‘ซิท-ทู-สแตนด์’ โมเดลตอบสุขภาพสูงวัย

‘ซิท-ทู-สแตนด์’ โมเดลตอบสุขภาพสูงวัย

“ซิท-ทู-สแตนด์” เครื่องออกกำลังกายสำหรับผู้สูงอายุ เป็นสิ่งประดิษฐ์ตอบโจทย์สังคมสูงวัย หวังผลักดันสู่ศูนย์สุขภาพชุมชนทั่วประเทศผ่านกลไกสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐในรูปแบบโมเดลธุรกิจเพื่อสังคม

“ซิท-ทู-สแตนด์” เครื่องออกกำลังกายสำหรับผู้สูงอายุ เป็นสิ่งประดิษฐ์ตอบโจทย์สังคมสูงวัย หวังผลักดันสู่ศูนย์สุขภาพชุมชนทั่วประเทศผ่านกลไกสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐในรูปแบบโมเดลธุรกิจเพื่อสังคม


ทีมงานใช้เวลากว่า 2 ปีพัฒนาเครื่องซิท-ทู-สแตนด์ ได้รับ 5 รางวัลจาก 3 เวทีประกวดนวัตกรรมระดับนานาชาติ พร้อมทั้งจดอนุสิทธิบัตรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว มีต้นทุนการผลิต 7 หมื่นบาท คาดว่าเมื่อผลิตในเชิงพาณิชย์และปรับเปลี่ยนวัสดุบางชนิดจะทำให้ราคาถูกลง 50% ถูกกว่าเครื่องออกกำลังกายสำหรับผู้สูงอายุในตลาดถึง 3 เท่า


ตอบโจทย์สังคมสูงวัย


เครื่องออกกำลังกายสำหรับบุคคลทั่วไปนั้น จะเป็นหลักการใช้ “แรงต้าน” เพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อ แต่ในทางกลับกัน เครื่องออกกำลังกายของผู้สูงอายุจะต้องใช้ “แรงเสริม” เพื่อช่วยเหลือให้สามารถเคลื่อนไหวได้ และในปัจจุบัน เครื่องออกกำลังกายสำหรับผู้สูงอายุที่มีอยู่ในท้องตลาด และในศูนย์สุขภาพต่างๆ มีการใช้งานที่ลำบากและสามารถทำให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้งานได้ หากใช้งานไม่ถูกวิธี
สายรัก สอาดไพร นักศึกษาปริญญาเอก สาขาวิศวกรรมการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) และทีมงาน มีแนวคิดการพัฒนาเครื่องออกกำลังกาย ลุก-นั่ง ที่ผู้สูงอายุสามารถใช้ออกกำลังกายได้ด้วยตนเอง เพียงปรับระดับเก้าอี้และแรงเสริมให้เหมาะกับผู้ใช้ จากนั้นจึงทำการฝึกลุก-นั่งอย่างสม่ำเสมอ 10-15 ครั้งต่อวัน


สิ่งประดิษฐ์นี้ประกอบด้วยการทำงานร่วมกันของ 3 ระบบ ได้แก่ 1. ระบบพยุงน้ำหนัก ด้วยการเสริมแรงบริเวณเบาะนั่งเพื่อลดการออกแรงของผู้สูงอายุ ประกอบกับ การดันลำตัวผู้สูงอายุให้ลุกยืนได้ง่ายขึ้น 2. ระบบป้องกันเข่าทรุด ผ่านการติดตั้งสปริงเพื่อลดแรงกระแทกบริเวณข้อและเข่า ซึ่งจะช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถลุก-นั่งได้อย่างปลอดภัย และ 3. ระบบวิเคราะห์สมดุลการทรงตัว ใช้ระบบการประเมินผลการเคลื่อนไหวเพื่อให้สามารถลุก-นั่งได้ถูกต้องตามหลักชีวกลศาสตร์


“กล้ามเนื้อผู้สูงอายุลดถอยลงทุกปีกล้ามเนื้อจะลดลง หรือเฉลี่ย 1-3% ต่อปี ปัญหาที่ตามมาคือ การทรงตัวยืนได้ไม่ดีและมีโอกาสล้มมากกว่าคนปกติ ไม่สามารถทำกิจกรรมต่างๆ ขณะที่วิธีแก้ปัญหาดีที่สุดคือ การออกกำลังกายที่ช่วยฟื้นฟูและคงสภาพกล้ามเนื้อข้อต่อ และช่วยเสริมสร้างสมรรถภาพร่างกายให้ดีขึ้นได้มาก” สายรัก กล่าว


แต่ผู้สูงอายุจะต้องเดินทางไปออกกำลังกายหรือกายภาพตามคลินิกกายภาพบำบัด โรงพยาบาล หรือแม้แต่สถานที่ออกกำลังกายก็ไม่ตอบโจทย์ููุ้ ส่วนหนึ่งเกิดจากอุปกรณ์ที่มีอยู่เหมาะสำหรับหนุ่มสาวที่แข็งแรงเพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อในรูปแบบของเวทเทรนนิ่ง หรือเครื่องมือที่ใช้กายภาพบำบัดมักจะเป็นเครื่องใช้ลุกยืน ซึ่งใช้งานยากต้องใส่สลิง มีเจ้าหน้าที่ช่วยจับพยุง ไม่สามารถออกกำลังกายเองได้ จึงเป็นที่มาของเครื่องออกกำลังกาย ลุก-นั่ง สำหรับผู้สูงอายุ หรือ“ซิท-ทู-สแตนด์”


ธุรกิจนวัตกรรมเพื่อสังคม


“ซิท-ทู-สแตนด์” มีจุดเด่นคือ ผู้สูงอายุสามารถใช้ออกกำลังกายได้เองและทำได้ทุกวัน เป็นเสมือนตัวช่วยนักกายภาพบำบัด เริ่มจากการปรับความสูงของเก้าอี้และแรงเสริมที่จะช่วยดันตัวขึ้น จากนั้นรัดเข็มขัดบริเวณเอว และออกกำลังกายโดยการลุก-นั่ง ใน 3 รูปแบบแล้วแต่ความเหมาะสม คือ แบบยืนสองขาพร้อมจับราวเพื่อฝึกกล้ามเนื้อแขน แบบยืนขาเดียว และยืนกอดอกโดยที่ไม่จับราว เพื่อฝึกกล้ามเนื้อเฉพาะขา โดยสามารถออกกำลังกายลุก-นั่ง 10-15 ครั้งต่อเซ็ต


ในกรณีที่ผู้สูงอายุใช้เวลาลุก-นั่งนานกว่าปกติ อาจเสี่ยงต่อการล้มขณะก้าวเดิน จึงควรฝึกลุก-นั่งอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ เพื่อกระตุ้นระบบประสาทและการทำงานของกล้ามเนื้อบริเวณข้อ เข่าและขา ให้แข็งแรงมากขึ้นล่าสุด ทีมนักวิจัยเตรียมทดสอบใช้งานจริงภายในศูนย์ผู้สูงอายุท่าโขลง จ.ปทุมธานี 100 คน เป็นเวลา 3 เดือน เพื่อเปรียบเทียบความแข็งแรงของกล้ามเนื้อผู้ป่วย ระหว่างก่อนและหลังการทดสอบ โดยระหว่างนี้จะเร่งพัฒนาตัวเครื่องให้มีรูปแบบที่สวยงาม และพร้อมจำหน่ายเชิงพาณิชย์ในปลายปีนี้ พร้อมๆ ไปกับนำเสนอภาครัฐเพื่อขยายโอกาสให้ผู้สูงอายุทั่วประเทศมีโอกาสในการเข้าถึงอุปกรณ์ฟื้นฟู รักษาและยกระดับคุณภาพชีวิต


กลุ่มเป้าหมายคือ ผู้สูงอายุอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ผู้ป่วยกล้ามเนื้ออ่อนแรง อัมพฤตหรืออัมพาต ผ่าข้อสะโพก ข้อเข่า ข้อเท้าที่ต้องการกายภาพในการลุกยืน กลุ่มนี้ต้องการเสริมสร้างกล้ามเนื้อให้คงสภาพ ซึ่งหลักการออกกำลังกายจะเน้นที่ท่าออกกำลังกายเป็นหลัก ถ้าเป็นผู้ป่วยที่เพิ่งผ่าตัดอาจจะต้องมีการจับพยุง หรือปรับแรงเพื่อลดแรงกระแทกและเพิ่มความปลอดภัย


“เราสามารถปรับเปลี่ยนวัสดุใหม่ให้ต้นทุนการผลิตลดลง จึงสามารถออกสู่ชุมชนได้จริง ไม่ใช่จบอยู่ที่แค่ต้นแบบหรือเวทีประกวด ล่าสุดได้นำเสนอกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เพื่อให้การสนับสนุนนำไปให้ผู้สูงวัยตามชุมชนมีโอกาสได้ใช้ออกกำลังกายในอนาคต” สายรัก กล่าว