แสงแห่งพระบารมี ที่ 'แม่กำปอง'

แสงแห่งพระบารมี ที่ 'แม่กำปอง'

วันนี้ใครหลายคนอาจรู้จักแม่กำปองในมิติของการท่องเที่ยว แต่ครั้งหนึ่งในอดีตเมื่อหมู่บ้านแห่งนี้ยังทุรกันดาร ในหลวงรัชกาลที่ 9 คือแสงสว่างที่ส่องทางชีวิตคนที่นี่

...ทางสายนั้นลัดเลาะผ่านป่าเขา ขรุขระและยากลำบากเกินกว่าจะเรียกว่าถนน มันสิ้นสุดลง ณ หมู่บ้านแห่งหนึ่งซึ่งไม่มีสาธารณูปโภคใดๆ

            ทว่า วันหนึ่งในปีพุทธศักราช 2524 อย่างที่ไม่เคยมีใครคาดฝันมาก่อน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินมายังหมู่บ้านแม่กำปอง อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ พื้นที่สีชมพูที่ถูกทิ้งไว้หลังเขา

            “พื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่สีชมพู ตอนนั้นเขายังยิงกันอยู่เลย รบกันกับคอมมิวนิสต์ หน่วยงานราชการต่างๆ ไม่ค่อยเข้ามา แล้วการคมนาคมลำบากมาก แต่พระองค์ท่านก็เสด็จฯ มาทรงงาน มาติดตามงานโครงการหลวงตีนตก แล้วก็เสด็จฯ ไปเยี่ยมเยียนราษฎรที่แม่กำปอง” ไทยรัฐ สิทธิพานิช หัวหน้าศูนย์พัฒนาโครงการหลวงตีนตก ย้อนอดีตที่ไม่อาจลืมเลือน

 

  • ปฐมบทโครงการหลวงตีนตก

            แม้จะเป็นหมู่บ้านที่เกือบจะตัดขาดจากโลกภายนอก แต่ไม่เคยรอดพ้นสายพระเนตรของในหลวงรัชกาลที่ 9 พระองค์ทรงรับรู้ถึงความยากลำบากของชาวบ้าน และทรงตระหนักถึงความสำคัญของการเป็นพื้นที่ต้นน้ำ จึงพระราชทานแนวพระราชดำริที่จะให้ชาวบ้านทั้งที่หมู่บ้านแม่กำปองและใกล้เคียงมีอาชีพมีรายได้ที่เพียงพอสำหรับการดำเนินชีวิตโดยไม่บุกรุกทำลายป่า พระองค์พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน 3 แสนบาท เพื่อก่อตั้งศูนย์พัฒนาโครงการหลวงป่าเมี่ยงและตีนตก โดยมีหม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี เป็นองค์ประธาน ทำงานสนองพระราชดำริในเวลานั้น

            “อาชีพดั้งเดิมของคนที่นี่คือการปลูกเมี่ยงซึ่งเป็นชาอัสสัมชนิดหนึ่งที่คนทางภาคเหนือนิยมกินกัน แต่ตอนหลังคนนิยมกินเมี่ยงน้อยลง ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่เริ่มไม่ค่อยดีขึ้น เพราะว่าเมี่ยงคือพืชเศรษฐกิจตัวหนึ่ง เขาก็เลยไปทำอาชีพอื่น เช่น หาของป่า ตัดไม้ ปลูกข้าวไร่ หรือปลูกพืชที่มันไม่เหมาะสมกับพื้นที่ ทำให้ทำลายสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นทรัพยากรแหล่งต้นน้ำที่หล่อเลี้ยงไปสู่คนในเชียงใหม่ ลำพูน เมื่อในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จฯ ขึ้นมา ทรงมีพระราชดำรัสว่า ป่าต้นน้ำนั้นมีอาชีพอะไรที่จะไปช่วยให้ชาวบ้านสามารถมีอาชีพและรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืน สามารถอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมได้โดยไม่ต้องไปบุกรุกทำลาย” ไทยรัฐ เล่าถึงความเป็นมา

            ก่อนหน้านั้นโครงการหลวงตีนตกเคยมีการทดลองวิจัยเรื่องการเพาะเห็ดหอมบนท่อนไม้ เนื่องจากเห็นว่าคนที่นี่ใช้ไม้ก่อเพื่อไปทำฟืนนึ่งเมี่ยง จึงหาวิธีใช้ประโยชน์จากไม้ก่อนนำไปทำเป็นฟืน ปรากฏว่าเชื้อเห็ดหอมเจริญเติบโตได้ดีมาก ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการส่งเสริมให้ชาวบ้านเพาะเห็ดหอมจากท่อนไม้

            “หลังจากนั้นก็มีพืชอีกชนิดหนึ่งคือ กาแฟ เราให้ชาวบ้านปลูกร่วมกับต้นเมี่ยงที่มีอยู่เดิม ไม่ต้องตัดต้นไม้ ปรากฏว่ากาแฟเจริญเติบโตได้ดีมาก แต่เวลานั้นยังขาดงานวิจัย งานทดสอบ เพราะว่ากาแฟถือว่าเป็นพืชใหม่ที่แม้แต่นักวิชาการของโครงการหลวงเองก็ยังไม่ค่อยรู้ว่าจะต้องทำอะไรอย่างไร”

            ด้วยความมุ่งมั่นและตั้งใจที่จะถวายงานแด่พระองค์ท่าน ทั้งเจ้าหน้าที่และชาวบ้านต่างเรียนรู้และช่วยกันแก้ไขปัญหาต่างๆ จนในที่สุดกาแฟก็ผลิดอกงอกงาม ณ พื้นที่แห่งนี้

            “ในหลักการที่ผมทำงานกัน ทำอย่างไรให้คนที่นี่มีรายได้ มีอาชีพที่มั่นคงและยั่งยืนโดยไม่ไปใช้ทรัพยากร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของน้ำ ที่ดิน ป่าไม้ ให้เขามีอาชีพมีรายได้ให้เหมาะสมกับพื้นที่ เรามีโจทย์ตรงนี้ ก็คิดหาพืชที่มันค่อนข้างจะเหมาะ ปรากฏว่าพืชที่เราเริ่มนำเข้ามาคือกาแฟ สุดท้ายที่นี่ถือเป็นแหล่งปลูกกาแฟค่อนข้างแหล่งใหญ่ของโครงการหลวงเลย ปีหนึ่ง 100 กว่าตัน”

            แน่นอนว่าสิ่งที่เป็นมากกว่าค่าตอบแทน คือความภาคภูมิใจที่ได้เดินตามรอยพระบาท ซึ่งสำหรับชาวโครงการหลวงตีนตกตั้งแต่ครั้งอดีต สิ่งที่เล่าขานกันไม่รู้จบคือวันที่พระองค์เสด็จฯมาทรงงาน

            “วันนั้นพระองค์ท่านเสด็จฯไปโรงเพาะเห็ดที่ทางโครงการหลวงทำ แล้วก็ไปยังแปลงกาแฟ ถามคนเฒ่าคนแก่ ซึ่งก็จะมีราษฎรในตำบลห้วยแก้วมาเข้าเฝ้ารับเสด็จเต็มเลย แล้วท่านก็ประทับเสวยพระกระยาหารใกล้ๆ ต้นมะม่วง ก่อนจะขึ้นไปเยี่ยมเยียนราษฎรบ้านแม่กำปอง” แม้จะเป็นการฟังคำบอกเล่าของคนรุ่นก่อนมาอีกที แต่หัวหน้าศูนย์พัฒนาโครงการหลวงตีนตกคนปัจจุบัน ก็ถ่ายทอดด้วยความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อคนทำงานและประชาชนในพื้นที่ และยังปวารณาว่าจะสานต่อพระราชปณิธานของพระองค์ให้ถึงที่สุด

            “จนถึงวันนี้ผมรู้สึกภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งในการสานต่อพระราชปณิธานให้โครงการหลวงที่พระองค์ท่านเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งขึ้นมาได้ประสบความสำเร็จ วันนี้ถือว่าศูนย์พัฒนาโครงการหลวงตีนตกของเราที่พระองค์ทรงให้แนวทางว่าการพัฒนามีอยู่ 3 มิติ คือ สังคม สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ ถือว่าค่อนข้างที่จะสมบูรณ์แบบ เพราะว่าเราได้ตามรอยพระบาทของพระองค์ท่าน ก็รู้สึกดีที่ได้มาทำงานโครงการหลวง รู้สึกภูมิใจเป็นอย่างยิ่งครับ”

 

  • พระมหากรุณาธฺคุณปกแผ่‘แม่กำปอง’

            บนเส้นทางเดิมที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เคยเสด็จฯเยี่ยมเยียนราษฎร เมื่อปี พ.ศ.2524 เวลานี้ปูลาดด้วยคอนกรีตราบเรียบ สองข้างทางคึกคักไปด้วยนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเที่ยวชมหมู่บ้านเล็กๆ กลางหุบเขา

            ธีรเมศว์ ขจรรัตนภิรมย์ อดีตพ่อหลวง หรือผู้ใหญ่บ้านแม่กำปองตั้งแต่ปี พ.ศ.2539-2555  เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนขึ้นที่นี่ และเป็นอีกคนหนึ่งที่มีโอกาสรับเสด็จฯ เมื่อ 36 ปีที่แล้ว

            “ตอนนั้นผมอายุ 28 ปี เป็นชาวบ้านธรรมดา เก็บเมี่ยงเก็บอะไรไป พอรู้ข่าวว่าในหลวงรัชกาลที่ 9 จะเสด็จฯ มา ชาวบ้านนี่ดีใจมากเลยครับ ทุกคนไม่คาดคิดว่าพระองค์ท่านจะเสด็จฯ มาถึงหมู่บ้านได้ เนื่องจากหมู่บ้านของเราตอนนั้นอยู่ในพื้นที่ที่กันดาร การคมนาคมยังไม่สะดวก เพิ่งมีการตัดถนนเข้ามาได้ไม่กี่ปีเอง ตอนที่ในหลวงท่านจะเสด็จฯ สมัยนั้นจะมี รพช. มาเกลี่ยมาปรับให้ แต่ก็ไม่ได้ลาดยางอะไรเลย”

            แม้จะได้ยินได้ฟังเรื่องราวเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาบ้าง เคยเห็นชาวบ้านในท้องถิ่นอื่นๆ เข้าเฝ้ารับเสด็จฯ แต่พอถึงโอกาสของตนเอง พ่อหลวงบอกว่า...ก็ตื่นเต้นมากเหมือนกัน

            “จริงๆ เจ้าหน้าที่ก็บอกว่าไม่ต้องใช้ราชาศัพท์อะไร พูดปกติธรรมดา แต่สิ่งที่จะต้องเตรียมก็คือ จะต้องนั่งเป็นแถวเป็นแนว ปูเสื่อปูอะไรต่างๆ ที่จะให้ทางพระองค์ท่านได้เดิน ได้นั่ง โดยเฉพาะพระราชินี วันนั้นท่านทรงนั่งเลยนะครับ แล้วเราชาวบ้านก็นั่งเป็นสองข้างสองแถว”

            พ่อหลวงย้อนความทรงจำ เวลานั้นพระอาทิตย์เกือบตรงหัว ชาวบ้านทั้งผู้เฒ่าผู้แก่ลูกเด็กเล็กแดงในมือถือธงชาติมานั่งรอด้วยใจจดจ่อ เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯมาถึง ทรงเข้าไปในโบสถ์วัดคันธาพฤกษา (วัดแม่กำปอง) เพื่อถวายสังฆทานเป็นอันดับแรก จากนั้นพระองค์มีพระราชปฏิสันถารกับท่านพระครู ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสของวัดแห่งนี้

            “ทรงถามท่านพระครูว่าชาวบ้านต้องการอะไร ท่านพระครูก็บอกว่าชาวบ้านต้องการไฟฟ้า พระองค์ก็ถามว่าทำไมชาวบ้านต้องการไฟฟ้า ท่านพระครูก็บอกว่าเนื่องจากชาวบ้านมีอาชีพเกี่ยวกับการทำเมี่ยง กลางวันต้องไปเก็บทั้งวัน แล้วกลางคืนหลังจากนึ่งแล้วต้องมานั่งมัดเมี่ยง จึงต้องการแสงสว่างในการทำงานกลางคืน

            พระองค์ท่านก็บอกว่าที่นี่มีความอุดมสมบูรณ์อยู่แล้ว มีธรรมชาติ มีป่า มีน้ำดี น้ำเนี่ยสามารถนำมาผลิตไฟฟ้าใช้กันได้ ก็เหมือนกับว่าพระองค์ท่านทรงจุดประกายเรื่องของแสงสว่างให้เกิดขึ้นในหมู่บ้าน เป็นเหมือนการพระราชทานแนวคิดให้ หลังจากนั้นทั้งท่านพระครูแล้วก็กรรมการหมู่บ้าน พยายามที่จะศึกษาดูว่าไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานน้ำ มันสว่างจริงมั้ย ก็เลยไปดูงานที่แม่วาง มอบหมายให้กรรมการ 7-8 คน ไปกับท่านพระครู ไปดูแล้วก็กลับมาคุยกันว่าสว่างจริงเหมือนภูมิภาค ก็เลยเป็นที่มาของไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังน้ำ เราทำเรื่องทำโครงการเสนอไปที่สำนักงานพลังงานแห่งชาติสมัยนั้น ปัจจุบันคือกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งก็ได้รับการตอบรับอย่างดี”

            ไม่นาน โครงการพัฒนาพลังน้ำหมู่บ้านชนบท จังหวัดเชียงใหม่ กรมพัฒนาพลังงานและพลังงานทดแทน (พพ.) กระทรวงพลังงาน ได้สนับสนุนงบประมาณ ร่วมกับเงินช่วยเหลือขององค์การสหประชาชาติ ในการจัดซื้อเครื่องกำเนิดไฟ และวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง ก่อตั้งโรงไฟฟ้าพลังน้ำหมู่บ้านแม่กำปองขึ้น โดยให้ชาวบ้านร่วมแรงร่วมใจและหาวัสดุในท้องถิ่นมาร่วมกันก่อสร้าง ตั้งแต่ฝายกั้นน้ำ ต่อท่อส่งน้ำเข้าเครื่องปั่นไฟ โดยตีมูลค่าแรงงานและวัสดุที่ชาวบ้านนำมามีส่วนร่วมให้เป็นหุ้นในสหกรณ์ เพื่อนำไปบริหารจัดการและจำหน่ายไฟฟ้าต่อไป

            นับตั้งแต่ปีพ.ศ.2526 หรือ 2 ปีหลังจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนิน ชาวบ้านแม่กำปองจึงมีไฟฟ้าใช้ตามแนวทางที่ได้พระราชทานไว้จนถึงปัจจุบัน

            ไม่เฉพาะแต่ถนนหนทาง และสาธารณูปโภคต่างๆ ที่ดีขึ้นตามลำดับ พระองค์ยังทรงมอบทางเลือกในการประกอบอาชีพให้กับชาวบ้านผ่านโครงการหลวงตีนตก นั่นคือ การเพาะเห็ดหอม และการปลูกต้นกาแฟ ซึ่ง กาแฟแม่กำปอง ไม่เพียงสร้างรายได้ให้กับชุมชนยังนำชื่อเสียงในฐานะแหล่งกาแฟดีมาให้อีกด้วย

            “กาแฟของเราถือว่าปลูกในพื้นที่ที่เหมาะสม ทั้งระดับความสูงและความชื้น เพราะว่าแม่กำปองสูงกว่าระดับน้ำทะเลเฉลี่ย 1,300 เมตรอยู่แล้ว ดังนั้นก็เหมาะที่จะปลูกกาแฟสายพันธุ์นี้พอดี”

ทุกวันนี้นอกจากส่งเมล็ดกาแฟให้โครงการหลวงแล้ว หมู่บ้านแม่กำปองยังมีผลิตภัณฑ์กาแฟหลากหลายชนิดที่เกิดจากน้ำพักน้ำแรงของคนในชุมชน เป็นผลิตผลแห่งความภาคภูมิใจอีกด้วย

 

  • ท่องเที่ยวแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง

            จากวันที่เคยเป็นหมู่บ้านนอกสายตา พัฒนามาจนเป็นหมู่บ้านที่เพียบพร้อมไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกเพราะพระบารมี ถึงวันนี้แม่กำปองกลายเป็นที่หมายตาของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ซึ่งจุดเริ่มต้นสำคัญเกิดจากแรงผลักดันของอดีตผู้นำอย่าง พ่อหลวงพรหมมินทร์ หรือ ธีรเมศว์ ขจรรัตนภิรมย์ ที่ต้องการสร้างความมั่นคงในการดำรงชีวิตให้กับชาวบ้านตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง

            “ช่วงที่ผมเป็นผู้ใหญ่บ้านตั้งแต่ปี 2539 ผมมองว่าจะต้องทำอย่างไรให้เกิดการพัฒนาหมู่บ้านขึ้นมาในทุกเรื่อง ตั้งแต่โครงสร้างพื้นฐาน ไปจนถึงบุคลากรในชุมชน แล้วผมก็มาคิดถึงต้นทุนก่อนว่าในการที่เราจะพัฒนาหมู่บ้าน ต้นทุนของเรามีอะไรบ้าง สิ่งที่เห็นอยู่ก็คือ หนึ่ง เรื่องของทรัพยากร ถ้าทางวิชาการก็บอกว่าทุนทางธรรมชาตินั่นเอง

            อันที่สองก็ดูว่ามันเป็นวิถีชีวิตที่มีความต่างอยู่ เราเป็นคนพื้นเมือง เป็นคนล้านนาทั้งหมดแต่มาอยู่บนเขา อาชีพก็ไม่เหมือนพี่น้องข้างล่าง ที่นี่ไม่มีไร่มีนาอะไรเลย ชีวิตผูกพันอยู่กับป่า คนพึ่งป่า ป่าพึ่งคน เกื้อกูลกัน แล้วถ้าไปเทียบกับพี่น้องชาติพันธุ์อื่นที่อยู่บนเขาเหมือนกันก็มีวิถีวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ผมก็คิดว่าอันนี้เป็นจุดเด่นอันหนึ่งของคนในแม่กำปอง แล้วมาบวกกับวัฒนธรรม การกินการอยู่ การพูดคุยอะไรต่างๆ ที่ยังยึดหลักของคนล้านนา

            ผมมองว่า 3 อย่างนี้เหมือนเป็นทุนในบ้านเรา ถ้าจะพัฒนาต่อยอดควรจะพัฒนายังไงดี ก็มองว่าน่าจะพัฒนาสู่การเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยว โดยเน้นคำว่า เชิงอนุรักษ์ เชิงนิเวศ เน้นการอนุรักษ์ทรัพยากร วิถีชีวิตและวัฒนธรรม เมื่อคิดได้อย่างนี้ ผมก็มาคิด มาคุย มาสร้างความเข้าใจกับคณะกรรมการหมู่บ้าน ซึ่งกรรมการหมู่บ้านก็เห็นด้วยแล้วก็สร้างความเข้าใจกับชุมชน”

            พ่อหลวงธีรเมศว์ บอกว่ากว่าจะเปิดตัวต้อนรับนักท่องเที่ยวอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2543 ชุมชนใช้เวลาในการเตรียมการถึง 4 ปีเต็ม โดยใช้กระบวนการวิจัยเป็นพื้นฐานในการทำงานร่วมกัน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น

            “เราพยายามนำสิ่งที่มีอยู่มาต่อยอดให้เกิดประโยชน์ หรือนำสิ่งที่มีคุณค่ามาพัฒนาให้เกิดเป็นมูลค่า เพื่อลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ให้คนชุมชน เพราะฉะนั้นการที่ผมนำทรัพยากรซึ่งเป็นทุนที่มีอยู่แล้ว วิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่มีอยู่แล้วมาต่อยอดในลักษณะของการท่องเที่ยว ก็ถือว่าทำให้เกิดในเรื่องของกิจกรรมและเรื่องของรายได้ตามมา แล้วก็เป็นรายได้ที่เพิ่มให้กับคนในชุมชน และแม้จะเป็นทุนที่เรามีอยู่ แต่ก็เป็นทุนที่นักท่องเที่ยวไม่สามารถนำติดตัวออกไปได้ นอกจากความประทับใจ ความรู้สึก ดังนั้นทุกวันนี้ถ้าชาวบ้านรู้จักดูแลรักษา สิ่งเหล่านี้จะอยู่กับเราอย่างยั่งยืนได้”

            โฮมสเตย์แม่กำปอง คือต้นแบบการจัดการท่องเที่ยวที่มีการกระจายหน้าที่ความรับผิดชอบและผลประโยชน์สู่สมาชิกในชุมชนอย่างแท้จริง และยังแตกหน่อต่อยอดไปสู่โครงการต่างๆ ที่สร้างหลักประกันในการดำเนินชีวิตอย่างผาสุก ณ หมู่บ้านแห่งนี้

            “ผมยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ ในฐานะผู้นำถ้าไม่ยึดเหตุผล ก็ไม่สามารถที่จะดูแลคนได้ เรื่องของความพอดี พอประมาณอะไรต่างๆ เราพยายามให้ชาวบ้านอยู่กันเหมือนพี่เหมือนน้อง ไม่เบียดเบียนกัน เรื่องของภูมิคุ้มกัน เราก็มาสร้างข้อตกลง กฎเกณฑ์ กติกาอะไรต่างๆ รวมไปจนถึงทุนในการประกอบอาชีพ ทุนในการออม กองทุนอันแรกที่ผมตั้งขึ้นมา นอกเหนือจากสหกรณ์ ก็มีกองทุนกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต ซึ่งอันนี้ถือเป็นหัวใจอันหนึ่งของเศรษฐกิจพอเพียงที่ผมนำมาปรับใช้ในชุมชน”

            “อย่างโฮมสเตย์ก็เหมือนกัน เราไม่ต้องไปสร้างบ้านใหม่ ไม่ต้องไปลงทุน ก็เอาทุนที่เรามีอยู่มาต่อยอดให้เกิดประโยชน์ ทำให้เกิดเป็นรายได้เข้ามา มันก็สอดคล้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หลังจากที่ทำมาแล้ว ในปี 2553 หมู่บ้านเราได้รับเกียรติสูงสุด ได้รับพระราชทานถ้วยรางวัลจากสมเด็จพระเทพฯ ในฐานะหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงสู่การอยู่เย็นเป็นสุข”

            จากวันนั้นจนถึงวันนี้ 17 ปีแล้วที่แม่กำปองประกาศตัวเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในระยะหลัง แต่ชาวบ้านก็พยายามอย่างยิ่งที่จะปรับตัวเพื่อรักษาจุดยืนของตนเอง และเพื่อสืบสานพระราชปณิธานของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ต้องการให้ชาวบ้านช่วยกันดูแลป่ารักษาต้นน้ำซึ่งเป็นฐานชีวิตที่สำคัญและเป็นรากฐานการพัฒนาอย่างยั่งยืน

 

+++

จะขอเดินตามรอยเท้าพ่อไป”

ไทยรัฐ สิทธิพานิช

หัวหน้าศูนย์พัฒนาโครงการหลวงตีนตก

            “เราถือว่าเราเป็นนักเกษตรของพระองค์ท่าน แม้ตอนนั้นที่พระองค์ท่านทรงเสด็จฯมา ผมยังเป็นเด็กอยู่ แต่การที่เราเรียนเกษตรมาก็ตั้งใจว่า สักวันหนึ่งอยากทำงานโครงการหลวง ทำงานถวาย ถึงแม้ไม่ได้ใกล้ชิดพระองค์ท่านก็จริง แต่ด้วยสำนึกของเราที่อยู่ภายใต้ชื่อว่าโครงการหลวงก็ถือว่าพระองค์ท่านเป็นเหนือหัว เป็นชีวิตจิตใจ…

            …ในฐานะที่ผมเป็นหัวหน้าที่นี่ ผมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์ท่านได้ทรงพระเมตตา ทรงได้เข้ามาส่งเสริมอาชีพให้กับราษฎร แล้วก็ราษฎรที่นี่เองก็มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งทุกคนมีความรัก มีความอาลัยต่อพระองค์ท่าน และรู้สึกเศร้าโศกเสียใจเป็นอย่างยิ่งเมื่อพระองค์สวรรคต หลังจากนี้ไปเราก็ตั้งปณิธานว่า จะทำความดี ช่วยเหลือชาวบ้าน โดยถือว่าเราปิดทองหลังพระ พวกผมเป็นนักเกษตรของพระองค์ท่าน เราจะไม่เอาอาชีพของเราไปหาผลประโยชน์ให้กับตัวเอง เราจะทำงานเหนื่อยให้เท่าที่พระองค์ท่านทำให้กับราษฎรทั่วประเทศ เราสำนึกและก็จะต้องทำงานให้ดีขึ้น”

 

พ่อหลวงธีรเมศว์ ขจรรัตนภิรมย์

อดีตพ่อหลวงบ้านแม่กำปอง

            “ไม่ว่าจะโดยส่วนตัวผม หรือคนทั้งชุมชน รู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านมาตลอด พระองค์ท่านเหมือนมาจุดประกายแสงสว่างให้เกิดขึ้นในชุมชน แล้วก็ยังตามมาในเรื่องของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่ผมเอามาขับเคลื่อนมาปรับใช้ จนทำให้ชาวบ้านเข้าใจในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง เข้าใจว่าจริงๆ แล้ว มันเป็นหลักธรรมที่จะสามารถนำชีวิตเราสู่ความสำเร็จได้ ก็ถือว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นพ้นเลย ที่ทำให้คนในชุมชนแม่กำปองได้มีชีวิตที่ดีขึ้น ได้เกิดการพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น…

            …เราจะไม่ลืม เราจะนึกถึงพระองค์ท่านตลอด ถึงแม้ว่าวันนี้ท่านจะเสด็จสู่สวรรคาลัยแล้ว แต่ว่าสิ่งที่ไม่จากเราไปก็คือคำสอนของท่าน หลักเศรษฐกิจพอเพียงของท่าน ที่เราจะต้องนำมายึดเป็นหลักปฏิบัติตลอดไป”