ตั้ง 'กบพ.' คุมกลุ่มจังหวัด6ภาค หวังแก้ขรก.ทำงานอืด

ตั้ง 'กบพ.' คุมกลุ่มจังหวัด6ภาค หวังแก้ขรก.ทำงานอืด

ตั้ง "คกก." อีกแล้ว!! "ประยุทธ์" เคาะโต๊ะตั้งกรรมการ "กบพ." คุมกลุ่มจังหวัด6ภาค เร่งทำงาน "กนจ." หวังแก้ขรก.ทำงานอืด ย้ำรัฐบาล-คสช. มีแนวทางร่วมกัน บริหารราชการแผ่นดินให้เกิดความเข้มแข็ง

เมื่อเวลา 09.15 น. วันที่ 19 ตุลาคม ที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ หรือ ก.น.จ. โดยกล่าวก่อนการประชุมว่า รัฐบาล และ คสช. มีแนวทางร่วมกัน ในการบริหารจัดการราชการแผ่นดินให้ระดับภาคเกิดความเข้มแข็ง โดยอยากให้ทุกอย่างเดินหน้าอย่างรวดเร็วขึ้นกว่าเดิมจากที่วางแผนไว้ จึงต้องมีการนำร่องในทางปฏิบัติ ตั้งแต่ปีงบประมาณนี้เป็นต้นไป ส่วนกฎหมายที่เกี่ยวข้องก็จะพิจารณาอีกครั้ง เพราะหวังอยากให้ทุกอย่างเดินหน้าได้ตั้งแต่วันนี้ หากปล่อยเวลาล่วงเลยไป การแก้ไขปัญหาก็จะช้าลง ซึ่งแต่ละภาคต้องทำให้จังหวัด มีความพร้อมพื้นฐานใกล้เคียงกัน รวมถึงสร้างความเชื่อมโยงระหว่างกัน ด้วยการกำหนดแผนพัฒนาในแต่ละพื้นที่ โดยไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน และ แบ่งเป็นกลุ่มงานเพื่อสนับสนุนขีดความสามารถในการแข่งขัน สู่ความมั่นคงในระดับภูมิภาค พร้อมย้ำการปฏิบัติ ในเชิงบริหารต้องเกิดขึ้นให้เร็วที่สุด

นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ ก.พ. แถลงภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมได้พิจารณาการใช้อำนาจในมาตรา 4 วรรค 1 พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ 2551 โดยจะต้องปรับระบบการทำงานของกนจ.เดิม จึงเห็นควรให้มีการแก้ไขพ.ร.ฎ.ดังกล่าวในบางประเด็น พร้อมเห็นชอบให้ตั้งคณะกรรมการบูรณาการการบริหารงานในเชิงพื้นที่ หรือ กบพ. ทำงานเป็นซุปเปอร์บอร์ด ซึ่งการทำงานจะมีความกระชับ แก้ไขปัญหาการทำงานในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ครอบคลุมการแบ่งพื้นที่ประเทศไทยเป็น 6 ภาค โดยจะดูแลการทำงานของกนจ. ซึ่งจะเสนอต่อที่ประชุมครม.อนุมัติแต่งตั้งอีกครั้ง

"นายกฯได้ให้แนวทางบริหารงบประมาณไว้ว่า ในระดับจังหวัดและกลุ่มจังหวัดต้องสามารถนำเสนอการของบประมาณขึ้นมาเพื่อให้ส่วนบนอนุมัติได้" นายทศพร กล่าว

นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า นอกจากนี้คณะกรรมการกบพ. ยังมีหน้าที่จัดทำยุทธศาสตร์ภาค โดยดูถึงแนวทางการขับเคลื่อนที่สำคัญ พร้อมส่งเสริมยุทธศาสตร์ชาติซึ่งต้องมีความเชื่อมโยง เช่น โครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้าน การท่องเที่ยว ฐานการผลิต เป็นต้น พร้อมติดตามการขับเคลื่อนการดำเนินการต่างๆ