พุ่ง!! โรคหัวใจและหลอดเลือด

พุ่ง!! โรคหัวใจและหลอดเลือด

จำนวนผู้ป่วยโรคหัวใจมีแนวโน้มเพิ่มทุกปี ทั้งที่สามารถป้องกันได้ด้วยการหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง แพทย์ราชวิถีกระตุ้นเตือนให้คนไทยตระหนักถึงความสำคัญของการใส่ใจดูแลรักษาสุขภาพหัวใจก่อนสายเกินแก้

สมาพันธ์หัวใจโลก (World Heart Federation) กำหนดให้วันที่ 29 กันยายนของทุกปี เป็นวันหัวใจโลก เพื่อรณรงค์กระตุ้นเตือนให้ประชากรโลกตระหนักถึงความสำคัญในการป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดโดยสมาพันธ์หัวใจโลกระบุว่า โรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง เป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตของโลก โดยมีผู้เสียชีวิต 17.1 ล้านคนต่อปีมากกว่าผู้ที่เป็นมะเร็ง เอชไอวี โรคเอดส์ และโรคมาลาเรีย สำหรับในประเทศไทย ข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ.2557 ระบุว่า ในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตด้วย โรคหัวใจเพิ่มขึ้นกว่า 54,530 คน เฉลี่ยวันละ 150 คน หรือ เฉลี่ยชั่วโมงละ 6 คน การป้องกันได้ดีที่สุด คือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยง และการได้รับการตรวจพบให้เร็วที่สุด


นพ.มานัส โพธาภรณ์ ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลราชวิถี กล่าวว่า โรคหัวใจถือเป็นโรคร้ายแรงที่สามารถคร่าชีวิตผู้ป่วยได้ทุกเมื่อ และเป็นปัญหาสุขภาพใกล้ตัวที่มีโอกาสเกิดได้กับทุกคน แบ่งอออกเป็น 3 กลุ่มหลักคือ 1. ความผิดปกติด้านโครงสร้างหัวใจ เช่น ภาวะหัวใจพิการแต่กำเนิด ภาวะลิ้นหัวใจรั่ว 2. ความผิดปกติของเส้นเลือดที่มาเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ เช่น โรคในกลุ่มหัวใจขาดเลือด หรือโรคเส้นเลือดหัวใจตีบตัน ซึ่งพบได้บ่อยในคนไทย เกิดจากพฤติกรรมการกินที่ไม่เหมาะสม สูบบุหรี่ และขาดการออกกำลังกาย สามารถป้องกันได้ 3.ความผิดปกติของกระแสไฟฟ้าในหัวใจ ทำให้เกิดหัวใจเต้นเร็วไป ช้าไป หรือเต้นไม่ตรงจังหวะ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจชนิดไหนก็เป็นปัญหาที่ทุกคนควรตระหนัก เนื่องจากมีอันตรายถึงชีวิต ควรป้องกันโดยการออกกำลังกาย เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ เพื่อตรวจหาภาวะความเสี่ยงเกิดโรคหัวใจ เพื่อจะได้รักษาได้ทันเวลาและเพิ่มโอกาสในการรักษา

“ที่น่าเป็นห่วงมากคือ ปัจจุบันจำนวนผู้ป่วยโรคหัวใจมีแนวโน้มเพิ่มทุกปี ทั้งที่โรคหัวใจและหลอดเลือดที่พบบ่อยในคนไทยนั้น สามารถป้องกันได้ด้วยการหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง ฉะนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องช่วยกันรณรงค์ให้เห็นความสำคัญของการป้องกัน รพ.ราชวิถี จึงได้จัดกิจกรรมรณรงค์ “รพ.ราชวิถี ปันหัวใจ...ให้ชีวิตผู้ป่วยโรคหัวใจ” เนื่องในวันหัวใจโลก 2017” ขึ้นเพื่อกระตุ้นเตือนให้คนไทยตระหนักถึงความสำคัญของการใส่ใจดูแลรักษาสุขภาพหัวใจก่อนสายเกินแก้” ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กล่าว


ทั้งนี้ ในแต่ละปีรพ.ราชวิถี รองรับผู้ป่วยโรคหัวใจมากกว่า 23,000 ราย หรือเฉลี่ยมากถึง 90 รายต่อวัน เปิดดำเนินการรักษามาแล้วตั้งแต่ พ.ศ. 2518 มีการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจมาแล้ว 67 ราย และยังมีการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ หัวใจอื่นๆ หลอดเลือด และปอดเฉลี่ยปีละ 600-700 ราย อีกทั้งยังเป็นศูนย์แพทย์เฉพาะทางด้านโรคหัวใจครบวงจร มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง และเป็นสถาบันฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทางด้านหัวใจที่เก่าแก่ที่สุดของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข อบรมสร้างแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจที่ไปช่วยดูแลสุขภาพประชาชนทั่วประเทศอีกด้วย


นายแพทย์ธนรัตน์ ชุนงาม อายุรแพทย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลราชวิถี ให้คำแนะนำว่า เมื่อเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด ถ้าตรวจพบและได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง และทันเวลาแล้วก็จะสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ โดยวิธีการรักษาจะขึ้นอยู่กับอาการและปัจจัยอื่นๆ เช่น โรคประจำตัว หรืออาการแทรกซ้อนต่างๆ และหลังการรักษาโรคหัวใจแล้วการดูแลตัวเองเป็นสิ่งสำคัญมาก ซึ่งการดูแลตัวเองหลังการรักษาทำได้หลายวิธี เช่น การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคและการดำเนินชีวิต สำหรับการออกกำลังกายซึ่งในผู้ป่วยโรคหัวใจจะส่งผลดีต่อสมรรถภาพร่างกายของผู้ป่วย เนื่องจากร่างกายมีการปรับตัวในการนำออกซิเจนไปใช้ได้ดีขึ้น ทำให้ผู้ป่วยมีสมรรถภาพร่างกายที่ดี ช่วยลดอาการต่างๆ ของโรคหลอดเลือดหัวใจ รวมถึงช่วยป้องกันและควบคุมเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และความผิดปกติของระดับไขมันในเลือด เพิ่มความสามารถการละลายลิ่มเลือด และปรับปรุงการทำงานของเซลล์เยื่อบุผนังหลอดเลือด ทำให้สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ดีขึ้น อีกทั้งยังทำให้มีสภาพจิตใจและคุณภาพชีวิตดีขึ้นด้วย แต่ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันอาการแทรกซ้อนต่างๆ