้ 'หุ้นห้างสรรพสินค้า' หุ้นตัวนี้ชอบเพราะว่า P/E ยังต่ำมาก และเข้าไปดูในโครงสร้างธุรกิจพบว่ามีหลายหลายธุรกิจที่ไม่รู้ ฉะนั้นเชื่อว่า และ 'หุ้นสิ่งพิมพ์' โดยปีที่แล้วได้ผลตอบแทน 'ราว30%' ถือว่าเป็นรีเทิร์นที่ 'พอใจมาก' แล้ว เพราะปกติมีเป้าหมายไว้แค่ 20% เท่านั้นเอง