ไซเบอร์ ซิเคียวริตี้ หัวใจ ‘ความสำเร็จธุรกิจ’

ไซเบอร์ ซิเคียวริตี้ หัวใจ ‘ความสำเร็จธุรกิจ’

ข้อมูลโดย บริษัท เทรนด์ไมโคร อินคอร์ปอเรท ผู้ให้บริการโซลูชั่นรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ เผยว่า ภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่เข้าโจมตีภาคธุรกิจเป็นหนึ่งในอุปสรรคที่สร้างปัญหาให้กับการวางแผนด้านไอทีขององค์กร

จากรายงานความปลอดภัยชื่อว่า “เดอะ คอสท์ ออฟ คอมโพรไมซ์” (The Cost of Compromise) พบว่า องค์กรธุรกิจต่างกำลังเผชิญกับมัลแวร์เรียกค่าไถ่ หรือ แรนซัมแวร์ อีเมลหลอกลวงทางธุรกิจ (Business Email Compromise: BEC) การโจมตีระบบอินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ (Internet of Things: IoT) ทั้งยังต้องรับมือกับภัยคุกคามที่เป็นโฆษณาชวนเชื่อทางไซเบอร์ (Cyberpropaganda) อีกด้วย

สำหรับช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ เทรนด์ไมโคร ตรวจพบภัยคุกคามประเภทมัลแวร์เรียกค่าไถ่มากกว่า 82 ล้านรายการ ความพยายามของอีเมลหลอกลวงทางธุรกิจมากกว่า 3,000 รายการ 

“แม็กซ์ เฉิง” ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายสารสนเทศ (ซีไอโอ) บริษัท เทรนด์ไมโคร กล่าวว่า องค์กรต่างๆ จำเป็นต้องจัดลำดับความสำคัญของงบประมาณเพื่อให้การรักษาความปลอดภัยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากค่าเสียหายจากการละเมิดด้านความปลอดภัยนั้นมีจำนวนมากกว่างบประมาณที่บริษัทอาจรองรับได้

โดย จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องหันมาให้ความสำคัญกับการรักษาความปลอดภัยเป็นอันดับสูงสุด ขณะนี้แม้ว่าปริมาณการใช้จ่ายงบประมาณด้านไอทีในเรื่องการรักษาความปลอดภัยจะมีเปอร์เซ็นต์ที่เพิ่มสูงขึ้น แต่จากรายงานล่าสุดของบริษัท ฟอร์เรสเตอร์ พบว่างบประมาณดังกล่าวไม่ได้รับการจัดสรรอย่างเหมาะสม สอดคล้องไปกับภัยคุกคามที่ยังมุ่งโจมตีองค์กรธุรกิจทั่วโลก ขณะเดียวกันจำนวนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องไม่มีหยุด

ลงทุนลดเสี่ยง

เขากล่าวว่า ไซเบอร์ซิเคียวริตี้มีผลโดยตรงต่อความสำเร็จขององค์กร ธุรกิจควรหยุดคิดว่าการรักษาความปลอดภัยด้านดิจิทัลเป็นเพียงการป้องกันข้อมูลเท่านั้น เนื่องจากถือเป็นการลงทุนสำหรับอนาคตของบริษัท

ตัวอย่างความเสียหายเมื่อเดือนเม.ย.และมิ.ย.การโจมตีของมัลแวร์เรียกค่าไถ่ วอนนาคราย (WannaCry) และ เพตยา (Petya) ทำให้บริษัทนับพันแห่งในหลากหลายอุตสาหกรรมทั่วโลกต้องหยุดชะงัก คาดว่าการสูญเสียทั่วโลกจากการโจมตีดังกล่าว ซึ่งรวมถึงประสิทธิภาพการผลิตที่ลดลงและเกิดค่าใช้จ่ายด้านการควบคุมความเสียหาย อาจมีมูลค่าสูงถึง 4 พันล้านดอลลาร์

รายงานของสำนักงานสอบสวนกลาง หรือเอฟบีไอ ยังระบุด้วยว่าในช่วงครึ่งแรกของปี 2560 การหลอกลวง อีเมลทางธุรกิจ ยังก่อให้เกิดการสูญเสียทั่วโลกเป็นจำนวนถึง 5.3 พันล้านดอลลาร์

นอกจากนี้ เป็นไปตามการคาดการณ์ที่มีการโจมตีบนไอโอที การแพร่กระจายของโฆษณาชวนเชื่อทางไซเบอร์เพิ่มขึ้น มากกว่านั้นยังเป็นไปได้ที่หุ่นยนต์อุตสาหกรรมอาจถูกโจมตีและนำไปสู่ความเสียหายทางการเงินและความสูญเสียทางด้านประสิทธิภาพการผลิต

ยังไม่มีจุดจบ

เทรนด์ไมโครชี้ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นพิสูจน์ให้เห็นว่าโรงงานอัจฉริยะต่างๆ อาจมองข้ามความสำคัญด้านการรักษาความปลอดภัยให้กับอุปกรณ์ที่มีการเชื่อมต่อระหว่างกัน นอกจากนั้นยังมีการใช้สื่อสังคมออนไลน์ในทางที่ไม่ถูกต้องลักษณะของการโฆษณาชวนเชื่อทางไซเบอร์เพิ่มมากขึ้น เรื่องดังกล่าวส่งผลกระทบทั้งทางการเงิน ชื่อเสียง และความน่าเชื่อถือของแบรนด์

"ภัยคุกคามที่เกิดขึ้นตลอดช่วงต้นปี 2560 เป็นเพียงเศษเสี้ยวของสิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นตามมาอีกนวนมาก เนื่องจากอาชญากรไซเบอร์มีขีดความสามารถที่เพิ่มขึ้นตลอดเวลา บริษัทต่างๆ ควรเตรียมพร้อมรับมือด้วยการจัดหางบประมาณและแนวทางแก้ไขปัญหาให้เหมาะสม"