"ดีอี"ยัน2บริษัทลูกทีโอที-กสทฯต้องเกิดพ.ย.นี้

"ดีอี"ยัน2บริษัทลูกทีโอที-กสทฯต้องเกิดพ.ย.นี้

รัฐมนตรีดีอีเข้มเอ็นบีเอ็น-เอ็นจีดีซีต้องพร้อมเดินหน้า 1 พ.ย.นี้ ยันแม้แย่งทรัพย์สินไม่เสร็จต้องรับงานจากบริษัทแม่ไปก่อน เชื่อทำให้อนาคตองค์กรผอมลง ทำธุรกิจคล่องตัวขึ้น ด้านสหภาพฯยังเดินหน้าค้านแยกบริษัท อ้างที่ผ่านมาไม่เคยได้คำตอบจากบอร์ดบริหาร

นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวถึงความคืบหน้าในการจัดตั้ง 2 บริษัทลูก ของบมจ.ทีโอที และบมจ.กสท โทรคมนาคม ได้แก่บริษัท โครงข่ายบรอดแบนด์แห่งชาติ (เอ็นบีเอ็น) และ บริษัท โครงข่ายระหว่างประเทศ และ ศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ต (เอ็นจีดีซี) ว่า ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ครั้งที่ 4/2560 เมื่อวันที่ 11 ต.ค.2560 ที่ผ่านนั้น ที่ประชุมมีมติให้ทั้ง 2 บริษัทลูกดังกล่าวต้องสามารถเปิดให้บริการได้ในวันที่ 1 พ.ย. 2560 แต่บริษัทแม่ทั้ง 2 ยังไม่สามารถสรุปมูลค่าทรัพย์สินที่จะโอนให้บริษัทลูกได้ ดังนั้น บริษัทแม่ต้องทำหน้าที่จ้าง 2 บริษัทใหม่นี้ให้ดำเนินงานไปพลางก่อน จนกว่าจะหาข้อสรุปของมูลค่าทรัพย์สินได้ (แฟร์ แวลู) โดยจะคำนวณตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.2560 - 31 มี.ค. 2561 เท่านั้น เพราะในวันที่ 1 เม.ย. 2561 บริษัทลูกทั้ง 2 ต้องแยกตัวออกมาอย่างชัดเจน และดำเนินธุรกิจด้วยตนเอง

ทั้งนี้ กระทรวงดีอีมีหน้าที่ผลักดันให้ทั้ง 2 บริษัทลูกเกิดขึ้นตามนโยบายของ คนร. ถามว่าหากรัฐบาลใหม่เข้ามาแล้วไม่ต้องการเดินตามนโยบายนี้ จะล้มเลิกแนวคิดการตั้งบริษัทลูก พนักงานที่ย้ายออกไปอยู่บริษัทใหม่จะทำอย่างไรนั้น รัฐมนตรีดีอี ยืนยันว่า ขณะนี้มีนโยบายแบบนี้ ก็จำเป็นต้องเดินหน้าให้ดีที่สุด เพราะเป็นเรื่องที่ดำเนินการมาแล้ว ส่วนรัฐบาลใหม่จะถอยหลังหรือไม่ อย่างไร ไม่สามารถให้คำตอบได้ แต่หากมองถึงข้อดีนโยบายนี้จะทำให้บริษัทแม่ผอมลง อาจทำให้การทำงานของบริษัทแม่คล่องตัวขึ้นก็ได้

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทั้ง 2 บริษัทลูกได้เข้าสู่กระบวนการรับสมัครพนักงานแล้ว โดยเอ็นบีเอ็นจะมีพนักงานทั้งที่มาจากทีโอทีและกสทฯทั้งหมด 1,200 อัตรา โดยทีโอที เป็นผู้ดูแลหลัก ขณะที่เอ็นจีดีซี จะต้องมีพนักงานทั้งที่มาจาก ทีโอที และ กสทฯ จำนวน 479 อัตรา โดยมี กสทฯเป็นผู้ดูแลหลัก

ขณะที่ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจกสทฯ ยังคงเดินหน้าคัดค้านการแยกทรัพย์สินไปอยู่ที่บริษัทลูก โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 17 ต.ค.ที่ผ่านมา นายสังวรณ์ พุ่มเทียน ประธานสหภาพฯได้ยื่นหนังสือขอทราบแนวทางการดำเนินงานของกสทฯ ต่อประธานบอร์ด โดยระบุว่า การแบ่งแยกทรัพย์สินโครงข่ายโทรคมนาคมซึ่งเป็นบริการหลักของกสทฯออกไปให้เอ็นจีดีซี จะทำให้บริษัทแม่เกิดความเสียหาย ดังนั้น ผู้บริหารควรมีคำตอบถึงแนวทางในการดำเนินธุรกิจที่ต้องปรับเปลี่ยนภายในเร็วๆนี้ด้วย ภายใน 15 วัน นับจากวันที่ได้รับหนังสือด้วย

ทั้งนี้ สหภาพฯ ขอทราบข้อเท็จจริง 8 ข้อ ได้แก่ 1.การแยกทรัพย์สินโครงข่ายดังกล่าวเกิดขึ้นจากการนำเสนอของกสทฯเอง หรือ เป็นนโยบายนำเสนอของใคร 2.กสทฯ มีการวิเคราะห์ผลกระทบต่อการดำเนินงานของบริษัทหลังจากแยกทรัพย์สินโครงข่ายออกไปหรือไม่ และมีแผนปรับเปลี่ยน หรือ แผนรองรับธุรกิจอย่างไร 3.ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผู้ใช้บริการจะมีอะไรบ้าง และจะมีการดำเนินการอย่างไร 4.พนักงานยังมีความกังวลที่ไม่มีข้อมูลชัดเจน จึงสงสัยว่า การแยกทรัพย์สินที่เป็นโครงข่ายซึ่งเป็นบริการหลัก ออกไปจัดตั้งบริษัทลูก ไม่เกิดประโยชน์ต่อการดำเนินธุรกิจของ กสทฯ และหากเกิดปัญหาภายหลัง ใครจะรับผิดชอบ

5.ผลประโยชน์ทีกสทฯจะได้รับจากการจัดตั้งบริษัทลูก หริอ บริษัทร่วมทุน เป็นอย่างไร 6.ขอทราบความชัดเจนของแผนธุรกิจบริษัทลูกทั้ง 2 ว่า หากผลประกอบการขาดทุน หรือต้องการเพิ่มทุนจะมีแผนให้เอกชนเข้าร่วมทุนหรือไม่ 7.แผนการถ่ายโอนทรัพย์สิน ขัดต่อกฎหมายหรือไม่ และแผนโอนย้ายพนักงาน จะส่งผลต่อสภาพการจ้างของพนักงานหรือไม่อย่างไร และ 8.สิทธิของพนักงานการสื่อสารแห่งประเทศไทย ก่อนการแปลงสภาพ ในการจัดสรรหุ้นให้พนักงานกสทฯ ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 8 ก.ค. 2546 จะมีผลกระทบ

แจงความคืบหน้าเน็ตประชารัฐ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้ทีโอทีได้รายงานการติดตั้งอุปกรณ์โครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม (เน็ตประชารัฐ) ให้แก่กระทรวงดีอี รับทราบโดยรายละเอียดอุปกรณ์โครงการเน็ตประชารัฐ เดือนพ.ค. – ส.ค. ทีโอที ได้ดำเนินการติดตั้งบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง พร้อมเปิดให้บริการอินเทอร์เน็ตแบบไร้สายกับหมู่บ้านเป้าหมายแล้ว ณ วันที่ 30 ก.ย. 2560 เป็นจำนวน 18,817 หมู่บ้าน ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายในแผนการดำเนินงานที่กำหนดไว้ในเดือนก.ย.ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จ จำนวน 14,099 หมู่บ้าน

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา ทีโอที ได้ดำเนินการส่งข้อมูลรายละเอียดรายการอุปกรณ์ของหมู่บ้านที่ติดตั้งแล้วเสร็จในแต่ละงวดให้กับกระทรวงดีอี สำหรับตรวจสอบและยืนยันความถูกต้อง เพื่อนำข้อมูลไปดำเนินการบันทึกเข้าระบบของกรมบัญชีกลางต่อไป พร้อมกันนี้ ยังต้องหารือกับกรมบัญชีกลาง 2 เรื่อง คือ 1.รูปแบบของข้อมูลรายละเอียดอุปกรณ์ที่ทีโอที ดำเนินการนำส่งกระทรวงดีอีเป็นรูปแบบที่สามารถใช้ในการเข้าระบบของกรมบัญชีกลางหรือไม่ 2.การบันทึกข้อมูลสายไฟเบอร์ออพติกเข้าระบบจะต้องบันทึกจะต้องใช้หน่วยใดเป็นต้น