‘เอ็ม39’ชูมีเดียไลฟ์สไตล์ต่อยอดธุรกิจหนัง CLMV

‘เอ็ม39’ชูมีเดียไลฟ์สไตล์ต่อยอดธุรกิจหนัง CLMV

วิชั่นของ“วิชา พูลวรลักษณ์” ประธานกรรมการบริหาร เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ๊ป มีเป้าหมายผลักดันอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยเติบโต

ทั้งตลาดไทยและส่งออกต่างประเทศ ด้วยการขับเคลื่อนทั้งด้าน “ฮาร์ดแวร์” การขยายโรงภาพยนตร์ให้ครบ 1,000 โรง ในปี 2563  แบ่งเป็นในไทย 900 โรง และกลุ่มซีแอลเอ็มวี 100 โรง  เพื่อเป็นช่องทางรองรับหนังไทย

ส่วนด้าน“ซอฟต์แวร์” เดินหน้าลงทุนสร้างภาพยนตร์ไทย ภายใต้ 3  บริษัท คือ เอ็ม เทอร์ตี้ ไนน์ จำกัด (เอ็ม39), ทาเลนต์ วัน และบริษัทร่วมทุน ทรานส์ ฟอร์เมชั่น ฟิล์ม

ปัญชลีย์ นิธิจิระโรจน์  กรรมการผู้จัดการ ส่วนงานการตลาดและฝ่ายขาย  บริษัท เอ็ม เทอร์ตี้ ไนน์ สตูดิโอ จำกัด กล่าวว่าจากประสบการณ์การทำงานธุรกิจเอเยนซี ในประเทศลาวและเวียดนาม ช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ทำให้เข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคและเห็นโอกาสที่สินค้าและแบรนด์ต่างๆ ทั้งไทยและต่างประเทศ จะเข้าไปทำตลาดเจาะกำลังซื้อในกลุ่มซีแอลเอ็มวี (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ที่กำลังขยายตัวสูงในภูมิภาคนี้  

โดยมองโอกาสการทำตลาดรูปแบบใหม่ผ่าน “ภาพยนตร์” ที่สามารถใช้เป็นกลยุทธ์และเครื่องมือสื่อสารแบรนด์ ที่ตอบโจทย์พฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้บริโภคในซีแอลเอ็มวี ที่มีประชากรกว่า 175 ล้านคน รวมทั้งตลาดไทยที่มีประชากรกว่า 65 ล้านคน

พฤติกรรมผู้บริโภคในยุคที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงและพัฒนาอย่างรวดเร็ว ดังนั้นรูปแบบการสื่อสารผ่าน“สื่อเดิม” เช่น โฆษณาทีวี สิ่งพิมพ์ อาจไม่เห็นประสิทธิภาพเหมือนที่ผ่านมา ขณะที่ภาพยนตร์ เป็นคอนเทนท์ที่สามารถนำเสนอวัฒนธรรม แนวคิด ไลฟ์สไตล์ และเทรนด์ ทำให้วันนี้ “ภาพยนตร์” กลายเป็น “แพลตฟอร์ม” ที่นำเสนอวัฒนธรรมผ่านเทคโนโลยีใหม่ ตอบโจทย์ความสนใจผู้บริโภค

ในยุคการเสพสื่อและคอนเทนท์มีหลายช่องทาง กลยุทธ์การนำพาสินค้าและแบรนด์เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายจึงต้องเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตผู้บริโภค แนวทางการสร้างสรรค์การตลาดผ่านภาพยนตร์ของเอ็ม39 จึงเป็นรูปแบบ“มีเดีย ไลฟ์สไตล์”เพื่อทำให้“หนัง”เป็นเครื่องมือที่เจาะเข้าหากลุ่มเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ 

ท่ามกลางข้อมูลและคอนเทนท์ที่ถาโถมเข้าหาผู้บริโภคจำนวนมากในแต่ละวัน กลยุทธ์สื่อสารแบรนด์ในยุคนี้จึงต้องเชื่อมโยงไปกับคอนเทนท์เพื่อดึงความสนใจจากกลุ่มเป้าหมาย ส่งผลให้การนำเสนอแบรนด์ผ่านเนื้อหา (Branded Content) ขยายตัวต่อเนื่อง  โดยภาพยนตร์  ถือเป็นเครื่องมือที่ตอบโจทย์กลยุทธ์ดังกล่าว  

“ผู้ชมที่ตัดสินใจดูหนัง พร้อมที่จะรับรู้เกี่ยวกับแบรนด์และสินค้าต่างๆ ที่เป็นส่วนหนึ่งของเนื้อหาในภาพยนตร์”  

ปัญชลีย์ กล่าวว่าในด้านการลงทุนภาพยนตร์ของเอ็ม39 เฉลี่ยปีละ 3-4 เรื่อง ใช้งบลงทุนเรื่องละ 30 ล้านบาท วางแนวทางการลงทุนไว้ 3 รูปแบบ คือ ลงทุนเอง, ร่วมทุน และสปอนเซอร์ชิป  โดยรูปแบบการลงทุนภาพยนตร์จะมองโอกาสต่อยอดธุรกิจร่วมกันพันธมิตรเป็นหลัก ในรูปแบบ“ร่วมทุน” กับพันธมิตรที่จะแบ่งรายได้ร่วมกัน และการใช้หนังเป็นเครื่องมือสื่อสารแบรนด์ ผ่านการทำงานด้านสปอนเซอร์ชิป ที่จะเข้ามาสนับสนุนงบประมาณด้านการตลาดของภาพยนตร์แต่ละเรื่อง  ขณะที่พันธมิตร มีโอกาสสื่อสารแบรนด์ทั้งตลาดไทยและต่างประเทศ จากการส่งออก  

“เป้าหมายแรกของการลงทุนสร้างภาพยนตร์ คือสำหรับตลาดไทย แต่หนัง เป็นคอนเทนท์ที่เข้าถึงผู้ชมได้ทั่วโลก  การสร้างหนังจึงมองโอกาสตลาดต่างประเทศไปพร้อมกัน แต่โฟกัสแรกอยู่ที่ ซีแอลเอ็มวี  ซึ่งเป็นตลาดที่ชื่นชอบคอนเทนท์ไทย” 

ปัจจุบันไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคกลุ่มซีแอลเอ็มวี จะมีกิจกรรมดูภาพยนตร์เป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตนอกบ้าน  โดยมี“หนังไทย” เป็นตัวเลือกแรกๆของผู้ชม  ดังนั้นในแง่ธุรกิจสร้างภาพยนตร์ไทยจึงมีโอกาสขยายตัวในตลาดนี้

เช่นเดียวกับกลยุทธ์มาร์เก็ตติ้ง ผ่านภาพยนตร์ ของสินค้าและแบรนด์ต่างๆ ที่จะใช้เป็นช่องทางการสื่อสารรูปแบบใหม่เข้าถึงผู้บริโภคซีแอลเอ็มวี ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น จากเศรษฐกิจในประเทศขยายตัวสูง

ทิศทางดังกล่าวเอ็ม39 จึงมองโอกาสต่อยอดการตลาด“ภาพยนตร์”ทั้งการสร้างหนัง ที่เป็นโปรดักท์เพื่อทำตลาดสร้างรายได้จากบ็อกซ์ ออฟฟิศ และการเป็นช่องทางสื่อสารแบรนด์ เจาะตลาดไทยและซีแอลเอ็มวี รวมทั้งโอกาสขายลิขสิทธิ์หนังไทยในประเทศอื่นๆ ทั่วโลก