แนะธุรกิจเร่งเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีรับยุค‘อี-บิสสิเนส’

แนะธุรกิจเร่งเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีรับยุค‘อี-บิสสิเนส’

การขับเคลื่อนธุรกิจท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วรอบด้านสร้างผลกระทบทั้งเชิงบวกและลบ ผู้ประกอบการต้องปรับตัวขนานใหญ่!!  เรียกว่าเป็นยุค “ทรานส์ฟอร์ม เทคโนโลยี" ครั้งสำคัญ เพื่อรับมือคู่แข่งทั้งบนโลกออฟไลน์และออนไลน์

วรวุฒิ อุ่นใจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีโอแอล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โลกการค้าในยุคปัจจุบัน ผู้บริโภค “อยู่กับที่” โดยสินค้า “เดินมาหา” ต่างจากอดีต ที่ “คนเดินไปหาสินค้า” เป็นพัฒนาการของเทคโนโลยี “ระบบออนไลน์” ที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้น และนับวันจะยิ่งทรงอิทธิพล  จะเห็นว่าธุรกิจอี-คอมเมิร์ซในประเทศไทยมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันทั่วโลก

ธุรกิจการค้ามีหลากหลายช่องทางในการเข้าถึง (มัลติแชนแนล) ซึ่งในอนาคตจากนี้สินค้า บริการ และผู้บริโภค จะถูกเชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อและไม่จำกัดเวลา ธุรกิจกำลังก้าวสู่ “ออมนิแชนแนล” เต็มรูปแบบมากขึ้น สอดรับพฤติกรรมผู้บริโภค โดยเฉพาะ เจนเนอเรชั่น Y และ Z หากต้องการซื้อสินค้าจะยกโทรศัพท์ขึ้นมาดูรีวิว และมองร้านค้าปลีกเป็นเพียง “โชว์รูม” เท่านั้น

ขณะที่ องค์ประกอบที่มีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ อย่าง “โปรดักท์ อินฟอร์เมชั่น” กำลังเป็น “จุดอ่อน” ของผู้ประกอบการค้าปลีกที่ไม่สามารถป้อนให้ลูกค้าได้ ณ จุดขาย เทียบโลกออนไลน์ที่มีคลับข้อมูลสนับสนุนแบบละเอียดยิบ 

โดยเฉพาะการผสานเทคโนโลยีเข้ามานำเสนอข้อมูลผ่านวิดีโอคลิปให้เห็นภาพเสมือนจริง เทคนิคการใช้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งประสบการณ์เหล่านี้ ผู้ค้าปลีกออฟไลน์ ทำไม่ได้ ในทางเดียวกัน ทำให้ผู้ที่เข้าไปในช้อปออนไลน์เสพติดคอนเทนท์เหล่านี้

ยังไม่นับรวมพฤติกรรมคนรุ่นใหม่ที่นิยม “สื่อสาร” และ “แชร์” ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตทุกสิ่งอย่างบนโลกออนไลน์ เหล่านี้คือความได้เปรียบของระบบออนไลน์ 

 “แม้เวลานี้ออนไลน์หรืออี-คอมเมิร์ซในไทยยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่เมื่อผู้บริโภคมีความเคยชินมากขึ้นจะไม่ย้อนกลับไปใช้ออฟไลน์ นั่นหมายถึงการเติบโตอย่างเสถียรและมีผลต่อธุรกิจออฟไลน์ในทันที”

ในช่วงรอเวลาให้เคยชิน จะเห็นว่าบรรดา “ผู้เล่น” ยักษ์ใหญ่จากทั่วโลกต่างมุ่งหน้าสู่ประเทศไทย 

ดังนั้น แนวทางการพัฒนาธุรกิจให้สอดรับพฤติกรรมผู้บริโภคกลุ่มคนรุ่นใหม่และโลกการค้ายุคใหม่ต้องผสาน “ออนไลน์” เข้ามาต่อยอดเพื่อเชื่อมต่อลูกค้าแบบไร้รอยต่อ หมายความว่าสามารถเข้าถึงลูกค้าได้ตลอดเวลาทุกช่องทาง

อย่างไรก็ดี แนวทางการพัฒนาธุรกิจไม่ใช่เพียงการเป็น “อี-คอมเมิร์ซ” แต่จะต้องพัฒนา และยกระดับธุรกิจก้าวสู่การเป็น “อี-บิสิเนส” คือการใช้เทคโนโลยีเข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพของการบริหารจัดการ การดำเนินงาน ครอบคลุมทุกด้านที่เป็นพื้นฐานสำคัญ เรียกว่าเป็น “4 เสาหลัก” ที่อยู่ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านสำคัญ ได้แก่ อี-คอมเมิร์ซ, อี-มันนี่ หรือ อี-ไฟแนนซ์ , อี-โลจิสติกส์ และ อี-ดาต้า หรือ บิ๊ก ดาต้า

วันนี้เรามองแค่ อี-คอมเมิร์ซ ไม่ได้ แต่เป็น อี-บิสสิเนส ครอบคลุมทุกเรื่องในกระบวนการซัพพลายเชนที่ดำเนินธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ”

ไล่ตั้งแต่ “อี-คอมเมิร์ซ” เป็นการสื่อสารและเป็นกระบวนการทำให้เกิดดีมานด์ทั้งหลาย “อี-มันนี่” สู่สังคมไร้เงินสดในอนาคต  “อี-โลจิสติกส์” กำลังถูกเปลี่ยนโฉมหน้าไปอีกมากในอนาคตอันใกล้  สินค้าและบริการสามารถขนส่งได้ด้วยโดรน ทำงานด้วยโรบอต วิเคราะห์ด้วยปัญญาประดิษฐ์

ทุกกิจกรรมบนเส้นทางการค้า คือ อี-ดาต้า เป็นฐานข้อมูลสนับสนุนธุรกิจ นำสู่ บิ๊กดาต้า และถูกเชื่อมโยงสู่ Internet of Think”

ทั้งนี้ การเติบโตของ อี-คอมเมิร์ซ จะต้องมีความพร้อมด้านระบบโครงสร้างพื้นฐานเป็นสำคัญ โดยเฉพาะทางด้านโลจิสติกส์ที่ภาครัฐจะต้องเข้ามาสนับสนุนการพัฒนาและวางระบบเกื้อหนุนผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก ซึ่งระบบโลจิสติกส์มีการลงทุนสูงเป็นอุปสรรคสำหรับผู้ประกอบการรายเล็ก ขณะที่รายใหญ่สามารถลงทุนได้เอง

ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซในอนาคตจะเป็นการต่อสู้ของบรรดายักษ์ใหญ่ระดับ ท็อปทรี หรือ ท็อปไฟว์ ซึ่งมีการลงทุนระดับหมื่นล้านบาท ผู้ประกอบการระดับร้อยล้านหรือพันล้านค่อนข้างอยู่ยากสำหรับการ “บุกเดีี่ยว”หากต้องการผลักดันธุรกิจขยายตัวหรือเติบโตอย่างมั่นคงต้องมีการจับมือเป็นพันธมิตรจะเป็นแนวทางที่ดีที่สุด

วรวุฒิ ย้ำว่า การปรับตัวของธุรกิจต้องสร้างความแข็งแกร่งตั้งแต่ระดับพื้นฐาน หาก “4 เสาหลัก” ไม่แข็งแรงพอ ไม่เพียงแต่จะมีผลต่อผู้ประกอบการนั้นๆ แต่รวมถึงขีดความสามารถของไทยในการแข่งขันกับ “เพื่อนบ้าน” และใน “เวทีโลก”