อาทิตย์อุทัยในรอยพระบาท

ประเทศญี่ปุ่นเป็นหมุดหมายหนึ่งที่ได้รับความนิยมในหมู่นักท่องเที่ยวชาวไทย แต่นอกเหนือจากความทันสมัย สภาพแวดล้อมและสถานที่ท่องเที่ยวอันน่าดึงดูดใจแล้ว กล่าวได้ว่า ราชวงศ์ไทยและราชวงศ์ญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นมาอย่างยาวนาน

ตั้งแต่ครั้งที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถได้เสด็จฯ เยือนประเทศญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 27 พ.ค. – 5 มิ.ย. พ.ศ. 2506 ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อเจริญสัมพันธไมตรี

ล่าสุด มีประกาศแจ้งอย่างเป็นทางการแล้วว่า เจ้าชายอากิชิโน รัชทายาทลำดับที่ 2 แห่งราชวงศ์ญี่ปุ่นและเจ้าหญิงคิโกะ พระชายา จะเสด็จพระราชดำเนินแทนสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตและสมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะ เพื่อทรงร่วมพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในวันที่ 26 ตุลาคม 2560 ณ พระเมรุมาศ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง 

ทั้งนี้ ภายหลังทรงทราบข่าวการสวรรคตของสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สมเด็จพระจักรพรรดิและสมเด็จพระจักรพรรดินีแห่งญี่ปุ่น ได้ทรงไว้อาลัยเป็นระยะเวลา 3 วันทันที พร้อมกันนั้นยังเสด็จฯ เยือนประเทศไทยด้วยพระองค์เอง เพื่อทรงเคารพพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ระหว่างวันที่ 5 – 6 มีนาคมที่ผ่านมา

ไม่เพียงแค่ราชวงศ์ญี่ปุ่น ทุกภาคส่วนของญี่ปุ่นยังร่วมแสดงความอาลัยต่อเหตุการณ์ครั้งนี้ โดยเฉพาะเมื่อพระสงฆ์ญี่ปุ่น 1,300 รูป และพุทธศาสนิกชนชาวญี่ปุ่นได้พร้อมใจประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ณ วัด Nenbutsushu จังหวัดเฮียวโกะ นับเป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงความสัมพันธ์ที่ดีของทั้ง 2 ประเทศอย่างแท้จริง

Tokyo Imperial Palace หรือ พระราชวังโตเกียวอิมพีเรียล เป็นหนึ่งสถานที่ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้เสด็จฯ เยือนในครั้งนั้น จากบันทึกในหนังสือเสด็จเยือนประเทศญี่ปุ่น ปี พ.ศ. 2506 โดยฝ่ายประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักพระราชวัง กล่าวว่า พระบาทสมเด็จปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงฉายพระบรมฉายาลักษณ์ร่วมกับ สมเด็จพระเจ้าจักรพรรดิฮิโรฮิโตและสมเด็จพระจักรพรรดินีนางาโกะ(ในขณะนั้น) ที่พระราชวังโตเกียวอิมพีเรียล กรุงโตเกียว ซึ่งเป็นที่ประทับของ สมเด็จพระจักรพรรดิแห่งญี่ปุ่นในปัจจุบัน

เดิมพระราชวังนี้เป็นที่ตั้งของปราสาทเอะโดะ ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของโชกุนตระกูลโทะกุงาวะ ผู้ครองญี่ปุ่นในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1603 - 1867 ภายหลังมีการย้ายเมืองหลวงจากเกียวโตมายังโตเกียว จึงได้สร้างพระราชวังแห่งนี้ขึ้นมาแทนปราสาทเอโดะ โดยได้รับการบูรณะขึ้นใหม่ในปี ค.ศ. 1964 เนื่องจากพระราชวังเดิมถูกระเบิดทำลายได้รับความเสียหายเป็นอย่างมากในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ปัจจุบันโดยรอบพระราชวังเป็นพื้นที่สวนขนาดใหญ่ ภายในประกอบด้วย พระตำหนัก (宮殿) ของพระราชวงศ์ พิพิธภัณฑ์ในพระองค์ และสำนักพระราชวัง โดยพื้นที่ทั้งหมดล้อมรอบด้วยคูเมืองและกำแพงหินสูงขนาดใหญ่มั่นคง

สะพาน Nijubashi และ สะพาน Meganebashi หรือที่มีชื่อเรียกว่า “สะพานแว่นตา” อันมีที่มาจากรูปร่างครึ่งวงกลมของสะพาน ซึ่งเมื่อเงาของสะพานสะท้อนน้ำจะกลายเป็นวงกลมเต็มวงคล้ายแว่นตาพอดี เป็นจุดไฮไลท์สำคัญของที่นี่ พระราชวังแห่งนี้มีอาณาเขตกว้างใหญ่พอสมควร มีบริเวณที่อนุญาตให้ประชาชนเดินเยี่ยมชมได้ และกั้นขอบเขตเฉพาะส่วนด้านในพระราชวังที่ปกติไม่เปิดให้คนทั่วไปเข้าชม ยกเว้นวันที่ 2 มกราคม และวันที่ 23 ธันวาคม ทางสำนักพระราชวังญี่ปุ่นจะเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าได้ อีกทั้งพระราชวงศ์ของญี่ปุ่นจะออกมาพบปะประชาชนบริเวณระเบียงของพระราชวังในวันดังกล่าว

การเดินทางมายัง Tokyo Imperial Palace สามารถเดินทางมาได้ด้วยรถไฟ ลงที่ สถานีรถไฟโตเกียว ใช้เวลาเดินมายังทางเข้าชมด้านหน้าพระราชวังประมาณ 10 นาที สถานีรถไฟโตเกียวเป็นสถานีเก่าแก่ จุดเด่นอยู่ที่ตัวอาคารก่อสร้างด้วยอิฐแดง ปัจจุบัน บริเวณชั้นใต้ดินของอาคารสถานีเป็นที่ตั้งของแหล่งชอปปิ้งและร้านอาหารมากมาย

นอกจาก Tokyo Imperial Palace ใจกลางกรุงโตเกียว แล้วครั้งนั้นในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้ประทับที่ เกฮินคัง (Geihinkan) หรือรู้จักในชื่อ Akasaka Palace (赤坂離宮) ณ เมืองเกียวโต เมืองหลวงเดิมของประเทศญี่ปุ่นอีกด้วย

ปราสาทแห่งนี้เป็นสถาปัตยกรรมรูปแบบ Neo-Baroque แห่งเดียวในญี่ปุ่น สร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยเมจิ เดิมสร้างเพื่อเป็นที่ประทับของมกุฎราชกุมาร ปัจจุบันใช้เพื่อเป็นที่พำนักของแขกบ้านแขกเมือง พระราชวังแห่งนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกแห่งชาติญี่ปุ่นในปี ค.ศ. 2009 ตั้งอยู่ในเขตมินาโตะ โตเกียว ซึ่งโดยปกติทางรัฐบาลญี่ปุ่นจะเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมเป็นช่วงเวลา โดยจำกัดจำนวนผู้เข้าชม โซนที่เปิดให้เข้าชมมีทั้งหมด 3 โซน ได้แก่ หนึ่งสวนด้านหน้า บริเวณที่มองเข้าไปเห็นตัวอาคารหลัก ส่วนนี้เปิดให้ชมได้ฟรีไม่ต้องมีการจองล่วงหน้า สองบริเวณอาคารหลักและสวนของอาคาร มีค่าเข้าชม1,000 เยน เปิดให้จองล่วงหน้า ควบคู่กับการจำกัดจำนวนผู้คนชมในแต่วันแบบใครมาก่อนมีสิทธิก่อน และสาม สวนและอาคารที่ตกแต่งสไตล์ญี่ปุ่น ค่าเข้าชม 1,500 เยนและต้องจองล่วงหน้าเท่านั้น โดยจะมีไกด์เป็นผู้บรรยายให้ความรู้ ทั้งนี้ Akasaka Palace เดินเท้าห่างจากสถานีรถไฟ Yotsuya เพียง 4 นาทีเท่านั้น

เป็นที่รู้กันว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงสนพระทัยเรื่องเทคโนโลยีและการสื่อสาร ด้วยเหตุนี้ พระราชกรณียกิจหลักจากการเสด็จฯ เยือนประเทศญี่ปุ่นในครั้งนั้น พระองค์ทรงทอดพระเนตรการดำเนินงานของอุตสาหกรรมในประเทศญี่ปุ่นซึ่งมีความโดดเด่นด้านเทคโนโลยี เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในประเทศไทย ดังที่ปวงชนชาวไทยได้ประจักษ์จากผลงานประดิษฐ์ และความคิดริเริ่มมากมายของพระองค์ 

อย่างไรก็ตาม ทั้งสองพระองค์ยังไม่ละเลยงานด้านศิลปวัฒนธรรม ด้วยทรงทอดพระเนตรกิจการโรงเรียนผลิตลูกไม้ เพื่อนำมาส่งเสริมอาชีพให้แก่ประชาชนชาวไทยในคราเดียวกัน นับเป็นการปูทางเพื่อสร้างสัมพันธไมตรีระหว่างไทยกับญี่ปุ่นมาอย่างยาวนาน นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นพ้นอันหาที่สุดมิได้